วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รมว.กต.ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน - ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน – ชี้ MOU44 เป็นกลไกทำให้การเจรจาไทยกับกัมพูชาเดินหน้าได้

 


รมว.กต.ยืนยันผลการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา ประชาชนไทยต้องเห็นชอบก่อน - ย้ำผลประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน – ชี้ MOU44 เป็นกลไกทำให้การเจรจาไทยกับกัมพูชาเดินหน้าได้


วันที่ 6 พฤศจิกายร 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงความกังวลเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยกับกัมพูชาในบริเวณอ่าวไทยว่า ผลการเจรจา หากจะสำเร็จ และยุติได้ จะต้องเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย รัฐสภาของทั้งสองประเทศ จะต้องให้ความเห็นชอบ ผ่านการเสนอจากคณะรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า เห็นชอบกับผลการเจรจาหรือไม่ และข้อตกลงจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น จึงเป็นไปไม้ได้ ที่จะให้มีการเจรจาเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง


ส่วนการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ยังไม่สามารถกระทำได้จนกว่าการเจรจาดังกล่าวจะมีข้อยุติ โดยผลการเจรจาจะต้องเป็นที่ยอมรับได้ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่ง MOU44 กำหนดให้จะต้องเจรจา 2 เรื่องทั้ง "เขตทางทะเล" และ "การพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน" ไปพร้อม ๆ กันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้ พร้อมยืนยันว่า หากการเจรจาสำเร็จ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดต้องเป็นประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนคนไทย ที่จะมีเขตทางทะเลที่ชัดเจนกับประเทศเพื่อนบ้าน และได้ใช้พลังงานที่มีราคาถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ


นายมาริษ กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิก MOU44 เพราะถือเป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา และทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดนว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิในไหล่ทวีปของกัมพูชา และไม่ได้ทำให้ไทยเสียดินแดนใด ๆ เพราะเกาะกูดอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะสาระสำคัญ ใน MOU44 เป็นเพียงการตกลงร่วมกัน “เพื่อที่จะเจรจาเท่านั้น” โดยแผนผังแนบท้าย เป็นเพียง “ภาพประกอบของพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปของแต่ละประเทศ” ซึ่งเส้นอ้างสิทธิในข้อตกลงนี้ ไม่ใช่เส้นเขตทางทะเล ตามที่มีการเข้าใจผิดแต่อย่างใด 


นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า การคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะข้อตกลงนี้ทำให้ ทั้งสองฝ่าย มีพันธกรณีที่จะต้องมาเจรจากัน ทั้งในเรื่อง "เขตทางทะเล" และ "พื้นที่พัฒนาร่วม" ไปพร้อม ๆ กัน


ส่วนกรณีที่รัฐบาลเมื่อปี 2552 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ยกเลิก MOU44 โดยให้ไปศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบก่อนนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี และรัฐสภานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ในกระบวนการศึกษาข้อมูลดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมหารือ และรับฟังข้อคิดเห็นจากคณะที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านกฎหมาย จนได้ข้อสรุป เสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีในปี 2557 ว่า การคง MOU44 ไว้ เป็นผลดีมากกว่าเสีย และที่สำคัญการมีเขตทางทะเลที่ชัดเจน จะนำไปสู่การเจรจาการใช้ประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน


"ขอให้เชื่อมั่นว่า การเจรจาจะคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง โดยยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพสูงสุด" นายมาริษ ยืนยัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #MOU44 #ไทยกัมพูชา

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

'ณัฐพงษ์' ชี้ ปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่ “สัมปทาน” ถามรัฐบาล 2 ข้อ ปมแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA

 


'ณัฐพงษ์' ชี้ ปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่ “สัมปทาน” ถามรัฐบาล 2 ข้อ ปมแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA


เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่ “สัมปทาน”


กรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญถึงความพยายามในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ เป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล และรัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ


ผมอยากชี้ชวนพี่น้องประชาชนให้เห็นถึงประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ว่ามีมากกว่าเรื่องเกาะกูด และการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาที่เป็นที่สนใจกันอยู่


เราเสี่ยงที่จะเสียอธิปไตยเหนือเกาะกูด จากการเจรจา OCA และการพยายามเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA หรือไม่?


