“จิรัฏฐ์” ถาม “สุทิน” กลางสภา กรณีน้ำมันหาย-เรือดำน้ำ-กู้รล.สุโขทัย
ติงชมกองทัพทั้งที่เรื่องฉาวไม่คืบ
วันที่
28 กันยายน 2566 ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จิรัฏฐ์
ทองสุวรรณ์ สส. ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้สดด้วยวาจา
ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สุทิน คลังแสง
ในสามประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ
ในประเด็นแรก
จิรัฏฐ์ได้ถามถึงกรณีน้ำมันและกระสุน หายไปจาก มทบ.18 จ.สระบุรี
โดยระบุว่าปัญหาของหายจากกองทัพไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อข้อมูลหลุดออกมาครั้งหนึ่งก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบ
แต่ที่ทำให้ตนกังวล
คือที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนออกมาหลังจากนั้นเลย
เป็นที่ทราบอยู่แล้ว
ว่าการที่น้ำมันหายไปกว่า 2
แสนลิตร ไม่ใช่การหายไปเฉยๆ แน่นอนอยู่แล้ว ต้องมีผู้ที่รับผิดชอบ
ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้นที่สามารถทำให้หายได้จำนวนมากขนาดนี้
แต่ตนก็ต้องผิดหวังกับคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ออกมาเมื่อวานนี้
ที่ระบุว่าต้องชื่นชมที่กองทัพกำลังดำเนินการสอบสวนอยู่
จิรัฏฐ์กล่าวต่อไป
ว่าที่ตนไม่สบายใจเพราะไม่มีการปราม น้ำมันหายไปตั้งแต่ ก.ย. 2565 เพิ่งจะตั้งกรรมการเมื่อ
มิ.ย. 2566 เท่ากับว่า 8 เดือนเพิ่งจะรู้ว่าน้ำมันหายไป
2 แสนลิตร เอกสารบอกจะส่งผลการตรวจสอบให้ ผบ.ทบ. ในเดือน
พ.ค. 2566 ผ่านไปอีก 4 เดือนมาจนถึงวันนี้
รัฐมนตรียังบอกว่าสอบสวนไม่ทราบความคืบหน้าอีกอย่างนั้นหรือ
และยังบอกว่าเขาทำดีอยู่แล้ว
รัฐมนตรีต้องทำได้มากกว่าแค่การออกมาปกป้องกองทัพ
สามารถกำหนดมาตรการได้ว่าต้องเสร็จภายในกี่วัน
จึงขอถามว่าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ท่านคิดจะทำอะไรนอกจากการชื่นชมบ้าง
และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกอย่างไร
ด้าน
สุทิน ได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ โดยระบุว่าในคำให้สัมภาษณ์ของตน
ที่ว่าเป็นการตรวจสอบภายในที่กองทัพทำดีอยู่แล้วก็จริง
แต่ตนก็ย้ำว่าสุดท้ายก็ต้องดูต่อไป ถ้าไม่ลงโทษกันหรือจบแค่นี้ก็มาว่ากัน
ซึ่งหมายความว่าเราก็ต้องลงโทษเอง ไม่ได้ปล่อยปละละเลย
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการตรวจสอบของกองทัพที่ทำเป็นปกติ
เป็นขั้นตอนจากการตรวจสอบภายใน ตรวจแล้วใช้ชุดจเรทหารลงไปตรวจอีก
เมื่อตรวจแล้วก็ได้ผลอย่างที่ทราบว่ามีความสูญหายไป 2 แสนกว่าลิตร
สุทินยังกล่าวต่อไป
ว่าการตรวจสอบนี้ถือว่าไม่ล่าช้าแล้วเมื่อเทียบกับการตรวจสอบที่หลายหน่วยงานรัฐเคยดำเนินการมา
และจะเห็นการลงโทษภายในไม่นานนี้แน่นอน ขอให้ติดตามต่อไปว่าเมื่อตรวจสอบถึงขั้นนั้นแล้ว
ตนจะปกป้องหรือลงโทษผู้กระทำผิดหรือไม่
คำถามต่อมา
จิรัฏฐ์ได้ถามถึงความคืบหน้าในการเจรจาจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน
ซึ่งเกิดปัญหาเครื่องยนต์จีนไม่เป็นไปตามสัญญา
โดยระบุว่าเรื่องนี้ตนเฝ้ารอคำตอบมาตั้งแต่ที่รัฐมนตรีได้ดำรงตำแหน่งแล้ว
ท่านยืนยันว่ามีคำตอบในใจแล้วว่าจะเอาอย่างไร เมื่อไม่นานนี้นายกรัฐมนตรีก็พูดในสภาอีกว่าจะไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี
แต่ก็ไม่ทราบว่าได้รับคำตอบมาอย่างไรบ้าง
นี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ
ผบ.ทร. ก็เพิ่งลงนามอนุมัติเครื่องยนต์จีนก่อนเกษียณแค่ไม่กี่สัปดาห์
ประชาชนอยากได้คำตอบเพราะประเทศไทยกำลังจะได้เรือดำน้ำที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นนี้เป็นลำแรกของโลก
และที่นายกรัฐมนตรีจะไปเจรจากับจีน จะไปเจรจาว่าอย่างไร จะยกเลิกสัญญาขอค่าชดเชย
หรือไปเจรจาแล้วยังได้เครื่องยนต์จีนอยู่เหมือนเดิม
