วันศุกร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาทางการเมืองตามหลักสิทธิในการประกันตัว

 


องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาทางการเมืองตามหลักสิทธิในการประกันตัว

 

วันนี้(1 กันยายน 2566) เวลา 10.00 น. องค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ประกอบด้วยสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLaw), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา(มสพ.), กลุ่ม Non-Binary Thailand, ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD), เดินเท้าจากด้านหน้าศาลฎีกา ไปยังสำนักประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาทางการเมืองตามหลักสิทธิในการประกันตัวง โดยมีนายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกาออกมารับหนังสือดังกล่าว

 

โดยมีใจความระบุว่า ตามที่ท่านในฐานะประธานศาลฎีกา ได้ประกาศนโยบายของศาลยุติธรรมไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรมอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน บนระบบการทำงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อธำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรศาลยุติธรรม และภายใต้นโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ได้ประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

 

ข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในข้อ 24 โดยให้อำนาจศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปได้เอง เมื่อจำเลยถูกพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ ประกอบกับถ้าจำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ โดยการสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ให้ใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

 

แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่า ข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถูกนำไปบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของประธานศาลฎีกา โดยเฉพาะคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ตัวอย่างเช่น คดีในศาลอาญา ได้แก่คดีของ "เวหา แสนชนชนะศึก" (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2697/2564) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี 18 เดือน คดีของ"ทีปกร"( คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 329/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน คดีของ"วัฒน์" (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1253/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน และคดีของ "เก็ท โสภณ" (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1447/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน รวมถึงอีกหลายคดีที่จำเลยถูกฟ้องในกลุ่มคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่ดินแดงเมื่อปี 2564

 

โดยทุกคดีในข้อหามาตรา 112 ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และประสงค์จะใช้สิทธิต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และในระหว่างสอบสวนตลอดจนในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากลับมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทั้ง ๆ ที่ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาข้อ 24 ข้างต้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปได้เอง

 

อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ได้เป็นผู้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตามคำร้องดังกล่าว ก็ไม่ได้ให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งว่ามีความจำเป็นประการใด ที่ศาลชั้นต้นไม่อาจสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยด้วยตนเอง และไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลโดยละเอียดเพียงพอให้จำเลยสามารถเข้าใจได้ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมเช่นใดของตนเองที่ทำให้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1

 

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและทำงานเพื่อส่งเสริมการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมจึงขอเรียนมายังท่าน ขอเข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน อีกทั้งขอให้ท่านกำกับดูแลให้ศาลยุติธรรมใช้ดุลยพินิจในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของจำเลยที่พึงได้รับซึ่งสิทธิในการได้ปล่อยชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด โดยจะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วมิได้ ท้ายที่สุดแล้วเพื่อให้ศาลยุติธรรมทั้งหลายใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญาพ.ศ 2565

 

ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายของศาลยุติธรรมที่ท่านประกาศไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรมอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน บนระบบการทำงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อธำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรศาลยุติธรรมสามารถบรรลุผลเป็นรูปกระทำต่อไป

 

ด้านนายกิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ที่มาวันนี้เพื่อมายื่นหนังสือเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา โดยมีข้อเรียกร้องและข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง พี่ไม่ได้รับสิทธิ์การประกันตัว ทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีและส่วนที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้ว เนื่องจากทางประธานศาลฎีกาได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวมาซึ่งให้สิทธิ์ ได้รับการปล่อยชั่วคราวกับผู้ต้องขังหรือจำเลยคดีทางการเมือง หลังจากศาลพิพากษาไปแล้ว และมีโทษไม่เกิน 5 ปี และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ได้ประกันมาตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน หรือว่าศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นสามารถให้ประกัน โดยไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิจารณา

 

แต่ที่ผ่านมาคดีหลังจากมีคำพิพากษามาแล้ว ว่าจะมีโทษต่ำมาก โทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดี 112 ก็ยังส่งประเด็นให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทั้ง ๆ ที่ความจริงศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาอนุญาตได้เลย และภายหลังศาลอุทธรณ์ก็ไม่ให้ประกันตัว ทำให้ขณะนี้มีผู้ต้องขังทางการเมือง ถูกคุมขังอยู่จำนวนรวมทั้งสิ้น 29 คน

 

วันนี้จึงต้องมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้อง เรื่องสิทธิประกันตัวให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา และเพื่อขอเข้าพบประธานศาลฎีกาเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ทนายกิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน