‘พริษฐ์’ ชี้ 2 ทางเลือกรัฐบาลเศรษฐา
เลิกเกณฑ์ทหารแบบใด ย้ำ ‘ก้าวไกล’ หนุนเลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์
ไม่ต้องลุ้นปีต่อปี วางกรอบเวลา-เป้าหมายชัดเจน
ขอรอดูบทสรุปหลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
วันที่
6 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา พริษฐ์ วัชรสินธุ
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ให้สัมภาษณ์ถึงทางเลือกของรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับนโยบายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารว่า
‘เกณฑ์’ ทหารคือการบังคับคนที่ไม่อยากเป็นทหารเข้าไปรับราชการทหาร โดยปัจจุบัน
ประเทศไทยมีกฎหมายที่เปิดช่องให้รัฐสามารถบังคับคนไปเป็นทหารได้ คือ พ.ร.บ. รับราชการทหาร
2497 หากจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารกองประจำการในแต่ละปี (supply
หรือ อุปทาน)
มีจำนวนที่น้อยกว่ายอดกำลังพลหรือจำนวนคนที่กองทัพต้องการให้มาทำหน้าที่ทหารกองประจำการในแต่ละปี
(demand หรือ อุปสงค์)
หากเราย้อนไปดูสถิติ
5-10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า (1) ยอดกำลังพลที่กองทัพขอในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ
90,000 คนโดยเฉลี่ย (2) จำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหารในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ
30,000 คนโดยเฉลี่ย ดังนั้นโดยเฉลี่ยในแต่ละปี
จะมีคนที่ไม่อยากเป็นทหารที่ถูกบังคับไปเป็นทหารผ่านกระบวนการจับใบดำ-ใบแดงประมาณปีละ
50,000-60,000 คน
ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายตระหนักว่าการมีอยู่ของการบังคับเกณฑ์ทหารมี
‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย
เพราะการเกณฑ์ทหารไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของปัจเจกบุคคลจนทำให้หลายคนต้องสูญเสียโอกาสความก้าวหน้าทางการงานหรือเวลาที่ได้อยู่กับครอบครัว
แต่การบังคับเกณฑ์ทหารยังส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศเพราะเป็นการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในวันที่ประเทศไทยเผชิญกับ
‘สังคมสูงวัย’ และมีสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลง
แม้ฝ่ายที่สนับสนุนการเกณฑ์ทหารมักหยิบยกเหตุผลเรื่องความมั่นคง
แต่ผมและพรรคก้าวไกลยืนยันว่าการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารสามารถกระทำได้โดยไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศต่อเมื่อ
2 เงื่อนไขต่อไปนี้เป็นจริง:
(1)
กองทัพลดจำนวนพลทหารที่ถูกใช้กับภารกิจที่ไม่จำเป็นต่อการรักษาความมั่นคง
(ลด demand) เช่น กำจัด “ยอดผี”
หรือคนที่ปรากฎชื่อในทะเบียนพลทหาร แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทหาร, ยกเลิกพลทหารรับใช้ประจำบ้านของนายทหาร, ลดงานที่จำเป็นน้อยลงในบริบทของภัยคุกคามยุคใหม่ที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากอดีต
(2)
กองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร
เพื่อนำไปสู่ยอดคนที่สมัครเข้ามาเพิ่มขึ้น (เพิ่ม supply) เช่น
รับประกันรายได้และสวัสดิการที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และ
โอนตรง-โอนครบ-ไม่หัก-ไม่ทอน, เพิ่มโอกาสในการเรียนโรงเรียนนายร้อย-นายสิบ