ประเด็นนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไทยไม่เคยลงนามใดๆ ที่มีผลผูกพันยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนที่กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด และ MOU ปี 2544 อันเป็นการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เป็นเพียงความตกลงกำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน และ “รับทราบ” การลากเส้นอาณาเขตทางทะเลของแต่ละฝ่าย ไทยรับทราบจุดยืนกัมพูชา กัมพูชารับทราบจุดยืนของไทย ว่ามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่การที่ไทย “ยอมรับ” เส้นอาณาเขตทางทะเลที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์แต่อย่างใด


ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าเกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างหรือมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของเกาะกูดแต่อย่างใด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นแน่นอน


แต่เรื่องน่ากังวลที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ก็คือการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA อันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล


ดังนั้น ผมข้อตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ดังนี้


1. หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่


2. หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา


ผมยืนยันว่าพรรคประชาชนสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนผ่านที่โลกจะเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์ แต่เราต้องการให้ทรัพยากรอันเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย ถูกจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนทั้งชาติ


ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่ OCA เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือมีการแถลงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #เกาะกูด #OCA

“ทวี” เผย “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ไม่เคยออกจาก รพ.ตร. แม้แต่นาทีเดียว


“ทวี” เผย “อดีตนายกฯ ทักษิณ” ไม่เคยออกจาก รพ.ตร. แม้แต่นาทีเดียว


วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ก่อนเข้าประชุม ครม. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ขอเวชระเบียน การรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในส่วนของกรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงยุติธรรม มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ว่า กรมราชทัณฑ์ยินดีให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. มีการสอบสวนหลายรอบ อาจจะมีเรื่องที่ร้องเข้ามาใหม่ เราปฏิบัติตามกฎหมาย


พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า สื่อสังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เรือนจำ ความหมายคือ ตัวสถานที่เรือนจำ 437 แห่ง /กฎกระทรวงในมีกฎหมายคือโรงพยาบาล /เป็นที่คุมขังอื่น อยู่ในเจตนารมย์ของกฎหมายที่แก้ในสมัย คสช. เพื่อลดปัญหาความแออัดในเรือนจำอย่างไรให้พัฒนา และในตัวโรงพยาบาลการคุมขังตามคำสั่งศาล เพื่อไม่ให้หลบหนีและก่อเหตุร้าย การอยู่ที่ไหนก็ต้องมีหลักเกณฑ์ มีกฎหมาย ในทางปฏิบัติเราก็ต้องปฏิบัติให้เหมือนในเรือนจำ เชื่อว่ากรมราชทัณฑ์จะส่งหลักฐานไปให้ นายทักษิณ อยู่ครบ ไม่มีสักนาทีเดียวที่ออกมาข้างนอก นายทักษิณก็อยู่แต่ในโรงพยาบาล ไม่สามารถออกจากห้องได้


สำหรับข้อสงสัยที่ว่า โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ ก็มีแต่ทำไมถึงเลือกไปที่โรงบาลตำรวจ พ.ต.อ.ทวี เผยว่า ปี 67 มีการออกไปรักษาโรงพยาบาลข้างนอก 70,000 คน แม้แต่กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหนังสือมา ผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกไม่มีความผิด แต่กรรมการสิทธิ์บอกละเมิดสิทธิ์ โดยทางกฎหมายหากหน่วยงาน องค์กรอิสระรับไว้สอบสวน อีกองค์กรหนึ่งก็ไม่ควรเห็นต่าง ทุกอย่างในเอกสาร เราให้ความยินดีให้ความร่วมมือและพร้อมจะชี้แจง


ส่วนการอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม เกี่ยวกับกรมราชทัณฑ์หรือไม่นั้น การเยี่ยมก็อยู่ในระเบียบ กรมราชทัณฑ์ก็ชี้แจงแล้ว เรามีเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถขอหลักฐานได้ คำพูดของคนเปลี่ยนแปลงได้แต่หลักฐานเป็นสิ่งสำคัญ เราปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่ากฎหมายไม่ถูกต้องก็ควรไปแก้ ไม่ควรทำนอกเหนือกฎหมาย


เมื่อถามย้ำว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ไปเยี่ยม นายทักษิณ พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ไม่ได้รับรายงาน เพราะเป็นเรื่องกรมราชทัณฑ์


สำหรับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน กับคณะกรรมการสิทธิไม่ตรงกัน จะเป็นช่องโหว่ในการชี้แจงหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี เผยว่า ผู้การแผ่นดินก็สอบอย่างละเอียด แต่ที่กรมราชทัณฑ์ดูกรรมการสิทธิ์ไม่ได้สอบความเห็น แต่ผู้จัดการแผ่นดินมีการสอบพยาน ซึ่งรายงานก็บ่งชี้ว่ามีการเข้าพบ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทักษิณชินวัตร #ปปช #รพตำรวจ

