‘พิธา’ อ่านแถลงข้อตกลงร่วม ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ เสนอ ‘วันมูหะมัดนอร์
มะทา’ เป็นประธานสภา ขณะที่ส.ส.ก้าวไกลได้รองประธานคนที่ 1 และส.ส.เพื่อไทยได้รองประธานคนที่ 2
วันนี้
(3 กรกฎาคม 2566) ที่ โรงแรมแลงคาสเตอร์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
สถานที่แถลงข้อสรุปตำแหน่งประธานสภา
ซึ่งก่อนหน้ามีการแจ้งสื่อมวลชนว่าเป็นการแถลงของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนเป็นการแถลงระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเท่านั้น
ซึ่งในส่วนของพรรคก้าวไกล
นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล,
ชัยธวัช ติลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
และพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะที่พรรคเพื่อไทย นำโดย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย,
ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยและหนึ่งในคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย
โดย พิธา ได้อ่านแถลงข้อตกลงร่วมฯ ความว่า
แถลงข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
เรื่อง
ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ตามที่พรรคก้าวไกล
พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม
พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่
ได้ประชุมหารือร่วมกันกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยมอบหมายให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยไปเจรจาตกลงร่วมกันนั้น
บัดนี้
พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ได้ตกลงร่วมกันดังนี้
1.
เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย
เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 โดยพรรคประชาชาติ
พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่
พร้อมให้การสนับสนุนตามข้อตกลงนี้
2.
บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
พร้อมผลักดันวาระที่จะทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
มีประสิทธิภาพและเป็นของประชาชน
3. ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้
เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรค
ในการจัดตั้งรัฐบาล เสนอและสนับสนุนกระผม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างสุดความสามารถ โดยดำเนินการตามข้อ MOU
ที่ได้แถลงร่วมกันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
ยืนยันให้ความเห็นร่วมชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง
และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม
ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
เชื่อมั่นว่า ข้อตกลงเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน
เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจน
ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
หลังอ่านข้อตกลงร่วมระหว่างสองพรรคจบ
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงความมั่นใจต่อกระบวนการทำงานร่วมกันต่อไปของ 8
พรรคร่วม โดยพิธาระบุว่าจากข้อตกลงร่วมในวันนี้ น่าจะเป็นบรรยากาศที่ทำให้ทั้ง 8 พรรคสามารถทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น
โดยข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากการหารือร่วมกัน จนสามารถหาทางออกที่ดีให้กับทั้งสองพรรค
และรักษาความเป็นเอกภาพในการจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 8 พรรคได้
โดยที่เมื่อวานนี้
(2 ก.ค.) ตนได้ส่งชัยธวัชไปทาบทาม วันมูหะมัดนอร์ มะทา แล้วเป็นการเบื้องต้น
ได้รับคำตอบรับที่ดี และตามที่คุณวันมูหะมัดนอร์
มะทาได้ให้สัมภาษณ์ไปแล้วว่าพร้อมเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้าเป็นความต้องการของประชาชนและของทั้งสองพรรคก็จะไม่ปฏิเสธ
ซึ่งตนมีความมั่นใจว่าทั้ง 8
พรรคร่วมจะไปถึงเป้าหมายโดยมีเอกภาพมากขึ้น
และขั้นตอนการทำงานต่อไปก็น่าจะง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวยังถามต่อ
ถึงกรณีการเสนอร่างกฎหมายที่อาจขัดกับหลักศาสนาอิสลาม วันมูหะหมัดนอร์ มะทา
