วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ภราดร พัฒนถาบุตร : 'รัฐบาลทหารคือปรปักษ์กับขบวนการผู้เห็นต่าง'

22 ม.ค. 62 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในยุครัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์แฟนเพจ ‘ยูดีดีนิวส์ - UDD News’ ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากกรณีเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 คนร้าย 2 คน ขี่จักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนยิงนายดอเลาะ สะไร โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดปูโปะ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เสียชีวิต และเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2562 คนร้าย 10 กว่าคนใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่กุฏิพระ ภายในวัดรัตนานุภาพหรือวัดโคกโก บ้านโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ส่งผลทำให้พระครูประโชติ รัตนานุรักษ์ (ท่านสว่าง) เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ และเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี มรณภาพพร้อมพระลูกวัด

- การก่อเหตุทั้ง 2 กรณีนี้ มีความหมายว่าอย่างไร

พระสงฆ์และโต๊ะอิหม่าม เป็นสัญลักษณ์นำ ของทั้ง 2 ศาสนา คือ ทั้งพุทธและอิสลาม แต่กลุ่มหัวรุนแรงไม่ได้คำนึงว่าใครจะเป็นผู้นำศาสนาใด เขาคำนึงถึงว่า ถ้าสามารถสร้างความเข้มแข็งในลักษณะการปฏิบัติการรบ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำอย่างไร 'ต้องมาฟังฉัน' แล้วหลังจากนั้น เมื่อได้ชัยชนะแล้วค่อยมาว่ากันอีกที

ฉะนั้น เขาไม่สนใจสัญลักษณ์ของผู้นำปีกไหน เขาสนใจว่า ถ้าทำให้เกิดความน่าสะพรึงกลัว การได้ชัยชนะจากการปฏิบัติการรบแล้ว ตรงนั้นจึงจะนำไปสู่การดำเนินไปตามเป้าหมายได้ เขาเชื่อว่าต้องเอาชัยชนะทางการรบก่อนโดยไม่คำนึงถึงว่าเป้าหมายจะศาสนาใด จากนั้นจึงจะกลับมาคุยกันได้ โดยเฉพาะเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้คนเชื่อถือมากๆ เขายังพึงประสงค์ที่จะทำ เพราะเป็นความคิดสุดโต่งไปแล้ว

- เหตุใดจึงมีความรุนแรงในช่วงนี้

เราคงจะต้องย้อนรอยไปนิดนึง คือการเข้าใจรากของปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ในเรื่องอุดมการณ์ความเชื่อ ซึ่งสืบเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ เรื่องชาติพันธุ์

ตรงนี้จะฝังลึกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการถืออาวุธ ในกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า การจะย้อนรอยไปตามประวัติศาสตร์ที่เขาเชื่อเรื่องดินแดน เขายังคิดอยู่ว่า วิธีการจะได้มาตรงนั้น คือการใช้ความรุนแรงที่จะเอาชนะ เหมือนการรบ ถ้าสามารถเอาชนะทางการรบได้ ก็จะได้สิ่งที่เขาคิดไว้กลับคืนมา จึงเกิดผลสืบเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบันในการต่อสู้กัน

- ทางออกที่เป็นไปได้

ทางออกปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องนำ 'การเมืองนำการทหาร' เพราะรากของปัญหาคือความคิด สิ่งที่สำคัญยกตัวอย่างเทียบเคียงก็เหมือนการต่อสู้ภัยคอมมิวนิสต์ ก็เป็นเรื่องการต่อสู้ทางความคิดกัน แต่เมื่อเราใช้ปฏิบัติการทางการทหารต่อสู้กันก็ไม่สัมฤทธิ์ผล สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนเป็นการเมืองนำการทหาร นี่ก็เฉกเช่นเดียวกัน

การเมืองนำการทหาร จะเปิดช่องให้มีการมีส่วนร่วม การมาพูดคุยกัน การแลกทัศนะกัน ว่า ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะไปลบเลือนมันได้ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ลบเลือนไม่ได้แล้ว เราถอยกลับไปก็ไม่ได้เช่นกัน

สิ่งที่จะแก้ไขได้ก็คือ ต้องมาหารือร่วมกันว่า อนาคตเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ฉะนั้น วิธีการแก้ไข ก็คือ ต้องเอาการเมืองมานำการทหาร เปิดการพูดคุยกัน แต่ที่คนจะรู้สึกหงุดหงิด ก็เพราะการพูดคุยต้องใช้ระยะเวลา ใช้การทำความเข้าใจ เพื่อจะเปลี่ยนความคิดความเชื่อให้กลับมาตรงกัน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติภาพได้

- แม้จะมีการสังหารนักบวชหรือผู้นำศาสนา ก็ยังหวังว่าจะมีการพูดคุยกันได้? ยังพูดคุยกันได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มที่มีคนหัวรุนแรง จริงๆ ก็มีความหลากหลายในกลุ่มเขา