'ทนายจูน' เปิดตัว Engage Thailand อย่างเป็นทางการ มุ่งเสริมสร้างประชาธิปไตยและสิทธิ มนุษยชนไทยในระดับนานาชาติ โดยการสร้างความตระหนักรู้ ระดมแรงสนับสนุนคนไทย ในต่างแดน และการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรนานาชาติ

 


'ทนายจูน' เปิดตัว Engage Thailand อย่างเป็นทางการ มุ่งเสริมสร้างประชาธิปไตยและสิทธิ มนุษยชนไทยในระดับนานาชาติ โดยการสร้างความตระหนักรู้ ระดมแรงสนับสนุนคนไทย ในต่างแดน และการสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรนานาชาติ


วานนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) (เวลาไทย) มีการเปิดตัว Engage Thailand โดยจัดขึ้นเมื่อ ผ่านช่องทางออน์ไลน์ Engage Thailand จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใน สหรัฐอเมริกา และก่อตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไทย จากต่างประเทศ โดยองค์กรมีเป้าหมายงานสามด้าน ได้แก่ การพัฒนาความรับรู้เกี่ยวกับ ประชาธิปไตยไทยในระดับนานาชาติ การระดมแรงคนไทยในต่างแดน และการสร้าง ความสัมพันธ์กับองค์กรนานาชาติเพื่อหาทรัพยากรส่งต่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย


ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ “ทนายจูน” ผู้ก่อตั้ง Engage Thailand เน้นย้ำถึงศักยภาพของคนไทยในต่างแดน หลายคนย้ายไปอยู่ต่างประเทศด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ก็ยังต้องการสนับสนุน และช่วยเหลือคนในประเทศไทย แคมเปญแรกของ Engage Thailand จึงเปิดโอกาสให้คนไทย ในต่างแดนและผู้สนับสนุนชาวต่างชาติสามารถให้ความช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อนักโทษทางการเมือง ซึ่งต้องเผชิญสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่


Engage Thailand สนับสนุน Freedom Bridge ด้วยการช่วยระดมเงินทุนสำหรับของใช้จำเป็น อาหาร และเงินฝากประจำสำหรับผู้ต้องขัง และสำหรับดูแลสมาชิกครอบครัวที่เป็นเด็กและที่มีโรคประจำตัว

.

Engage Thailand ก่อตั้งโดย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ญาณิศา วรารักษพงศ์ นักศึกษาและผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้ามาทำงานในฐานะหัวหน้าฝ่ายสร้างการมีส่วนร่วม Engage Thailand มีคณะกรรมการบริหารนำโดย อาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น เป็นประธาน อาจารย์ ไทเรลเป็นศาตราจารย์แห่งอุษาคเนย์ศึกษา ณ University of Wisconsin-Madison และเป็นผู้ประสานงานให้กับ Justice in Southeast Asia Lab (JSEALab) ส่วนกรรมการอื่น ๆ เป็นนักต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมที่มากประสบการณ์และเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรระหว่าง ประเทศ เช่น คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)


สำหรับงานเปิดตัว เริ่มต้นด้วยปาถกฐาหัวข้อ “เสียงของผู้ต้องขัง: เปิดเผยความอยุติธรรมใน ประเทศไทย” โดย อาจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ตามด้วยการนำเสนอหัวข้อ “Engage Thailand คืออะไร?" โดย ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หลังจากการนำเสนอ ศิริกาญจน์ยังนำวงสนทนาหัวข้อ “การ Engage กับประชาธิปไตยและนักโทษทางการเมืองไทย” ร่วมกับ ญาณิศา วรารักษพงศ์ ,ปฐมพร แก้วหนู เจ้าหน้าที่โครงการ Freedom Bridge และครอบครัวนักโทษทางการเมือง ทนายอานนท์ นำภา และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการบริหาร iLaw ปิดท้ายด้วยช่วง ถาม-ตอบกับผู้ร่วมงาน


ผู้สนับสนุนสามารถติดตาม Engage Thailand ผ่านอินสตาแกรม @engagethailand เลือกรับ จดหมายข่าวขององค์กรผ่านอีเมล และสามารถบริจาคเงินหรือเลือกบริจาคประจำทุกเดือน แบบอัตโนมัติได้ทาง engagethailand.org. ผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาสามารถนำเงินบริจาคมา ลดหย่อนภาษีได้ตาม มาตรา 170 ตามประมวลกฎหมายภาษีอากร


สำหรับข้อมูลอื่น ๆ กรุณาเข้าเว็บไซต์ engagethailand.org หรือติดต่อทีมงานทาง team@engagethailand.org

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #Engagethailand



”ภูมิธรรม“ มอง MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อนกลุ่มการเมือง พปชร.ไปถาม หัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเป็นคนนำเจรจาในปี 57 ยันไม่เคยยกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำรัฐบาลจะรักษาดินแดน-ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