ในฐานะประธานสภาฯ จะมีปัญหาหรือไม่ โดยพิธาระบุว่าตนได้หารือแล้ว
ทั้งหมดจะเป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภาเหมือนกับกฎหมายอื่นๆ
ส่วนพรรคประชาชาติก็คงจะสงวนสิทธิในการไม่ลงมติหรือพิจารณากฎหมาย
และอาจมอบหมายให้รองประธานสภาฯ คนอื่น แต่คำถามนี้ ตนคิดว่าให้คุณวันมูหะมัดนอร์
มะทา เป็นคนตอบเองจะดีที่สุด
ส่วนเรื่องการผลักดันวาระในการทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า
โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน ตามที่พรรคก้าวไกลได้เคยเสนอมานั้น
เท่าที่ได้พูดคุยกัน คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เห็นด้วย
และพร้อมทำงานร่วมกับรองประธานสภาคนที่ 1 และ 2 ในการไปให้ถึงเป้าหมาย
เน้นหลักการเป็นหลักทั้งในการผลักดันกฎหมาย การบริหารสภาฯ
ซึ่งเมื่อแคนดิเดตประธานสภาฯ เห็นชอบด้วยแบบนี้แล้วตนก็สบายใจ
และพร้อมที่จะส่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1
จากพรรคก้าวไกลไปสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่
“นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงเอกภาพ หลักการ การประนีประนอม
เสียสละเพื่อเป้าหมายเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล 8
พรรคร่วมเหนียวแน่นมาโดยตลอดและจะเหนียวแน่นต่อไป
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐสภาที่จะต้องมีการแข่งขัน
มีการจัดตั้งรัฐบาล มีจุดต่าง และมีการหาจุดร่วมกัน จากข้อตกลงวันนี้
แสดงให้เห็นแล้วว่าทั้ง 8 พรรคสามารถหาจุดร่วม
และหาเอกภาพร่วมกันได้ เพื่อเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน” พิธากล่าว
พิธายังระบุด้วยว่าตนเชื่อใจในพรรคเพื่อไทย
แม้จะมีการวิเคราะห์จากหลายฝ่ายถึงสูตรต่าง ๆ แต่การบรรลุข้อตกลงร่วมกันวันนี้
แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันที่มีเอกภาพและทำให้ตนมีความเชื่อใจในพรรคเพื่อไทย
และเชื่อมั่นว่าทั้ง 8 พรรคต่างก็มีความเป็นเอกภาพ
จะสามารถเดินไปให้ถึงจุดหมายตามมติของประชาชนได้ ซึ่งในโอกาสนี้
ตนก็ต้องขอเรียนไปยังประชาชนทุกคนด้วย ว่ามติประชาชนที่ได้แสดงออกมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
ยังมีความน่าจะเป็นที่สูงมากที่จะเป็นไปตามนั้น
ผู้สื่อข่าวยังได้ถามต่อ
ถึงความคืบหน้าในการพูดคุยกับส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี โดยพิธาระบุว่า การเจรจาต่อจากนี้ก็คงไม่ต่างจากที่ทำมา
นั่นคือการเดินหน้าพูดคุยและอธิบายทำความเข้าใจ ก่อนหน้านี้หลายคนอาจเคยมีกำแพง
แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกันก็ปรากฏว่าหลายคนมีความเข้าใจมากขึ้น
และที่สำคัญ
เมื่อถึงเวลาถ้าส.ว.ยังคงยึดหลักการตามปี 2562 ที่ว่าส.ว.มีบรรทัดฐานที่จะสนับสนุนใครก็ตามที่รวบรวมเสียงจากสภาล่างได้เกิน
251 เสียง และในเมื่อพรรคร่วม 8 พรรครวมเสียงกันได้ถึง
312 เสียงก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา
เพราะการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล
แต่เป็นเรื่องบรรทัดฐานและหลักการ ซึ่งถ้าส.ว.ยังคงยึดเอาประชาชนและประเทศเป็นตัวตั้ง
ก็ไม่น่ามีปัญหา
สำหรับการประชุมรัฐสภานัดแรกในวันพรุ่งนี้
(4 ก.ค.) นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือด่วนมาก ที่
สผ 0015/ผ1 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2566 แจ้งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26
เรื่องการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่า
ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2566 ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
เป็นต้นไปแล้วนั้น
ขอเรียนว่า
จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 27 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1
(สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 น. ณ
ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต
กรุงเทพมหานคร จึงเรียนมาเพื่อทราบ
และขอเชิญท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปประชุมตามกำหนดวันและเวลาดังกล่าวข้างต้น
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #เพื่อไทย #ประธานสภา