สส.สระบุรีพรรคประชาชน
จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาน้ำเสียไหลเข้าระบบประปาเทศบาล ประชาชนเดือดร้อนกว่า 6 หมื่นคน
วันที่
6 พฤศจิกายน 2567 สรพัช ศรีปราชญ์ สส.สระบุรี เขต 1
พรรคประชาชน
เปิดเผยถึงปัญหาน้ำเน่าเสียซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนจังหวัดสระบุรีขณะนี้ว่า
น้ำเน่าเสียเริ่มจากคลองห้วยเกตุ ในพื้นที่ ต.กุดนกเปล้า ต.หนองปลาไหล อ.เมือง
ผู้อยู่อาศัยริมคลองได้รับกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรงจนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้
โดยปัจจุบันน้ำเน่าเสียไหลลงอ่างเก็บน้ำคลองเพรียว จึงเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากน้ำจากอ่างเก็บน้ำนี้จะถูกปล่อยไปยัง
2 ทาง คือ (1) คลองชลประทาน
เป็นน้ำที่ส่งต่อเกษตรกร ตอนนี้เริ่มส่งกลิ่นและมีสีดำขุ่น (2) แม่น้ำป่าสัก เป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของเทศบาลเมืองสระบุรี
สิ่งที่เกิดขึ้นคือจุดปล่อยน้ำของอ่างเก็บน้ำคลองเพรียวลงสู่แม่น้ำป่าสัก
อยู่ตรงกันกับจุดสูบน้ำดิบที่จะมาทำน้ำประปาของเทศบาลเมืองสระบุรี
ทำให้น้ำที่สูบขึ้นมาปนเปื้อนน้ำเสียและเข้าไปอยู่ในระบบน้ำประปา
ประชาชนที่ใช้น้ำประปาจากเทศบาลเมืองสระบุรีกว่า 6 หมื่นคน
เกิดผื่นคันผื่นแพ้
แม้ปัจจุบันเทศบาลเมืองสระบุรีได้ดำเนินการแก้ไขเบื้องต้นเรื่องการผลิตน้ำประปาแล้ว
โดยปิดการจ่ายน้ำให้ประชาชนในช่วงเวลา 21:00 น.
เพื่อบำรุงรักษาระบบการจ่ายน้ำ เปิดใช้บริการอีกครั้งช่วง 3:00-4:00 น.
แต่วิธีนี้ก็กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนเพราะจำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ใช้
ที่ผ่านมา
ตนได้ติดตามการแก้ปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดมาแล้วหลายครั้ง
รวมถึงใช้กลไกสภาฯ เช่น ปรึกษาหารือ 3 ครั้ง, นำเรื่องเข้า
กมธ.สาธารณสุข, ยื่นหนังสือต่อ กมธ.ที่ดินฯ
และล่าสุดยื่นกระทู้ในสภาฯ รอบรรจุเข้าวาระ
โดยก่อนหน้านี้
กมธ.สาธารณสุข ลงพื้นที่และประชุมร่วมกับทางจังหวัดสระบุรี
สรุปได้ว่าจังหวัดจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ
มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงผู้แทนจากภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการระยะสั้นหรือเฉพาะหน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนออกมาเพิ่มเติม
สรพัชกล่าวว่า
ข้อเสนอของตนเพื่อแก้ไขปัญหา
ในระยะเร่งด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาสาเหตุของปัญหาน้ำเน่าเสียและเข้าไปตรวจสอบ
ชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างตรงไปตรงมา หากสาเหตุมาจากโรงงานอุตสาหกรรม
ต้องให้โรงงานอุตสาหกรรมจัดทำแผนการบำบัดน้ำเสีย และต้องมีวิศวกรสิ่งแวดล้อมระดับสามัญวิศวกรเซ็นรับรอง
แต่หากเกิดจากน้ำเสียชุมชน
ต้องให้ท้องถิ่นสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง ก่อนปล่อยลงคลอง
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว
โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษทั้งทางน้ำและทางอากาศ
ตามข้อเสนอในร่างกฎหมายรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
หรือกฎหมาย PRTR
ของพรรคประชาชนที่ขณะนี้บรรจุวาระในสภาฯ แล้ว
กำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมทุกหน่วยงานและต้องมีผู้แทนประชาชนร่วมเป็นกรรมการ
เพื่อยกระดับการควบคุมน้ำเน่าเสียระดับจังหวัด
และรัฐบาลต้องยกระดับนโยบายรัฐเรื่องการบำบัดน้ำเสียชุมชน
ให้เป็นวาระหลักด้านสิ่งแวดล้อม