เรื่องของเครื่องยนต์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผิดพลาดอาจมีคนตายได้
จิรัฏฐ์อภิปรายต่อไปว่านอกจากนี้
ข้อตกลงนี้ไม่ใช่ข้อตลงที่ดีที่สุด เพราะไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอะไรเลย
ระบบสื่อสารก็เป็นคนละระบบกับระบบนาโต้ที่ประเทศไทยใช้อยู่ ความลึกอ่าวไทย เฉลี่ย 45 เมตร
เรือของจีนมีระดับความลึกที่ปลอดภัยถึง 60 เมตร ยังมีข้อเสนอที่ดีกว่านี้มาก
เช่นเรือดำน้ำที่อินโดนีเซียซื้อจากเกาหลีใต้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกิดขึ้น
ย้อนไปเมื่อเกาหลีใต้ซื้อเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส
ก็ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส
ในอนาคตอินโดนีเซียก็อาจจะผลิตเรือดำน้ำของตัวเองได้จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ควรจะทำคือการทวงเงินคืน ในเมื่อเป็นการผิดสัญญาก็ยกเลิกได้
นำเงินที่จ่ายไปแล้วกลับมาซื้ออย่างอื่นหรือทำอย่างอื่น กรณีนี้จีนผิดสัญญาเต็มๆ
คำถามคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีแนวทางอย่างไรกันแน่
และผลของการเจรจากับเยอรมนีของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไร
ในส่วนของสุทิน
ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุว่ากรณีนี้ต้องเป็นไปตามขั้นตอน
เริ่มต้นจากคนที่อยากใช้และคนจัดซื้อจัดจ้าง เบื้องต้นเรื่องอยู่ที่กองทัพเรือ
เมื่อได้ข้อสรุปอย่างไรก็จะเสนอมาที่กระทรวงกลาโหม
ถ้าเห็นชอบหรือไม่อย่างไรก็จะไปจบที่คณะรัฐมนตรี แต่จากข่าวคราวทั้งหมด
ทุกอย่างยังคงเป็นขั้นตอนแรกที่กองทัพเรือเท่านั้น
ยังมาไม่ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เมื่อเรื่องนี้มาถึงตนก็จะตัดสินใจอีกครั้งแน่นอน
ทั้งนี้
ตนได้ทราบล่าสุดว่าทางกองทัพเรือมีข้อสรุปแล้วว่าจะเดินหน้าต่อ จะรายงานมาที่ตนอีกครั้ง
ซึ่งตนก็รออยู่ยังมาไม่ถึง จะไปด่วนสรุปว่าจะยกเลิกหรือเดินหน้าต่อก็คงไม่ได้
แต่ถ้าเรื่องมาถึงเมื่อไหร่จะรีบศึกษาและตัดสินใจอีกครั้ง
ส่วนการเจรจาของนายกรัฐมนตรีกับนายกเยอรมนี
เป็นเพียงมาตรการเสริม หากเป็นภาวะปกติการจะไปคุยแทนผู้ขายก็คงจะทำไม่ได้ แต่นี่คือภาวะที่ไม่ปกติ
เรากำลังจะเสียประโยชน์ ดังนั้น เพื่อการปกป้องประโยชน์ของประเทศ
ทางใดที่ทำได้ก็อยากจะทำ แต่ผลของการเจรจาเป็นอย่างไรนั้น ตนยังไม่ได้รับทราบ
จิรัฏฐ์
ยังได้ถามต่อไปในคำถามที่สาม ถึงกรณีการกู้เรือหลวงสุโขทัย
โดยระบุว่าจากข้อมูลที่ออกมาในขณะนี้ เชื่อได้ว่ากองทัพเรือไม่ได้อยากกู้จริงๆ
เพราะตั้งเงื่อนไข TOR
ที่เกินความเหมาะสมไปมาก เช่น ต้องมีประสบการณ์ 10 ปี ในการทำงานที่ความลึก 50 เมตร ทั้งโลกมีเพียง 2
บริษัทเท่านั้นที่ทำได้
บริษัทที่เสนอราคาเข้ามามีบริษัทหนึ่งที่เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว
แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดการล้มการประมูลและยังไม่เปิดใหม่มาจนถึงวันนี้
โดยอ้างว่าเอกสารไม่ครบ ทั้งที่ความสำคัญคือเทคนิคกับราคา
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะไม่อยากให้มีการกู้เรือเกิดขึ้นจริง
และเป็นการดึงเรื่องให้เข้าหน้ามรสุมหรือไม่ จึงอยากถามว่าเรื่องนี้ทางรัฐมนตรีได้เข้าไปติดตามอย่างไรหรือไม่
ในส่วนของสุทิน
ระบุว่าทั้งเรื่องของเรือดำน้ำและเรือหลวงสุโขทัยเกิดขึ้นในรัฐบาลก่อน
ตนที่เพิ่งรับตำแหน่งได้สองสัปดาห์ก็ได้พยายามที่จะสืบสาวราวเรื่องราวเพื่อแก้ปัญหาให้ดีที่สุด
เรื่องของการหาผู้กู้เป็นขั้นตอนของกองทัพเรือที่กำลังดำเนินการอยู่
แต่วันนี้ตนก็ได้ให้ฝ่ายเจรลงไปสอดส่องดูแลแล้ว ว่าถ้าเกิดความไม่ชอบมาพากล
เดี๋ยวทางกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการเอง อยากให้ทั้งสภาและตนได้ช่วยตรวจสอบกันต่อไป