‘ชัยธวัช’ นิยามรัฐบาลเศรษฐา ไม่ต่างจาก ‘ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์’
หยุดยั้งการเปลี่ยนผ่าน เหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิม
ที่อำนาจสูงสุดไม่เป็นของประชาชน แปะป้าย ‘เขตทหารห้ามเข้า’ ไม่แตะไม่ปฏิรูป
ยกเว้นเรื่องที่กองทัพอนุญาต
วันที่
12 กันยายน 2566 ในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายนโยบายด้านการเมือง
โดยสรุปรัฐบาลเศรษฐา 1 ว่าเป็น
‘ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์’
ชัยธวัช
กล่าวว่า ทำไมนโยบายการเมืองถึงสำคัญ เพราะสภาพการณ์บ้านเมืองเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าดีขึ้น หลายคนอาจหวังว่ามีรัฐบาลใหม่
อะไรๆ จะดีขึ้น แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง
คือผลพวงของปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ
ความเห็นของตนต่อคำแถลงนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาลเศรษฐา
มองว่ามีปัญหาทั่วไปเหมือนนโยบายด้านอื่น คือกว้าง ไม่ชัดเจน
ไม่มีรูปธรรมหรือตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่มีแง่มุมที่น่าสนใจ
คือเมื่อประกอบกับนโยบายด้านอื่นๆ
ได้สะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจของรัฐบาลชุดนี้
ในคำแถลงนโยบาย
นายกฯ บอกว่าด้านการเมือง ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย
การเมืองและการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด
การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล
อย่างแรก
นายกฯ วางเป้าหมายมุ่งมั่นสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
จะทำอะไรบ้าง พบว่ามี 7
หัวข้อ ประกอบด้วย (1) พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
แน่นอนทุกรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ในฐานะที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศ
แต่ตนกำลังสงสัยว่า การที่นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้เป็นประเด็นแรก
รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไร กำลังบอกว่าปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากขณะนี้ คือสถาบันฯ
กำลังถูกคุกคามจนกลายเป็นประเด็นสำคัญและเป็นภารกิจแรกที่นายกฯ
กล่าวถึงในนโยบายใช่หรือไม่
ขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านที่ไม่ถูกกล่าวถึงเลย
สส. จากหลายพรรคที่ผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้งทราบดีว่า ที่ผ่านมากว่า 10
ปีเราเผชิญปัญหาใหญ่ในทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ
คือปัญหาการนำสถาบันฯ มาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
เรื่องนี้ไม่มีการพูดถึงเลย
ไม่ต้องพูดถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา
112 ที่กำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันฯ กับประชาชนย่ำแย่ลง
ไม่ต้องพูดถึงมรดกของ คสช.
ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหลายฉบับที่หมิ่นเหม่จะกระทบหลักการ ‘ปกเกล้าไม่ปกครอง’
ของสถาบันฯ ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้สถาบันฯ
ไม่อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ
“นี่ถ้าผมปิดตาฟังว่าย่อหน้าแรกรัฐบาลจะทำอะไร
ผมนึกว่าเป็นคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3” ชัยธวัชกล่าว
ต่อมา
(2) เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย
คือการแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตย
ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”
ตนสงสัยว่า
สุดท้ายที่เคยบอกว่าในการประชุม ครม. นัดแรก
จะมีการพิจารณาให้มีการจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.
จากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีแล้วใช่หรือไม่
(3)
ฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) รัฐบาลบอกว่าจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง
มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ
เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ
เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด
แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ
ตนอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะทำอะไร
แต่คำถามโตๆ ที่เกิดขึ้น คือตกลงหลักนิติธรรมที่รัฐบาลกำลังจะฟื้นฟูนั้น
คืออะไรแน่ ไม่มีการพูดถึงประชาชนเป็นเป้าหมายในการฟื้นฟูหลักนิติธรรมสักคำเดียว
ตกลงหลักนิติธรรมเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้การปกครองอย่างนั้นหรือ
ไม่มีการพูดเรื่องความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย
(4)
กระจายอำนาจ ยิ่งแล้วใหญ่ นายกฯ
บอกว่ารัฐบาลจะใช้การบริหารในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่า CEO) เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
ตนไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีมาตรการในการเพิ่มอำนาจ เพิ่มงบประมาณ
เพิ่มบุคลากรและทรัพยากรต่างๆ ให้ อปท. เลย ทั้งๆ ที่นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2
ครั้ง สถานการณ์กระจายอำนาจถอยหลังลงคลองไปเรื่อยๆ
เกิดการดึงอำนาจจากท้องถิ่นเข้าสู่ส่วนกลางขนานใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่
แต่ตนประหลาดใจกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาลอย่างมาก
ไม่แน่ใจว่าเราเข้าใจคำว่ากระจายอำนาจตรงกันหรือไม่
(5)
ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติด
ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างยิ่ง
(6)
ผลักดันกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
สนับสนุนความร่วมมือกันระหว่างรัฐกับประชาชน
ประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์
เรื่องนี้ดูสับสนมาก เหมือนเอาหลายเรื่องมายำกัน โดยไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอะไรกันแน่
เป้าหมายคืออะไร
สุดท้าย
(7) พัฒนากองทัพ นายกฯ แถลงว่าเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
คือการมีความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก รัฐบาลจะสนับสนุน
ให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง
ให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่
21 และเป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์เอกราช สร้างความมั่นคง
และความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของประเทศ
รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและภัยพิบัติ
เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้
รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน
โดย 1.จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ 2.ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์
3.ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูงและกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษา
ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศ 4.ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม
และ 5.นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
นโยบายเกี่ยวกับกองทัพสำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องรัฐประหารยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย กองทัพกลายเป็น ‘กระดูกสันหลัง’ ของระบอบอำนาจนิยมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่แก้ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร การปฏิรูปการเมืองที่ปราศจากการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ไม่มีหลักประกันในการสร้างความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย
สังคมไทยเคยพลาดโอกาสสำคัญในการปฏิรูปกองทัพมาแล้ว
หลังเหตุการณ์พฤษภา 35
เพราะตอนนั้นเราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ทำรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากรมกองแล้ว
กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรม
แต่มาถึงวันนี้ เราทราบกันดีว่าความคิดนั้นผิด
อย่างไรก็ตาม
ในรัฐบาลใหม่ชุดนี้
การมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกฯ
เป็นเรื่องน่าสนใจ นี่หมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่
‘พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ’ ใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริง การส่งพลเรือนมานั่งเป็น
รมว.กลาโหมครั้งนี้ กลับกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่ง
ไม่แตะกองทัพ นโยบายการทหาร นโยบายความมั่นคง จะคงอยู่ในมือของกองทัพ
รวมถึงเครือข่ายของคณะรัฐประหารต่อไป
ทำไมตนจึงเกิดคำถามแบบนี้
ลองมาดูตอนแกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาลหาเสียง ตอนนั้นพรรคแกนนำรัฐบาลมีนโยบาย
‘ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ’ ตามไปดูเอกสารที่ส่ง กกต. เขียนว่า
‘ปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน
ให้มีความเป็นทหารอาชีพ
เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารและแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ’
แต่ปรากฏว่า
ตอนแถลงนโยบายของรัฐบาล ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลกลับหายไป จาก
‘ปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงฯ’ เปลี่ยนเป็น
‘ร่วมกันพัฒนากองทัพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน’ จากบอกว่า
‘เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร’ หายไปเลย ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่า
‘รัฐประหาร’ สักคำ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557
ทั้ง ๆ
ที่การรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญมากของการเมืองไทย
และพี่น้องประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเลือกตั้ง
ก็คาดหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่
รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก หรือคำว่า
‘รัฐประหาร’ มันแสลงใจมากจนพูดถึงไม่ได้ หรือนายกฯ เศรษฐา และรัฐบาลชุดนี้
เกรงใจพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยหรือ
แล้วที่เคยบอกว่าจะ
‘แก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ’
ดูแล้วช่างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ก่อนหน้านี้ รมว.กลาโหมคนใหม่ บอกว่าจะค่อย ๆ
ลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหาร แล้วเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์
แต่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลบอกว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
และปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารฯ
“ตกลงท่านนายกฯ รัฐบาล และ รมว.กลาโหม จะเอายังไง
จะไม่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วใช่หรือไม่
ที่รัฐบาลแถลงนโยบายว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ
หมายความว่ายังไงกันแน่
ตกลงจะเปลี่ยนรูปแบบการบรรจุกำลังพลทหารเป็นแบบสมัครใจไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารอีกต่อไปแล้ว
หรือยังคงมีการบังคับเกณฑ์ทหารอยู่ เพียงแค่จะค่อยๆ
เพิ่มจำนวนผู้สมัครใจเป็นทหารเกณฑ์เท่านั้น” ชัยธวัชย้ำคำถาม
ชัยธวัชกล่าวต่อว่า
ที่ต้องถามรัฐบาลให้ชัดๆ เพราะ เลิก กับ ลด การเกณฑ์ทหาร ต่างกันมาก
ถ้านโยบายรัฐบาลคือ ลด การเกณฑ์ทหารเท่านั้น ตนก็สงสัยว่านโยบายนี้จะมีอะไรใหม่
เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลใหม่ ทุกวันนี้กองทัพก็ดำเนินการอยู่แล้ว
เปลี่ยนรัฐมนตรีจากคุณสุทินเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้มีอะไรต่างออกไป
สภากลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นหัวโต๊ะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
2566 ก็ได้ประกาศแผนปฏิรูปกองทัพ ซึ่งมีเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย
โดย พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งนั้นว่า
“นี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไป”
“นายกฯ เศรษฐา กับ รมว.สุทิน
ได้ยินไหมว่ากองทัพมีแผนปฏิรูปของตัวเองอยู่แล้ว
คนอื่นไม่เกี่ยวแบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้ รมว.สุทิน
ไปนั่งทำหน้าที่เป็นแค่โฆษกกองทัพอย่างนั้นหรือ”
รมว.สุทิน
อาจบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในที่สุด
แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันทีเพราะกลัวจะไม่มีคนมาสมัครเป็นพลทหารพอกับจำนวนกำลังพลที่ต้องการ
คำถามคือ รมว.สุทิน บอกได้หรือไม่ว่า ถ้าเป็นเช่านั้น
มีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดภายในกี่ปี
คนรุ่นใหม่ของประเทศ
ยังต้องสูญเสียช่วงวัยที่ควรเป็นจุดเริ่มต้นการทำงาน หรือช่วงเริ่มต้นดูแลครอบครัว
จะถูกบังคับเกณฑ์ไปเหมือนไพร่ในยุคสมัยใหม่อีกนานเท่าไร
เยาวชนที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารแต่ไม่มีโอกาสจะเรียน รด. จะมีทางออกอย่างไร
รมว.กลาโหมจะสั่งห้ามไม่ให้ใช้ทหารเกณฑ์ในภารกิจที่ไม่เกี่ยวกับการทหารหรือของกองทัพอีกหรือไม่
ยังจะมีพลทหารถูกใช้ไปซักผ้า ถูบ้าน ขับรถ
หรือเป็นทหารรับใช้ส่วนตัวของใครอีกหรือไม่ ท่าน
รมว.กลาโหมจะจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทหารเกณฑ์เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาอีก
ปัญหาทหารผีจะมีอีกไหม และจะยุติการเรียกรับส่วยในการจับใบดำใบแดงของกองทัพอย่างไร
จริง ๆ
แล้วการกำหนดนโยบายนี้ ควรเริ่มด้วยคำถามว่า
จำนวนกำลังพลทหารที่ประเทศเราต้องการจริงๆ คือเท่าไรกันแน่
ปัจจุบันกองทัพเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 90,000 นาย รุ่นหนึ่งฝึก 2
ปี เท่ากับว่ากองทัพมีพลทหารประจำการในแต่ละปีรวมทั้งสิ้นประมาณ 180,000-200,000
นาย ในจำนวนนี้มีผู้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ปีละประมาณ 35,000 นาย รวมแล้วเรามีพลทหารประจำการที่สมัครใจในแต่ละปีประมาณ 70,000 นาย
“รมว.กลาโหมตอบได้หรือไม่ว่า ทำไมเราถึงต้องการกำลังพลทหารประจำการถึงปีละ 180,000-200,000
นาย ไปเตรียมกำลังรบภาคพื้นดินขนานใหญ่กับใคร”
ปัจจุบันโจทย์ทางการทหารเปลี่ยนไปแล้ว
กองทัพขนาดใหญ่ มีกำลังพลเยอะ ๆ ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับภัยคุกคามและสงครามแบบเดิม
ไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่แล้ว หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา
กองทัพของหลายประเทศทั่วโลกต่างก็ปฏิรูปลดขนาดกองทัพให้เล็กลงหลายเท่า แต่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้นหลายเท่า
แนวโน้มหลักของกองทัพในศตวรรษที่
21 จึงเปลี่ยนจากกองทัพทหารเกณฑ์แบบเก่าที่มีขนาดใหญ่
ไปเป็นกองทัพแบบทหารมืออาชีพที่สมัครเข้ามาและมีขนาดเล็กลงหลายเท่า
แต่กองทัพไทยหลังยุคสงครามเย็น แทบไม่ได้แตกต่างจากกองทัพไทยยุคสงครามเย็นเลย
“ฝากไปยังท่านนายกฯ และ รมว. กลาโหม ว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร
เน้นว่ายกเลิก ไม่ใช่ลด จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก ๆ
ประการหนึ่งในการปฏิรูปกองทัพ เพราะเมื่อกำลังพลทหารลดลง จำนวนผู้หมวด ผู้การ
ไปจนถึงนายพล ก็จะถูกบีบให้ลดลงไปด้วย การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารจึงนำไปสู่การปฏิรูปกำลังพลทั้งระบบ
ทั้งในแง่ลดขนาด การสร้างทหารอาชีพ
และยกเครื่องให้กองทัพทันสมัยสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21”
ส่วนเรื่องการลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง
จะปรับลดอย่างไร และจะมีอะไรต่างไปจากแผนการปฏิรูปของสภากลาโหมที่มีอยู่แล้ว
และที่สำคัญ จากนโยบายข้อนี้ หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ทบทวนการมีอยู่ของ กอ.รมน.