และโอกาสในการเลื่อนขั้นสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตร, คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยของพลทหารจากความรุนแรงในค่าย
เมื่อเป็นเช่นนี้
ยุทธศาสตร์ในการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จึงมี 2 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ วิธีที่ 1
เลิกแบบต้องลุ้นปีต่อปี หรือ ค่อยลดๆเพื่อหวังเลิก โดยไม่แก้กฎหมาย
คือการทำเงื่อนไขที่ (1) และเงื่อนไขที่ (2) ควบคู่ไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามลด ‘ช่องว่าง’
ระหว่างยอดกำลังพลที่กองทัพขอกับยอดจำนวนคนที่สมัครใจเป็นทหาร
เช่น
สมมุติกองทัพลดยอดกำลังพลที่ขอจาก 90,000 เหลือ 60,000 และกองทัพยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารจนทำให้ยอดคนสมัครเพิ่มจาก 30,000
เป็น 50,000 จำนวนคนที่ถูก “เกณฑ์”
ไปเป็นทหารก็จะลดจาก 60,000 (90,000 ลบ 30,000) เป็น 10,000 (60,000 ลบ 50,000) โดยหากดำเนินการต่อไป ก็อาจทำให้ช่องว่างนั้นลดเหลือศูนย์ในที่สุด
และทำให้วันหนึ่งการเกณฑ์ทหารถูกเลิกไปโดยปริยาย
เพราะยอดสมัครจะสูงกว่ายอดกำลังพลที่กองทัพขอ
วิธีนี้เป็นวิธีที่กองทัพประกาศว่ากำลังดำเนินการอยู่ตามแผนปฏิรูปกองทัพ
2566-70 ของสภากลาโหม คำถามที่ตามมาว่ากองทัพจะสามารถ ‘ลด’ จำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ได้มาก-น้อยแค่ไหนในระยะสั้น
และจะสามารถ ‘เลิก’ การเกณฑ์ทหารทั้งหมดได้เร็ว-ช้าแค่ไหน
จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของกองทัพในการขยับ 2 ตัวเลขดังกล่าว
วิธีที่
2 เลิกแบบการันตีไม่มีเกณฑ์ (โดยการแก้กฎหมาย) คือการแก้ พ.ร.บ.
รับราชการทหาร 2497 เพื่อตัดอำนาจกองทัพในการบังคับคนมาเป็นทหารในยามที่ไม่มีสงคราม
เพื่อให้กองทัพประกอบไปด้วยกำลังพลที่สมัครใจเข้ามาเท่านั้น
วิธีนี้เป็นวิธีที่พรรคก้าวไกลเสนอเพราะ
3 เหตุผล คือ (1) เป็นการวางกรอบเวลาและเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนว่าจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารภายในเมื่อไร
โดยจะเลิกทันทีหรือมีเวลาเท่าไรให้กองทัพปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน
สามารถกำหนดได้ผ่านบทเฉพาะกาลของกฎหมาย
(2)
เป็นการรับประกันกับเยาวชนว่าเมื่อเลิกแล้ว
จะไม่ต้องมาลุ้นปีต่อปีว่าจะถูกบังคับไปเป็นทหารหรือไม่ เพราะหากเป็นวิธีที่ 1
แม้ปีก่อนหน้าจะไม่มีการเกณฑ์ทหารเพราะยอดสมัครใจสูงกว่ายอดที่กองทัพขอ
แต่ปีถัดไปก็ไม่ได้อะไรรับประกันว่ายอดที่กองทัพขอจะไม่กลับมาสูงกว่ายอดสมัครใจจนทำให้ต้องมีการบังคับคนไปเป็นทหารอีก
(3)
เป็นการเพิ่มแรงกดดันกองทัพในการยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหารอย่างเร่งด่วน
เพราะการคงกฎหมายที่เปิดช่องให้กองทัพเกณฑ์ทหารได้หากยอดสมัครไม่พอ
อาจทำให้กองทัพไม่มีแรงกดดันเพียงพอในการเอาจริงกับปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิตพลทหารในค่ายเท่าที่ควร
เพราะกองทัพรู้ว่าหากคุณภาพชีวิตพลทหารไม่ดีจนทำให้ยอดสมัครน้อย (เช่น
มีปัญหาความรุนแรงในค่าย)
กองทัพก็สามารถบังคับคนมาเป็นทหารให้เต็มยอดกำลังพลที่ขอได้อยู่เรื่อยๆ
แต่ในทางกลับกัน หากเราแก้กฎหมายเพื่อปิดช่องไม่ให้มีการเกณฑ์ทหาร
กองทัพจะถูกเร่งให้ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพลทหาร
มิเช่นนั้นจะไม่มีกำลังพลเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่