 


”ภูมิธรรม“ มอง MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อนกลุ่มการเมือง พปชร.ไปถาม หัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเป็นคนนำเจรจาในปี 57 ยันไม่เคยยกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำรัฐบาลจะรักษาดินแดน-ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต


วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การนำรายชื่อ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือ Joint Technical Committee: JTC เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งโดยทั่วไปคนที่เป็นประธานคณะกรรมการJTC จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยมีองค์ประกอบเป็นกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการคลังการ, กระทรวงพลังงาน และมีตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมเอเชีย และคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่คณะกรรมการชุดใหม่ ตนยังไม่ทราบว่าใครเป็นประธาน


ส่วนที่เมื่อวานนี้นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากยกเลิก MOU 44 จะทำให้ไทยเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรมอธิบายว่า เรื่อง MOU44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ซึ่งตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพื้นที่เสียมราฐ, พระตะบอง และสีโสภณ แต่ได้ยกชายฝั่งด้านจังหวัดตราด และเกาะต่าง ๆ ให้ไทย ดังนั้นตามสนธิสัญญานี้ ตอนหลังก็กลายมาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชา ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้น ไม่เคยการเปลี่ยนแปลง และกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ ดังนั้นประเด็นที่จะยกเกาะกูดให้ไม่เป็นเรื่องจริง และไม่เกี่ยวกับ MOU ยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศแล้วว่า จะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป จะรักษาไว้เท่าชีวิต ขณะที่เกาะกูดก็มีส่วนราชการอยู่ที่นั่น และมีกองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเส้นเขตแดนก็อยู่ จึงขอให้ยุติเรื่องนี้ เพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง


ส่วน MOU เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ปี 2515 ทางกัมพูชาประกาศมาใกล้เขตแดนเรา ต่อมาปี 2516 ไทยก็ประกาศไปใกล้เขตแดนของกัมพูชา จึงทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ ก็ต้องมีการทำMOU ขึ้นมาเพื่อเจรจาว่า การแบ่งเขตดินแดนในทะเลของใคร หากเข้าใจเรื่องนี้ก็จะไม่สับสน และเที่ยวตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้นเรื่องMOU 44 เป็นเรื่องของไทย และกัมพูชาต่างต้องเจรจากัน ถ้าเราจะยกเลิกอันนี้ แปลว่าเราไม่รักษาสิทธิ ในเขตแดนเรา เพราะต่างคนต่างประกาศ และกฎหมายทางทะเล ระบุว่า ผลประโยชน์ส่วนนี้มาเจรจากัน อะไรก็ตามถ้าจะแบ่งกัน ต้องคำนึงถึงเส้นเขตแดน ที่เป็นดินแดนของแต่ละฝ่าย ดังนั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะไปยกเลิก ซึ่งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศก็เคยเสนอ ให้รัฐบาลพิจารณา MOU44 แต่ตอนนั้นก็มีแรงกดดันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องประสาทเขาพระวิหาร และเรื่องชายแดน โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ได้รับหลักการ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ทำเรื่องเสนอความเห็นจากสภาความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่า MOU เป็นกลไกที่ดีที่สุด ดังนั้นกระแสข่าวว่า ถูกยกเลิกในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์นั้นไม่เป็นความจริง และต่อมาในปี 2557 ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ก็ดำเนินการต่อ โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ไปเจรจา ดังนั้นพรรคการเมืองหรือส่วนไหนที่มาพูดเรื่องนี้ ต้องกลับไปดูประวัติประวัติศาสตร์ ดูสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส และขออย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และเมื่อวานกรมสนธิสัญญาก็ได้ยืนยันแล้ว ถ้าถามว่าอะไรนอกเหนือจากกรอบนี้ตนคิดว่าต้องไปหาคำตอบกันเอง รัฐบาลก็ยืนยันในสิ่งที่เกิดขึ้น และประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบคำถามอีกแล้ว


เมื่อถามว่า มองประเด็นจากกลุ่มการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากในปี 2557 พลเอกประวิตร ก็เป็นผู้ไปเจรจาเรื่องนี้  นายภูมิธรรม ถึงกับเอ่ยว่า “นั่นนะสิ” พร้อมกล่าวว่า กลุ่มการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ต้องกลับไปดู เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐก็เป็นตัวแทนไปเจรจาเรื่องนี้ ตามกรอบทั้งหมดเหมือนกัน ตนคิดว่าก็ไม่ต้องถามแล้ว ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา


เมื่อถามว่าเป็นเพราะความสัมพันธ์ของนายทักษิณ กับกัมพูชา ทำให้เรื่องนี้เกิดเป็นประเด็น และถูกนำมาโจมตี นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีจะเป็นประเด็นไหน ต้องไปถามจากคนที่โจมตี ตนคิดว่าต้อง ยืนยันบนข้อเท็จจริงต่อไปก็เหมือนไปขยายความความขัดแย้ง เรื่อง MOU44 เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ไม่ใช่ความขัดแย้งภายใน พร้อมยืนยันต่อว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน ดังนั้นถามไปก็เท่ากับทำให้ภายในแตกแยก แล้วกระทบถึงความสัมพันธ์ จึงขอให้สื่อมวลชนเข้าใจ ถ้ามีประเด็นนอกเหนือจากนี้ก็ไม่ต้องสนใจ ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงดีกว่า วันนี้ขอดูว่าจะต่อรองได้อย่างไร ผลประโยชน์ทางทะเลที่จะแบ่งกันอย่างไร เรื่องนี้ถูกจุดขึ้นมาโดยยังไม่มีข้อดำเนินการอะไรเลย เพียงแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ พร้อมยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ต้องรักษาผลประโยชน์ทางทะเล โดยใช้กฎหมายทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศดำเนินการ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #MOU44

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จม.แดน 4 ‘อานนท์’ เขียน เมื่อลมหนาวแรกของปีพัดมา การต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว บางอย่างจบลง บางอย่างดำรงอยู่ และมีบางอย่างเริ่มก่อตัว! บอกลูก ทนายกำลังยื่นประกันตัวพ่ออีกครั้งหนึ่ง

 


จม.แดน 4 ‘อานนท์’ เขียน เมื่อลมหนาวแรกของปีพัดมา การต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว บางอย่างจบลง บางอย่างดำรงอยู่ และมีบางอย่างเริ่มก่อตัว! บอกลูก ทนายกำลังยื่นประกันตัวพ่ออีกครั้งหนึ่ง


วันนี้ (4 พ.ย. 67) เพจเฟสบุ๊ค “อานนท์ นำภา” โพส ข้อความพร้อมจดหมายโดยมีใจความว่า


และแล้ว ลมหนาวแรกของปีก็พัดมา…


4 พฤศจิกายน 2567 ถึง ปราณ ขาล และลูกหว้าที่รัก


อยากให้ลูกหว้าช่วยซื้อเสื้อแขนยาวฝากให้ผู้ต้องขังทางการเมืองสักคนละตัว ผ้าห่มผืนบางถ้าได้สวมเสื้อแขนยาวจะได้นอนหลับอุ่นขึ้น การได้นอนหลับอุ่นๆ อ่านหนังสือ เขียนจดหมาย และ คิดถึงครอบครัว ญาติมิตร เป็นความสุขอย่างหนึ่งของพวกเราในเรือนจำ


ทนายความของพ่อแจ้งว่าจะยื่นประกันตัวอีกครั้งกลางสัปดาห์นี้โดยจะอ้างอิงถึงรายงานของกรรมาธิการนิรโทษกรรม ทุกครั้งที่ยื่นย่อมมีความหวัง อย่างน้อยก็คือเจ้าปราณและขาลแต่การเรียนรู้ที่จะผิดหวัง ก็จำเป็น และ เป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเธอทั้งสองในอนาคตเมื่อเติบใหญ่ ชีวิตคนเราก็เท่านี้ มีสุข-เศร้า มีสมหวัง-ผิดหวัง กอปรกันเป็นชีวิต


สำหรับพ่อ การได้ร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับมิตรสหายเป็นความสุขใจอย่างยิ่ง แน่นอนว่าย่อมมีทั้งสมหวัง-ผิดหวัง ปนเปกันไป ยังจำภาพที่พวกเราดื่มกิน ปรึกษาหารือและร่วมชุมนุมในทุกๆที ทุกเหตุการณ์ได้อย่างแม่นยำ แค่คิดถึงก็มีพลังใจ แค่คิดถึงยิ่งตอกย้ำว่าเรามาที่นี่ทำไม ทราบข่าวเพื่อนๆหลายคนต้องระหกระเหินเดินทางไกล พ่อได้แต่เอาใจช่วยและคิดถึง พวกเขาอยู่ดังเดิม


วันนี้ เมื่อลมหนาวแรกพัดมาแล้ว การต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้ว บางอย่างจบลง บางอย่างดำรงอยู่และมีบางอย่างเริ่มก่อตัว!


