วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

ย้อนอดีต "วิถีสหายพรรคคอมมิวนิสต์" เทียบปัจจุบัน "ชะตาชีวิตผู้ลี้ภัยไทยในต่างแดน"

เช่นเดียวกับในอดีตพอเกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ มีความรุนแรงตอกอก ตอกลิ่ม หรือจัดการกับศพอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้คนหนีเข้าป่า ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือการลี้ภัยไปต่างประเทศ

ฉะนั้น ความรุนแรงเหล่านี้ ภาพสยดสยองเหล่านี้ เป็นวิธีคิดต้องการข่มขู่หรือเปล่า

แต่ในทัศนะอาจารย์คิดว่ามันจะได้ผลอีกแบบหนึ่ง คือ ผลของความไม่พึงพอใจ ความโกรธว่าทำไมคุณต้องทำถึงขนาดนั้น เขาลี้ภัยไปแล้ว เขามีความคิดเห็นต่าง เขาไม่สามารถมีอิทธิพลอะไรมากมายที่จะไปปลุกระดมคนให้กระทำการเป็นปัญหากับความมั่นคง

คุณอยู่มาได้ตั้ง 5 ปี แล้ว ยังอยากจะอยู่ต่ออีก 20 ปี การที่ไม่มีเรื่องถึงขนาดประชาชนลุกฮือขึ้นมา ต้องถือว่านี่โชคดีขนาดหนักแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำกับคนที่มีความคิดต่างขนาดนี้

- ความเป็นสหาย ในระหว่างประเทศ ยังมีจริงหรือไม่

ในทัศนะอาจารย์ ปัจจุบันนี้ ‘สากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพ’ ไม่มีแล้ว เท่าที่ดูในประวัติศาสตร์ เป็นผลประโยชน์ของประเทศนั้นๆ มากกว่า ตั้งแต่ในตอนสงครามโลก

แล้วองค์กรที่เรียกว่า โคมินเทิร์น ก็หายไป อาจจะมีความรู้สึกดีๆ อยู่บ้างว่า อ๋อนี่นักปฏิวัติ อีกอย่างหนึ่งช่วงเวลาของการปฏิวัติในประเทศเหล่านี้ก็ยาวนานมาก

เหมือนอย่างอาจารย์เคยเจอคนที่ประเทศจีน เขาบอกเวลาฟังเรื่องประเทศไทย ก็ฟังคล้าย ๆ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์บางตอนของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นคนในโลกยุคใหม่โลกทุนนิยมโลกาภิวัตน์

เพราะฉะนั้น นักปฏิวัติตามแบบฉบับในอดีต ไม่มีแล้ว ปัจจุบันในประเทศสังคมนิยมเขาแข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและความสามารถมากกว่า ส่วนวิธีคิดที่บอกว่า เป็นสหาย อาจารย์คิดว่า ในระหว่างประเทศ ไม่มีนะ ไม่น่าจะเหลือแล้ว

แต่ว่าต่อให้มี ‘สหาย’ ก็ต้องมีองค์กรจัดตั้ง เช่นระหว่างพรรคต่อพรรค เมื่อก่อนมีคำพูด รัฐต่อรัฐ พรรคต่อพรรค อีกอันคือ ประชาชนต่อประชาชน

ถ้าเป็นพรรคปฏิวัติต่อพรรคปฏิวัติ เมื่อก่อนนี้เขาก็จะมีความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง เพราะเวลาเขาพูดกับรัฐ เขาจะบอก อันนี้ไม่เกี่ยว อันนี้เป็นเรื่องของพรรค ยกตัวอย่างเช่น จีน หรือ เวียดนาม เขาบอกอันนี้เป็นเรื่องชาวพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกัน

แต่อาจารย์ว่า หลังจากนั้น มันหายไปแล้วนะ เพราะฉะนั้น ตอนหลังเวลาเราพูด เราก็บอก ประชาชนต่อประชาชน

อาจารย์มองว่า ผู้ที่ลี้ภัยไป ก็เป็นเรื่องของประชาชนที่ไม่สามารถยอมรับแบบแผนการเมืองการปกครองในปัจจุบันได้มากกว่า ไม่ใช่ในฐานะสหาย

- ทางออกหากจำเป็นต้องลี้ภัย สำหรับคนที่ไม่มีสถานะทางสังคม ถึงขนาดเป็นอดีตรัฐมนตรี อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือข้าราชการระดับสูง

อาจารย์ดูคนที่เขาเคยลี้ภัย แต่อาจารย์ไม่คิดจะทำเพราะอายุมากแล้ว(หัวเราะ) จริงๆ ตั้งใจจะอยู่กับประชาชนที่นี่แหละไม่ลี้ภัยไปไหน
คือ คนที่จะลี้ภัยเขาเตรียมตัวตั้งแต่ตอนยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยต้องลี้ภัย ทุกอย่างต้องวางแผนไว้ก่อน

ไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้า ต้องเตรียมตัวตั้งแต่อยู่ในประเทศไทย จะติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ หรือองค์กรอะไรต่างๆ ก็ต้องเตรียมเอาไว้