คือ เป้าหมายเขาเหมือนกัน แต่สิ่งที่เขาอยากได้มีหลายระดับ มีลึกลงไปถึงเรื่องดินแดน ขณะที่บางคนก็ไม่ได้คิดไปถึงเรื่องดินแดน แต่มีเป้าหมายเรื่องการปกครองที่เขามีเสรีภาพตามสมควรตามเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มจะมีคนหัวรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งปัญหาปัจจุบัน คือ พวกหัวรุนแรงสุดโต่ง

ส่วนคนปกติก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ฉะนั้น ความยากก็คือ ทำความเข้าใจกับกลุ่มสุดโต่งให้ได้ ซึ่งก็คงจะมีการเปิดเวที แต่การเปิดเวทีพูดคุยอย่างเดียวยังไม่พอ

ต้องมีมาตรการทางการทหารควบคู่กันไป เพื่อป้องปราม และชี้ให้เห็นว่ารัฐไทยสามารถที่จะคุ้มครอง ให้ความปลอดภัยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน

ตรงนี้เพื่อชี้ให้เขาเห็นว่า ยังไงถ้าเกิดการสู้รบกัน เขาก็ไม่สามารถที่จะเอาชัยชนะในการปฏิบัติการรบ มาชนะเจ้าหน้าที่รัฐได้ ขณะเดียวกัน การพูดคุยก็ต้องมีควบคู่กันไป

- การเมืองนำการทหาร รูปธรรมขณะนี้ คืออะไร

รัฐบาลต้องสื่อสารให้พี่น้องประชาชนทราบกันทั่วประเทศว่า การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกคนเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน ว่ามีการลุกลามไปขนาดไหน ให้เห็นสถานการณ์ชัดเจน

แล้วมาหารือร่วมกันทุกภาคส่วนไม่ใช่เฉพาะในพื้นที่ แต่ให้ทั่วประเทศรับรู้ปัญหาว่า มีปัญหาลักษณะนี้ แนวคิดนี้ ความเชื่ออุดมการณ์ที่แตกต่างเกิดขึ้น แล้วทุกคนจะเห็นพ้องต้องกัน เข้าใจกัน แล้วจะมาร่วมกันให้ข้อคิดเห็นข้อแนะนำ

แล้วรัฐสามารถออกแบบทำเป็นข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ในที่สุด มีความร่วมมือระหว่างนอกพื้นที่กับในพื้นที่มาบรรจบกันมีพลังแก้ไขปัญหา

- การเลือกตั้งทั่วไปในระดับชาติ แม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าวันไหน จะมีส่วนต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่

มีส่วนมาก เราปฏิเสธไม่ได้ เราอย่าไปนึกว่าขบวนการผู้เห็นต่างเขาไม่ได้สนใจภาพรวมของประเทศ

เขามีความสนใจและติดตาม เพราะมันเกี่ยวข้องกับบรรยากาศที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมในการพูดคุยที่จะต้องเผชิญหน้า เพราะเขาเชื่อมั่นว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย จะเปิดโอกาสให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนทัศนะในการแก้ไขปัญหา ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากค่ายทหาร

ซึ่งจริงๆ แล้วฝ่ายปฏิบัติการของเขา ก็มองอยู่ตลอดเวลาว่า รัฐบาลทหาร คือ ปรปักษ์กับเขา ฉะนั้น ยิ่งรัฐบาลทหารอยู่ หรือ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจะมีมากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลประชาธิปไตยจะมาสร้างสภาวะแวดล้อมที่เขายอมรับและเชื่อถือได้ว่า เอาล่ะมีโอกาสพูดคุย มีโอกาสเดินหน้ากันบ้างหรือถอยหลังกันบ้าง และแน่นอนที่สำคัญที่สุด คือจะได้ความร่วมมือจากข้างนอก คือประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศโลกมุสลิมที่จะเข้ามาช่วยทำให้บรรยากาศการแก้ไขปัญหามันมีความราบรื่น

- แม้จะมีการสังหารพลเรือน แต่ก็ไม่ควรสิ้นหวังต่อการพูดคุยสันติภาพ?

อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือการพูดคุยสันติภาพและนำไปสู่สันติสุขส่วนรวม ตรงนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ แต่พี่น้องประชาชนที่มีความเข้มข้นในการรักชาติ อาจจะรู้สึกหงุดหงิดเพราะต้องใช้เวลา

ขณะที่ตัวแบบตัวนี้ เราเห็นมาทั่วโลกแล้วว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้ จะช้าหรือเร็ว สุดท้ายก็แก้ไขปัญหาได้ ควบคู่กับมาตรการทางทหารที่มีความพอเหมาะพอควร แต่ปลายทางของคำตอบจะสำฤทธิ์ผลได้ ต้องเกิดจากการที่มีการพูดคุย เพราะเป็นการแก้ไขทางความคิดซึ่งกันและกัน

(สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)