วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ครช. - กลุ่ม24มิถุนาฯ บุกศาลรธน. จี้ปัดตกคำร้องสอบ "พิธา" - ยุบ "พรรคก้าวไกล" ชี้ ส.ว.คว่ำโหวต "พิธา" เป็นนายกฯ เท่ากับทำลายประชาธิปไตย ชวนแต่งดำพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ฌาปนกิจศพส.ว. พร้อมประกาศศึกองค์กรอิสระ


ครช. - กลุ่ม24มิถุนาฯ บุกศาลรธน. จี้ปัดตกคำร้องสอบ "พิธา" - ยุบ "พรรคก้าวไกล" ชี้ ส.ว.คว่ำโหวต "พิธา" เป็นนายกฯ เท่ากับทำลายประชาธิปไตย ชวนแต่งดำพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ฌาปนกิจศพส.ว. พร้อมประกาศศึกองค์กรอิสระ

 

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) เวลา 11.00 น.ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์​ราชการ​ฯ แจ้งวัฒนะ​ คณะรณรงค์รัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) พร้อมด้วยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ สมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามมาตรา 82 และ รับคำร้องกรณีพรรคก้าวไกลแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองอันจะมีผลต่อการยุบพรรคก้าวไกล

 

ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองร้อยน้ำหวาน หรือตำรวจควบคุมฝูงชนหญิง ได้มีการวางกำลังดูแลพื้นที่บริเวณโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ อาคาร A โดยมีการนำแผงเหล็กมากั้นบริเวณด้านหน้าห่างจากตัวอาคารประมาณ 50 เมตร และมีเจ้าหน้าที่ศาลฯ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน

 

โดยมีการสลับกันปราศรัย และนางสาวธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานสิทธิประชาชน เป็นผู้อ่านแถลงการณ์

 

ด้านนายสมยศ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปกติแล้วหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ภายใน 1 สัปดาห์ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ประเทศไทยผ่านมา 2 เดือนยังคงไม่จบสิ้น เราพบว่ากกต.ใช้เวลาไม่นานในการเร่งรัดพิจารณากรณีการถือหุ้นสื่อ itv ของนายพิธาและส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยวิญญูชนทั้งหลายเข้าใจว่า เป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สุจริตเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย ดังนั้นวันนี้จึงมายื่นหนังสือต่อศาล เพื่อขอให้ไม่รับเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้าหยิบมาพิจารณาจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม จะนำมาซึ่งการทำลายประชาธิปไตย

 

นายสมยศ ยังระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลและการขอยกเลิกมาตรา 112 ของคณะราษฎรนั้นเป็นการใช้กระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลกระทำในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนไทย คณะราษฎรก็เข้าชื่อหมื่นชื่อขอให้แก้ไขตามกฎหมายกำหนด จึงเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวผิดสิทธิของประชาชนก็จะถูกละเมิด บ้านเมืองก็จะหายนะ

 

นายสมยศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษาข้อกฎหมาย และรวบรวมความเห็นในการอภิปรายโหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่มีการหยิบยกเรื่องมาตรา 112 ขึ้นมานั้น เป็นข้ออ้างในการไม่โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ อาจจะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้ประชาธิปไตยหยุดลง ทำให้เสียงข้างมากของรัฐสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ กระบวนการที่ส.ว.กำลังดำเนินการนั้นเป็นการขัดขวางประชาธิปไตย บ่อนทำลายความมั่นคงของประชาธิปไตย ทำให้หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญและสากลนานาประเทศเสียหาย ฉะนั้นจะเห็นว่ากระบวนการล้มล้างการปกครองได้เกิดขึ้นแล้ว แม้กระทั่งในสภาผู้แทนราษฎร ของส.ส โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้อยู่ ระหว่างการรวบรวมเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.จึงอยากให้ส.ส.-สว. ตระหนักถึงประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องทำหน้าที่ปกป้องตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่อ่านกฎหมายและวินิจฉัยไปในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบประชาธิปไตย

 

"ส.ว.ต้องยอมรับผลของการกระทำ การที่มีคนไปกดกริ่งหน้าบ้าน แบนธุรกิจ สิ่งที่เหล่านี้ไม่ใช่การคุกคามหรือไล่ล่าแม่มด แต่เป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธี"

 

โดยช่วงท้ายนายสมยศ ยังได้กล่าวว่าในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ขอให้ทุกคนใส่เสื้อดำไปร่วมกิจกรรมฌาปนกิจศพส.ว. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น. และขอประกาศ ศึกกับองค์กรอิสระ ทั้งกกตและศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้สิทธิ์ในการชุมนุม นำเสนอความคิดเห็นของประชาชน ไม่ปล่อยให้องค์กรเหล่านี้ทำตามอำเภอใจเพื่อตอบสนองต่อเผด็จการ ย้ำว่านี่เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่จะผลักดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยไม่ปล่อยให้ 8 พรรคการเมืองดำเนินการต่อฝ่ายเดียวและขอเรียกร้องให้ 8 พรรคการเมืองเหนียวแน่นยืนหยัดไปด้วยกันเพื่อกำจัดอำนาจเผด็จการ และเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ศาลรัฐธรรมนูญ