‘ชัยวัฒน์’ ฝากโจทย์ถึงคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ขอที่มางบประมาณให้ชัด
ชี้เรื่องที่ยังไม่เคยพูด ข้อมูลจากการใช้จ่าย ใครใช้ประโยชน์ได้บ้าง
แนะเปิดเผยสถิติ ทำให้โปร่งใส ชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชน
วันที่
22 กันยายน 2566 ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
หลังมีข่าวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าจะมีการเสนอที่ประชุม ครม.
ให้มีการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ในวันที่ 26 กันยายนนี้
ชัยวัฒน์ระบุว่า
รู้สึกสบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง
เพราะหลังจากนี้คาดว่าประชาชนจะได้เห็นความชัดเจนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมากขึ้น
เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวจะมีการพิจารณาว่าจะดำเนินนโยบายนี้ไปในทิศทางใด
รวมถึงทบทวนมาตรการหลายข้อของนโยบายนี้
ทั้งนี้
ตนมีโจทย์และความคิดเห็น
ที่ต้องฝากให้รัฐบาลนำไปทบทวนการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตหลายประการ ได้แก่
ประการแรก
ที่มาของงบประมาณที่นำมาใช้ จะมาจากไหน
นี่เป็นหนึ่งในข้อกังวลหลักที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างการหาเสียงและการแถลงนโยบาย
แม้มีการยืนยันว่าจะไม่มีการขายทรัพย์สิน
ไม่มีการดึงเงินจากกองทุนที่ไม่ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์มา
แต่ความเป็นไปได้ในทางการคลังก็มีอยู่ไม่กี่วิธี
ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องชี้แจงให้ละเอียด
ประการที่สอง
รูปแบบของเงิน มีโจทย์ที่รัฐบาลต้องตอบ
ตั้งแต่รูปแบบของเงินจะมีความเป็นเงินดิจิทัลขนาดไหน หรือ เป็น e-money ที่หนุนหลังด้วยเงินฝากเหมือนการแจกเงินที่ผ่านมา
และการใช้บล็อกเชน ( Blockchain) เพื่อสร้างระบบการเงินใหม่
จะเป็นการกระจายศูนย์ (Decentralization) จริงแค่ไหน
หรือแค่เอามาตั้งไว้ข้างระบบการเงิน centralized รวมศูนย์แบบเดิมเฉยๆ
เหมือนเป็นกิมมิค
ประการที่สาม
วิธีการใช้เงิน จะยังคงใช้เกณฑ์ 4 กิโลเมตรอยู่หรือไม่
และเงื่อนไขการขึ้นเงินจะเปลี่ยนไปอย่างไร
จะมีการสร้างแอปพลิเคชันใหม่หรือจะเป็นส่วนต่อขยายของแอป ‘เป๋าตัง’ ที่ใช้อยู่เดิม
ประการที่สี่
ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการเปิดเผยเลย
คือเรื่องของข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่าย จะเป็นของใคร
จะยอมให้ใครเอาไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง
และนี่คือประเด็นหลักของการนำระบบบล็อกเชนมาใช้
ซึ่งจะนำไปสู่ความโปร่งใสของการดำเนินโครงการด้วย ทั้งนี้ ตนเสนอว่าเมื่อมีการดำเนินการไปแล้ว
ควรมีการเปิดเผยให้เห็นสถิติการใช้เงินดิจิทัลต่อประชาชน
ว่าใช้ไปกับหมวดหมู่ใดเท่าไรบ้าง เก็บภาษีได้เท่าไร
มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจเป็นตัวคูณการคลัง (fiscal multiplier) เท่าไร
ประการสุดท้าย
แผนการปฏิบัติจะเป็นอย่างไร องค์ประกอบในคณะกรรมการดังกล่าวเป็นใครบ้าง
มีอำนาจหน้าที่อย่างไร
“แม้ที่ผ่านมาจะมีความไม่ชัดเจนในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตอยู่
แต่เมื่อจะมีการตั้งคณะกรรมการมาเพื่อดำเนินการแล้ว
ผมจึงขอฝากโจทย์เหล่านี้ให้ทางรัฐบาล
ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ต่อไปได้อย่างรอบคอบ
ระมัดระวัง ประชาชนจะได้สบายใจว่าโครงการนี้มาถูกทิศทางหรือไม่
และผลสัมฤทธิ์ของนโยบายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่สุด” ชัยวัฒน์กล่าว