ใช่หรือไม่
“ผมอยากบอกรัฐบาลว่าปัญหาของ กอ.รมน. ไม่ใช่เรื่องกำลังพล
แต่หน่วยงานนี้ถูกฟื้นคืนชีพหลังการรัฐประหารปี 49 กลายเป็นองค์กรรัฐซ้อนรัฐ
ทำให้เรามีรัฐทหารมาควบคุมซ้อนทับอยู่เหนือรัฐราชการของพลเรือนอีกชั้นหนึ่ง
ยังไม่นับงบลับมหาศาลที่ตรวจสอบไม่ได้”
นโยบายพัฒนากองทัพอีกข้อ
คือการนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อประชาชน
ตนอ่านแล้วไม่แน่ใจว่าตกลงรัฐบาลจะยังมีนโยบายเอาที่ดินราชพัสดุคืนจากกองทัพ
ในกรณีที่ไม่ได้นำไปใช้ในกิจการทางการทหารใช่หรือไม่ เพราะถ้าไม่มี
หมายความว่ารัฐบาลจะสนับสนุนธุรกิจของกองทัพที่ไม่ควรเป็นภารกิจของทหารต่อไปใช่หรือไม่
นี่ยังไม่นับเรื่องเงินนอกนอกงบประมาณ ที่กองทัพแทบไม่เปิดเผย ตรวจสอบไม่ได้
ไม่มีรายงานว่ามีเท่าไร เอาไปทำอะไร นายกฯ ในฐานะควบ รมว.คลัง
ควรต้องตอบว่าจะเอาอย่างไรกับที่ดินราชพัสดุของกองทัพที่ผิดระเบียบ
และเอาอย่างไรกับเงินนอกนอกงบประมาณของกองทัพ
นโยบายกองทัพของรัฐบาลมีแค่นี้
แล้วไหนที่บอกว่ารัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้าง
การปรับโครงสร้างและอำนาจของสภากลาโหม
ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้กองทัพถูกควบคุมโดยพลเรือนได้อย่างแท้จริง
จะทำหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในคำแถลงของรัฐบาล เช่น
ไอโอของกองทัพ ซึ่งทำให้กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับพลเรือนนั้น
จะยกเลิกหรือไม่
“เมื่อฟังการแถลงนโยบายกองทัพของรัฐบาลแล้ว ผมอยากจะสรุปสั้นๆ
ว่านี่ไม่ใช่นโยบายการพัฒนากองทัพร่วมกัน ไม่แม้แต่การปฏิรูปกองทัพ
แต่นี่คือนโยบายเขตทหารห้ามเข้า
หมายความว่าการปฏิรูปกองทัพโดยรัฐบาลพลเรือนจะไม่เกิดขึ้น
นอกจากสิ่งที่กองทัพออกแบบเองและอนุญาตให้ทำ”
ชัยธวัชกล่าวว่า
ที่คำแถลงนโยบายด้านการเมือง ประกอบกับด้านอื่นๆ ของรัฐบาลเป็นแบบนี้
ไม่ใช่เป็นเพราะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตระบัดสัตย์
ไม่ใช่เพราะนโยบายที่พูดตอนหาเสียงเป็นแค่คำโฆษณาหรือเทคนิคการหาเสียง
และไม่ใช่เพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่มันสะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริง
ของรัฐบาลเศรษฐาฯ 1
“ผมเห็นว่า เราไม่ได้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างที่ท่านนายกฯ แถลงไว้
แต่เรากำลังเข้าสู่รัฐบาลที่ไม่มีเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็แย่กว่านั้น
คือการแถลงนโยบายในครั้งนี้ มันชวนให้คิดได้ว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว รัฐบาลเศรษฐา 1
ได้กลายเป็น ส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์
เพื่อพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่าน
เหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิม
โครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่า และวัฒนธรรมแบบจารีตต่อไป”
“นี่คือนโยบายของรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความสยบยอม หรือไม่ก็สมยอมกัน
เป็นการสามัคคีปรองดองระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง ชั้นนำทางเศรษฐกิจ
และชนชั้นนำจารีต เพื่อรักษาระบบเดิมเอาไว้ นั่นคือ
ระบบที่อำนาจสูงสุดไม่ใช่ของประชาชน ทหารมีอำนาจเหนือสังคม รัฐราชการรวมศูนย์ กฎหมายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ
ความมั่นคงอยู่เหนือพลเมือง ทุนใหญ่มีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจ” ชัยธวัชกล่าว