“การต่อสู้ภายในจิตใจ” ภาวะเช่นนี้กำลังก่อตัวตามเข็มนาฬิกาหมุนไป เป็นความท้าทาย เป็นความแหลมคม และเป็นบททดสอบที่จำเป็นต้องสอบให้ผ่าน แน่นอนว่าผู้ออกข้อสอบย่อมสอบผ่านอย่างมิต้องสงสัย ขอลมหนาวเป็นพยาน!


สำหรับ อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ในคดี #มาตรา112 คดีแรก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เหตุจากการขึ้นปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63


จากนั้น 17 ม.ค. 67 ศาลอาญาสั่งจำคุก "อานนท์ นำภา" เพิ่มอีก 4 ปี จากคดีมาตรา 112 (เป็นคดีที่ 2) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กปี 2564 โดยให้บวกโทษเก่าอีก 4 ปี ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวมแล้ว 8 ปี


ต่อมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท


ต่อมา 25 ก.ค. 67 ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาในคดี #ม112 คดีที่ 4 ของ “อานนท์ นำภา” เหตุโพสต์ 2 ข้อความบนเฟซบุ๊ก ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 2564 วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัชกาลที่ 10


ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1), (3) ให้ลงโทษฐาน 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี


ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ไม่รอการลงโทษ


ทั้งนี้หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี ทำให้อานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวม 14 ปี 20 วัน และยังมีโทษในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา2563 ที่ถูกจำคุกอีก 2 เดือน รวมเป็น 14 ปี 2 เดือน 20 วัน


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม #อานนท์นำภา #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน

ปล่อยตัว “4 เสื้อแดง” คดียิง M79 ใส่ กปปส. ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เจ้าตัวขอบคุณทุกคน บอกมีความสุขมาก ๆ หลังถูกจองจำ 10 ปี 3 เดือน

 


ปล่อยตัว “4 เสื้อแดง” คดียิง M79 ใส่ กปปส. ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เจ้าตัวขอบคุณทุกคน บอกมีความสุขมาก ๆ หลังถูกจองจำ 10 ปี 3 เดือน 


เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 เวลา 15.56 น. ที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี นายชัชวาล หรือชัช ปราบบำรุง , นายสมศรี มาฤทธิ์ นายสุนทร ผิผ่วนนอก อายุ 52 ปี และนายทวีชัย วิชาคำ อดีตคนเสื้อแดง และ อดีตผู้ต้องหา คดียิงลูกกระสุนระเบิด เอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คดีหมายเลขดำ อ.3734/2557 โดยเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ เรือนจำกลางบางขวาง ได้ปล่อยตัวอดีตผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ภายหลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อายัดตัวไปจากหมายคดีเก่าที่ยกฟ้องไป แล้วจึงต้องไปทำเรื่องลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองนนทบุรี และ สภ.รัตนาธิเบศร์


นายทวีชัย วิชาคำ เปิดเผยว่า วันนี้พวกตนมีความสุขมาก ๆ ที่ได้มาเจอลูกหลาน ภายหลังจากมีการพระราชทานอภัยโทษ ตนรู้สึกดีใจมาก ๆ สำหรับอิสรภาพ ที่ถูกจองจำนาน 10 ปี 3 เดือน ตนขอขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจและไม่ลืมกัน ซึ่งภายหลังการรัฐประหารปี 2557 พวกตนถูกจับกุมในข้อหาใช้อาวุธสงคราม ซึ่งศาลตัดสินพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต 


นายชัชวาล หรือชัช ปราบบำรุง กล่าวว่า ตนขอขอบคุณสำหรับกำลังใจจากพี่น้องประชาชนที่อยู่เบื้องหลังทุกคน คดีของตนมีความพิเศษกว่าใคร ตนถูกดำเนินทั้งหมด 16 คดี มียกฟ้องไปแล้ว 14 คดี วันนี้ตนได้อิสรภาพแล้ว ก็ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้กำลังใจเสมอมา 


นายชัชวาล เปิดเผยด้วยว่า ช่วงที่ตนถูกจับกุมที่จังหวัดเชียงราย ช่วงนั้นมีการประกาศกฎอัยการศึก และ จนท. นำตัวตนไปที่ค่ายทหาร หลังจากนั้นถูกซ้อมทรมาน ใช้สายไฟเสียบรูทวาร เพื่อให้ตนรับสารภาพ และนำตัวมาส่งที่กรมทหารราบที่ 11 


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศที่ หน้าสถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์ได้มีลูกหลานมารอต้อนรับและให้กำลังใจอย่างอบอุ่น 