พริษฐ์กล่าวต่อว่า
แม้คำสัมภาษณ์ของสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูสอดคล้องกับวิธีที่ 1 มากกว่าวิธีที่
2 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ
ซึ่งทำให้ปีหน้าต้องลุ้นว่าตัวเลขจะบีบลงมาเหลือ 0 ได้หรือไม่
และแม้ปี 2567 สามารถลดลงให้เหลือ 0 นายจริงๆ
แต่ปีต่อๆ ไปก็ต้องลุ้นอีก
จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับประกันให้กับเยาวชนที่ต้องวางแผนการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตาม
เราคงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
หากรัฐบาลยืนยันวิธีที่ 1
เราก็เพียงแต่หวังว่ารัฐบาลจะให้ความชัดเจนเรื่องตัวเลขและกรอบเวลา
ว่าจะตั้งเป้าลดจำนวนคนที่ถูกเกณฑ์ปีละกี่คน
และจะตั้งเป้าให้เลิกการเกณฑ์ได้ทั้งหมดภายในปีไหน
แต่หากรัฐบาลเลือกวิธีที่
2 เราก็หวังว่าทางรัฐบาลและพรรคก้าวไกลจะร่วมกันผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯได้โดยเร็ว
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร ที่พรรคก้าวไกลยื่นไปที่สภาฯเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตอนนี้กำลังรอเพียงการรับรองโดยนายกฯเศรษฐา
เพื่อให้บรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระของการประชุมสภาฯ
จากนั้น
สื่อมวลชนถามถึงนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ระบุในเอกสารคำแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ถูกเผยแพร่ออกมา
พริษฐ์กล่าวว่า ในเอกสารล่าสุด ซึ่งต้องรอการยืนยันว่าเป็นเอกสารทางการหรือไม่
ตนเห็นมีประโยคสั้นๆ ว่าเปลี่ยนจากรูปแบบการเกณฑ์เป็นระบบสมัครใจ
ซึ่งหากใช้คำศัพท์เช่นนี้ อาจจะตีความยากว่าเป็นแบบไหน ในมุมมองของตน
หมายถึงการเปลี่ยนตัวระบบ คือการยกเลิกการอนุญาตให้มีการบังคับเกณฑ์
ซึ่งถ้าอ่านข้อความตรงนั้น ดูจะเป็นแบบที่ 2 มากกว่า
จึงไม่อยากด่วนสรุปว่าท่าทีรัฐบาลจะเป็นแบบไหน
เพียงแต่อยากให้ข้อมูลกับสังคมว่ามีการยกเลิก 2 วิธี และ 2
วิธีนี้มีนัยยะต่างกัน
เมื่อถูกถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีใช้คำว่า
‘พัฒนาร่วมกัน’ แทนที่คำว่า ‘ปฏิรูป’ กองทัพ พริษฐ์ให้ความเห็นว่า
คำว่าปฏิรูปไม่ได้มีความหมายเชิงลบ หมายถึงการทำให้องค์กรนั้นดีขึ้น
ปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปองค์กร คือการมีชุดความคิดที่ถูกอัดฉีดเข้าไปจากภายนอกองค์กร
ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย
คือการที่รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
นำเอาความคิดจากประชาชนเข้าไปอัดฉีดเพื่อยกระดับการทำงานของกองทัพ
“แน่นอนว่าการปฏิรูปเรื่องใดก็ตาม ความร่วมมือของคนในองค์กรมีส่วนสำคัญ
แต่ไม่ควรสร้างบรรทัดฐานที่ทำให้คนเกรงกลัวคำว่าปฏิรูป ยิ่งในบริบทที่ผ่านมา
ยังมีข้อกฎหมายบางส่วนทำให้กองทัพมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน เช่น
พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่บอกว่าการตัดสินใจหลายอย่าง
เกี่ยวกับนโยบายหรืองบประมาณ ไม่ได้อยู่ในมือ รมว.กลาโหม
แต่กลับไปอยู่ที่สภากลาโหม ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก
ซึ่งขัดกับหลักการที่รัฐบาลพลเรือนควรอยู่เหนือกองทัพ” พริษฐ์กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ยกเลิกเกณฑ์ทหาร