วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

“ศิธา” รับหนังสือร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัย กรณีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ค้างจ่ายเงินสนับสนุนมากว่า 8 เดือน

 


“ศิธา” รับหนังสือร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัย กรณีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ค้างจ่ายเงินสนับสนุนมากว่า 8 เดือน


วันนี้ (28 กันยายน 2566) ที่อาคารรัฐสภา กลุ่มเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยได้ยื่นหนังสือ กรณีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ค้างจ่ายเงินสนับสนุนทมากว่า 8 เดือน โดยตัวแทนเครือข่ายผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยเรียกร้องเงินตอบแทน แต่เงินนี้เป็นค่าสนับสนุนตามกฎหมายที่ให้ สพฉ. จ่ายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศด้วย พวกเราจึงมาเป็นตัวแทนติดตามค่าชดเชยให้ทีมอาสาสมัครเพื่อให้มีกำลังใจในการทำงาน ก่อนหน้านี้ได้มีการทวงถามไปที่ สพฉ. แล้วก็ได้คำตอบกลับมาว่าตอนนี้ยังมีงบประมาณอยู่ 1,050 ล้านบาท แต่มีปัญหาเรื่องระบบการตรวจสอบซึ่งจะมีการทยอยจ่ายเงินที่ค้างจ่าย แต่ทุกวันนี้มีเพียงแค่การจ่ายเงินรอบปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้จ่ายที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมที่รวมแล้วกว่า 800 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะไม่หยุดวิ่งรถกู้ภัยและจะไม่เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน แต่จะเรียกร้องภาครัฐให้จัดการเรื่องอย่างเร่งด่วน


น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเมือง กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสวัสดิการต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการสนับสนุนจากภาครัฐไม่เข้มแข็งพอ ก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่เข้ามาทำในกรณีฉุกเฉินต่างๆ และภาครัฐที่ไม่สามารถทำได้เองอย่างทั่วถึงก็ต้องมีเงินสนับสนุนเป็นกลไกอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาสาสมัครจะได้รับเงินสนับสนุน 350 บาท/เคส แต่ก็ต้องใช้อุปกรณ์ รถ ค่าน้ำมัน และค่าอบรมเอง พอหยุดเงินสนับสนุนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ทำให้หลายหน่วยงานวิ่งต่อไปไม่ได้ อยากฝากไปถึงรัฐบาลให้ช่วยดูแลตรงนี้ เพื่อให้ทุกคนที่มาทำงานอาสาเพื่อประชาชนมีลมหายใจต่อไปได้ เช่นเดียวกับกรณีช่วงกาาระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ก็มีเงินงบประมาณสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์กว่า 2 แสนล้านบาท บางคนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ พอไปทวงถามก็บอกว่าเงินหมดแล้ว


ทั้งนี้ตนขอฝากไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า นโยบายการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาคพื้นและทางอากาศ ตนเห็นด้วย แต่เรื่องที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนคือการใช้งบ ไม่ว่าจะเป็นงบลับ งบฉุกเฉิน และที่สำคัญกว่านั้นคืองบประมาณที่ให้กับประชาชนที่อาสาเสียสละมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในวันที่กลไกของภาครัฐไม่ครอบคลุม แต่ถ้าเราไม่จ่ายเงินสนับสนุนเขาก็อยู่ไม่ได้ และอีกหน่อยอาสาสมัครก็จะน้อยลง แต่การจัดสรรแบ่งงบประมาณตั้งหลายล้านล้าน ออกมาดูแลคนที่เขามีจิตอาสาช่วยเหลือรัฐบาล ช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลจะเบาแรงและใช้งบประมาณแผ่นดินคุ้มค่า น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอีกมาก


ถ้าท่านดูแลประชาชนได้ตามรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิที่เขาควรได้รับ ประชาชนไม่ต้องมาเหนื่อยยากขนาดนี้ นี่เขามีควาสมัครใจมาดูแลให้แล้ว ถ้าท่านดูแลเขาได้ดี คนเหล่านี้จะเป็นกระบอกเสียงให้ท่านด้วยซ้ำ เราไม่ได้เสียดายคะแนนเสียง ถ้ารัฐบาลทำได้ดี เขาจะสนับสนุนท่านเพราะประชาชนอยู่ดีกินดี เราก็เห็นดีด้วย“ น.ต.ศิธา กล่าว


จากนั้นนายชัชวาล แพทยาไทย สส.ร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ได้ตั้งกระทู้ถามแยกเฉพาะถึง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาชี้แจง ซึ่งนายชัชวาล ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบาก โดยเฉพาะการจัดการเงินกองทุน ที่ถูกค้างจ่าย ให้กับอาสาผู้ปฏิบัติงาน นานกว่า 7 เดือน รวมทั่วประเทศกว่า 800 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จึงขอทวงถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า ทราบหรือไม่ว่า สพฉ. ค้างจ่ายเงิน ให้กับอาสาสมัครกู้ภัยนานกว่า 7 เดือน


ซึ่งนายสันติ ยืนยันว่า สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียก สพฉ.มาสอบ ซึ่งพบว่า มีการใช้บริการหน่วยแพทย์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับระบบบริหารจัดการที่ไม่ทันสมัย เนื่องจากใช้มาเป็นเวลานาน จึงเกิดความล่าช้าและล่ม  ซึ่งพยายามแก้ไข และหลายส่วนสามารถกลับมาดำเนินการได้แล้ว โดยเฉพาะการกู้ข้อมูลกลับคืนมา ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และตัวระบบ จะแล้วเสร็จช่วงต้นเดือนตุลาคม จากนั้นจะผ่านกระบวนการรับรองในระดับจังหวัด ซึ่งว่าไม่เกินเดือนตุลาคม จะจ่ายได้ครบถ้วน พร้อมย้ำว่าเมื่อระบบกลับมาสมบูรณ์ การดำเนินการเบิกจ่ายจะสามารถทำได้ใน 30 วันเช่นเดิม


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ไทยสร้างไทย #กระทรวงสาธารณสุข #สพฉ