วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

ธิดา ถาวรเศรษฐ : ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทุกพรรคต้องเสนอแก้ไข!!!

อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้กล่าวในการทำ Facebook Live วันนี้ถึงความประทับใจที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้พยายามนำเสนอนโยบาย ซึ่งค่อนข้างประทับใจอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ที่กำลังทยอยนำเสนอ ส่วนเพื่อไทยยังออกแนวเสนอความล้มเหลวของรัฐบาลคสช.โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำรัฐประหารและ 4 ปีกว่าที่ผ่านมา ในประเด็นเศรษฐกิจซึ่งเป็นความทุกข์ยากของประชาชนมากที่สุด ดูได้จากผลโพลต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้เข้าใจแล้วว่าต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ


สำหรับอ.ธิดามองว่าปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งก็คือปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำ พูดกันตรง ๆ ว่าเรามีความเหลื่อมล้ำทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและทางสังคม แต่วันนี้จะพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก่อน

อ.ธิดากล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำ นั่นก็คือคนเรามีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอันนั้นใช่ แต่มันต้องไม่เหลื่อมล้ำกันมากเกินไป!

จากรายงานองค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย เขาบอกว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 28 คนจาก 5 คน ความมั่งคั่งยิ่งพัฒนามันก็ไปกระจุกอยู่ที่คนรวย

5 ปีที่ผ่านมา คนที่รวยที่สุด 1% มีทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้นจาก 38.5% เป็น 56% ของประเทศ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงเหลื่อมล้ำสูงสุดในโลก

คนรวยที่สุด 10% มีรายได้มากกว่าเป็น 35 เท่าของคนจนที่สุด 10% และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และคนจนที่สุด 10% มีทรัพย์สินรวมกันเพียง 0.1% ของทั้งหมด

ตัวเลขเหล่านี้คือตัวเลขที่พรรคการเมืองทุกพรรคควรจะเข้าใจ


ถ้าเอาตัวเลขของรายการประชากรไทยปี 2558 มาคำนวน ซึ่งอ.ธิดาคิดว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เข้าใจก็คือประชากร 40% มีรายได้ 5,344 บาท/คน/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขคนจนในประเทศไทย (ตัวเลขจากสภาพัฒน์ฯ) แต่คนจนของรัฐบาลคสช.ใช้ตัวเลข 8,333 บาท/คน/เดือน ซึ่งอ.ธิดากล่าวว่าเป็นตัวเลขที่ “ผิด” และในทัศนะอ.ธิดา อย่างน้อยที่สุดคุณต้องแก้ปัญหาให้คน 40% ที่เป็นคนยากจนมีรายได้ 5,344 บาท/คน/เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงกับธนาคารโลกที่ใช้ 5,430 บาท/คน/เดือน ตรงนี้แหละเป็นปัญหาที่ทุกพรรคต้องแก้ปัญหาคนชุดนี้คือ 40% ของประเทศ ไม่ใช่ข้อมูลของรัฐบาลปัจจุบัน  ที่ให้คนมาสมัครแล้วใช้ 8,000 กว่าบาท เพราะเขาใช้มาตรฐานว่าต่ำกว่าแสนบาท/คน/ปี ซึ่งน่าจะมีถึง 60-70% ของประเทศ

 นั่นคือคุณไม่ได้แก้ปัญหาคนจน แต่คุณแก้ปัญหาคนส่วนใหญ่ซึ่งมีรายได้ปานกลางในประเทศ

อ.ธิดากล่าวว่า ก่อนอื่นให้ทุกพรรคการเมืองตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของเรานั้นเชื่อว่าคน 1% มีทรัพย์สิน 50% ของประเทศ แล้วคน 10% มีทรัพย์สิน  79-80% ของประเทศ  นี่เป็นความเหลื่อมล้ำในทางความมั่งคั่ง

แต่ในความยากจนนั้นขอให้ดูตัวเลขคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,344 บาท เป็นคนจนมี 40% ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร, คนงาน และคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,644 บาทมีประมาณ 5.6 ล้านคน (ตัวเลขตั้งแต่ปี 2558)

ข้อมูลนี้ทุกพรรคต้องเสนอแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ก่อนจะเสนอแก้ไขได้ท่านต้องรู้ตัวเลขที่ถูกต้องก่อน ไม่ใช่แบบที่รัฐบาลนี้ทำโดยไม่ได้ดูตัวเลขพื้นฐานเลย และคุณต้องรู้ว่าคุณทำแบบ “สงเคราะห์” หรือ “สวัสดิการ”

ถ้าคุณทำแบบ “สงเคราะห” คุณจะเรียกว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ไม่ได้!!!
ถ้าเป็น “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ก็คือต้องไม่มีเส้นแบ่งของรายได้ แปลว่าต้องให้ถ้วนหน้าแบบบัตรทอง เช่น การศึกษาต้องถ้วนหน้า หรือสาธารณะสุขก็ต้องถ้วนหน้า

อ.ธิดาได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ
1) ต้องแก้ปัญหาเรื่องรายได้ของเกษตรกรและแรงงานทั่วไป รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถ
2) ต้องแก้ปัญหาภาษีของผู้มั่งคั่งในประเทศนี้ เก็บภาษีที่ก้าวหน้า ภาษีมรดก
3) ภาษีที่ได้รับยกเว้นพิเศษสำหรับการลงทุนของต่างชาติ
4) งบที่ใช้ในงานความมั่นคง

ถ้าไม่มีการจัดการ 4 ประการข้างต้นนี้ เพียงแต่เชิญชวนเขามาลงทุนอย่างเดียว ปัญหารากหญ้าเพียงเอาโยนเงินใส่ไปในบัตร อ.ธิดาเห็นว่าไม่พอค่ะ ถ้าคุณไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นความทุกข์ยากที่สุดของประชาชน คุณไม่มีทางที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

แล้วคุณจะเอาแบบไหน จะเลือก “สงเคราะห์คนจน” หรือ “สวัสดิการถ้วนหน้า” ต้องตัดสินใจให้ชัด! อ.ธิดากล่าว