กรณีสมมติว่า ถ้าเขาไปอยู่ต่างประเทศในลักษณะไปตายเอาดาบหน้า ก็ต้องสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศให้ได้เร็วที่สุด มิเช่นนั้นก็ต้องสัมพันธ์กับสถานทูตที่เขายอมรับ คือติดต่อประเทศโดยตรงเลยก็ได้ โดยไม่ต้องผ่าน UNHCR

ส่วนตัวอาจารย์ก็สัมพันธ์กับสถานทูตเยอะ ก็เห็นคนที่มีความคิดจะลี้ภัย เขาจะไปคุยกับสถานทูตเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว บางคนเคยเป็นนักเรียนเก่า อันนี้ก็อาจจะง่ายหน่อย เคยไปอยู่ประเทศนั้น

แต่ถ้าเป็นประชาชนธรรมดา เป็นชาวบ้านธรรมดา มี 2 อย่างคือ 
1) ต้องพยายามหาองค์กรที่ยอมรับให้ได้ แต่ในระหว่างที่ยังหาไม่ได้ ต้องทำอย่างที่ 
2) คือเราต้องคำนึงถึงประเทศที่เราไปอยู่ด้วย ว่าเราต้องไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้เขา คือ เราต้องเข้าใจว่า ประเทศเขาก็มีผลประโยชน์ของเขา เราก็มีเรื่องของเรา

เรื่องของเขาต้องเป็นหลัก ถ้าเราจะไปอยู่กับเขา เราต้องไม่ทำให้เขาเดือดร้อน ยกตัวอย่าง ถ้าเขารู้ว่าเข้ามาลี้ภัย เขาก็จะมีระเบียบว่า คนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น ไม่ว่าจะอยู่ชั่วคราวหรืออยู่นาน หากเขาไม่ให้ไปตรงไหนก็ต้องไม่ไป หรือควบคุมการเคลื่อนไหวในระดับไหน คุณก็ต้องฟังเขา ถ้าอยู่ในประเทศเขา เพราะแต่ละประเทศอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าอยู่ไกลไปเขาอาจจะไม่แคร์เท่าไหร่

แต่สำหรับประเทศบ้านชิดติดกัน ถ้าคิดเอาแบบเป็นชาวคอมมิวนิสต์ด้วยกันนะ คุณจะต้องอยู่ในระบบจัดตั้ง เมื่อก่อนอาจารย์อยู่ในเขตป่าเขา

เวลามีคนเข้ามาในเขตป่าเขา ต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพื้นที่นั้น อะไรที่เขาห้ามไม่ให้ทำ อย่าทำ

เช่น เวลาเขาเดิน คุณมีหน้าที่ต้องเดินตามเขาเป็นก้าวๆ เลย ไม่ใช่เดินตามใจชอบ เพราะคุณจะไปเจอระเบิด เขาเขียนให้เดินยังไงต้องเดินอย่างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศคอมมิวนิสต์ เขาจะมีรายละเอียด ระเบียบมาก ก็คือ เราต้องมีวินัย เราจะเสรีไม่ได้

ฉะนั้น ต้องถือว่า ถ้าเขาให้อยู่ ก็ถือว่า เขาก็เมตตาแล้ว เราก็ต้องมีความเอื้ออาทรต่อเขาด้วย อันนี้อาจารย์พูดตามหลักการ ถ้าปฏิบัติตามระเบียบ เขาจะรู้ว่าดูแลได้แค่ไหน

ประเทศสังคมนิยมเขามีวินัยมาก ยิ่งวินัยของนักปฏิวัติยิ่งเข้มข้น ถ้าคุณเป็นชาวคอมมิวนิสต์ คุณรู้ทันทีว่าต้องปฏิบัติยังไง วินัยสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะอาจารย์ เราควรจะอยู่ในประเทศไทย และรัฐไทยก็ไม่ควรจะไปสร้างปัญหา สร้างความกระอักกระอ่วนกดดันประเทศเพื่อนบ้าน กดดันคนในประเทศ เพราะการกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนคนรับไม่ได้

โดยหลักการแล้วรัฐไทยไม่ควรจะทำแบบนี้ เขายากลำบากแล้ว เขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดบ้าง ต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แต่ว่า การทำโหดร้ายแบบนี้จะทำให้ได้คะแนนติดลบ

อย่างที่อาจารย์ตั้งคำถามใน Facebook Live หรือคุณคิดว่าจะปิดบัญชีให้ได้ เมื่อจะลงจากอำนาจ? คือจะจัดการให้หมด กลายเป็นว่า จะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่กลับมีเรื่องโหดร้ายรุนแรง เช่นการเผารถ (กรณีรถของเอกชัย หงส์กังวาน) ทำทำไม ทำเพราะต้องการปิดบัญชีคนเห็นต่างเช่นนั้นหรือ หรือ หรือว่าไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง กลับทำให้คนโกรธเคือง มันไม่ใช่วิถีทางของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนะคะ

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)