สำหรับคดีดังกล่าว คดีหมายเลขดำ อ.3734/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชัชวาล หรือชัช ปราบบำรุง อายุ 48 ปี , นายสมศรี มาฤทธิ์ อายุ 43 ปี , นายสุนทร ผิผ่วนนอก อายุ 52 ปี และนายทวีชัย วิชาคำ อายุ 42 ปี เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดต่อชีวิตฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , ทำร้ายร่างกาย , พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 และความผิด ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 หลักฐานที่จำเลย นำสืบมา ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่ มีความผิดตามฟ้อง ให้ประหารชีวิตสถานเดียว แต่คำให้การของจำเลย เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ไว้ตลอดชีวิต และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนผู้บาดเจ็บ 534,700 บาท ด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์

“พริษฐ์” เผย ‘ปชน.-พท’ เห็นตรงกันนานแล้ว ทำประชาชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้งพอ รอตอบรับกลับ หลังส่งหนังสือหารือนายกฯ - ปธ.สภา - ศาลรธน. ไม่กังวลผลโพลคะแนนฝ่ายค้านลด เปรียบ ‘เตะบอล’ ต้องรอจบ 90 นาที ประชนชนผู้ตัดสิน

 


พริษฐ์” เผย ‘ปชน.-พท’ เห็นตรงกันนานแล้ว ทำประชาชามติแก้รัฐธรรมนูญ 2 ครั้งพอ รอตอบรับกลับ หลังส่งหนังสือหารือนายกฯ - ปธ.สภา - ศาลรธน. ไม่กังวลผลโพลคะแนนฝ่ายค้านลด เปรียบ ‘เตะบอล’ ต้องรอจบ 90 นาที ประชนชนผู้ตัดสิน


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 พ.ย.2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคเพื่อไทยตอบรับเรื่องการทำประชามติ 2 ครั้งว่า เรื่องจำนวนของการทำประชามติ พรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย เห็นตรงกันมานานแล้ว ในเชิงความจำเป็นของกฎหมายว่า 2 ครั้งพอ


แต่ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล พยายามจะใช้การยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายความให้เกิดความชัดเจนขึ้นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 หมายถึงจำนวนการทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง พอศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่อง ทำให้ประธานสภาฯ มองว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ส่งผลให้ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ศ.ร.) ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่ยื่นไปเมื่อต้นปี


ดังนั้น ตนมองว่าจุดยืนของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนสอดคล้องกันมาตลอด แต่มาถึงวันนี้ เราก็ต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร ให้แผนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาศัยการทำประชามติ 3 ครั้ง เกิดขึ้นได้จริง


นายพริษฐ์ มองว่า ยังมี 3 ล็อกหรือ 3 บุคคลสำคัญที่ต้องเข้าไปหารือ คือ 1.ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้บรรจุร่างดังกล่าวลงระเบียบวาระ 2.นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เพื่อทำให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบ โดยไม่นำคำวินิจฉัย 4/2564 มาเป็นข้ออ้างในการลงมติไม่เห็นชอบ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ขยายความให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน และเดินตามแนวทางดังกล่าว


ทั้งนี้ ได้ส่งหนังสือ เพื่อขอเข้าพบกับ 3 บุคคลดังกล่าวแล้ว เนื่องจากวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ทันกับการเลือกตั้งครั้งถัดไป ไม่เพียงแต่เป็นวาระที่ทั้งพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน เคยออกมาประกาศว่าเห็นตรงกัน แต่ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้กับประชาชนเช่นกัน เราก็อยากจะเห็นเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ


เมื่อถามถึงการทำหนังสือที่ส่งไป มีการตอบรับมาแล้วหรือยัง นายพริษฐ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการตอบรับกลับมา เนื่องจากเราส่งไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว แต่เมื่อติดตามการให้สัมภาษณ์ของบุคคลในพรรคเพื่อไทยเรื่องนี้ ก็ฟังดูเป็นนิมิตรหมายที่ดี ว่า พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาล น่าจะพร้อมหารือ หาทางออกเรื่องนี้ร่วมกับเรา รอคำตอบจากทั้ง 3 ท่าน


เมื่อถามถึงความมั่นใจในการทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ถูกหยิบยกไปอ้างในการร้องศาลภายหลัง นายพริษฐ์ กล่าวว่า การพบ 3 บุคคลดังกล่าว จึงมีความสำคัญ หรือเป็นตัวแปรสำคัญมากที่เราจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป


เมื่อถามว่า หากให้ประเมินผลงานตัวเองที่ผ่านมา เต็มสิบให้เท่าไหร่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คนที่ให้คะแนนฝ่ายการเมืองได้ดีที่สุด คงไม่ใช่พวกเราเอง แต่คือประชาชน


ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพจำของกฎหมายที่ผ่านสภา ซึ่งมักจะเป็นกฎหมายที่พรรครัฐบาลเห็นด้วย จะสามารถนับว่าเป็นผลงานของฝ่ายค้านได้อย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าเมื่อเราเป็นฝ่ายค้าน เรามีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ถ้าสภาจะเห็นชอบ ต้องมี สส.ฝ่ายรัฐบาลเห็นชอบด้วย ยืนยันว่าไม่ได้มีความกังวลใจ ถ้าภาพจำจะเป็นผลงานของรัฐบาล เพราะหากย้อนไปตั้งแต่การก่อตั้งพรรคประชาชน รวมถึงพรรคก้าวไกล ที่ตั้งใจจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงสมัยที่พรรคประชาชนไม่ได้เป็นรัฐบาล เราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศ ที่แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้พรรคประชาชนเป็นรัฐบาล พรรคประชาชนก็สามารถพยายามผลักดันและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปก่อนได้


ส่วนผลโพลที่คะแนนฝ่ายค้านลดลง มองว่ามีนัยสำคัญอย่างไร และจะมีการปรับเกมอย่างไรบ้างนั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ผลโพลทุกสำนักเป็นข้อมูลประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่ต้องดูในรายละเอียดว่าเป็นผลโพลของสำนักไหน มีวิธีการถามคำถามอย่างไร และถามกับใคร ซึ่งทั้งหมดก็เป็นประโยชน์


ท้ายที่สุด ผลงานของเรา ประชาชนจะพิพากษาอย่างไร ก็จะจบที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป หากเปรียบเหมือนเกมฟุตบอล ก็เป็นข้อมูลที่อาจจะช่วยให้เราสามารถปรับเกมระหว่างการแข่งขันได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคะแนนตอนจบเกมการแข่งขัน 90 นาที” โฆษกพรรคประชาชน ระบุ


เมื่อถามว่า ในการเมืองก่อนปิดสภา ซึ่งพรรคประชาชนอาจถูกมองว่าเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ค้านไม่จริง เนื่องจากเคยเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยมาก่อน ทำให้การตรวจสอบไม่เต็มที่ นายพริษฐ์ กล่าวยืนยันว่า ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เราในฐแกนนำพรรคฝ่ายค้านใช้กลไกของสภาอย่างเต็มที่ ในการตรวจสอบรัฐบาลทุกเรื่องที่สังคมคาใจส่วนเรื่องข้อเท็จจริงที่คงปฏิเสธไม่ได้ คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเคยอยู่ในซีกพรรคฝ่ายค้านร่วมกัน แต่ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลในปี 66 เป็นต้นมา เมื่ออยู่คนละขั้วกัน เราก็ทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบ ไม่มีฮั้ว ไม่มีการอ่อนข้อแน่นอน ตนเชื่อว่า ในอีก 2 ปีครึ่งข้างหน้า จะยิ่งตอกย้ำ และยืนยันภาพดังกล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #แก้รัฐธรรมนูญ

“พริษฐ์” แถลงความคืบหน้าร่างกฎหมายจาก กก. สู่ ปชน. ยกสถิติชี้หลายร่างผ่านสภาแม้เสนอจากฝ่ายค้าน แม้ไม่ผ่านทุกฉบับแต่ก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้รัฐบาลและสังคมสนใจ พิสูจน์เป็นฝ่ายค้านก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เตรียมเดินสายรณรงค์ 7 ชุดกฎหมายในช่วงปิดสมัยประชุม

 


พริษฐ์” แถลงความคืบหน้าร่างกฎหมายจาก กก. สู่ ปชน. ยกสถิติชี้หลายร่างผ่านสภาแม้เสนอจากฝ่ายค้าน แม้ไม่ผ่านทุกฉบับแต่ก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้รัฐบาลและสังคมสนใจ พิสูจน์เป็นฝ่ายค้านก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เตรียมเดินสายรณรงค์ 7 ชุดกฎหมายในช่วงปิดสมัยประชุม


วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน แถลงข่าวความคืบหน้าการทำงานในสภาและการผลักดันกฎหมายโดยพรรคประชาชน โดยระบุว่าจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ที่มีการประชุมรวมไปทั้งหมด 3 จาก 8 สมัยประชุม จะเห็นว่าในสมัยแรกไม่มีการพิจาณากฎหมายสักฉบับ สมัยที่สองมีการพิจารณา 14 ฉบับโดยมี 3 ฉบับผ่านมาได้ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นต้น ส่วนปีที่สองของสมัยที่หนึ่ง มีกฎหมายที่สภาเห็นชอบผ่านทั้ง 3 วาระ 11 ฉบับ เช่น ชุดกฎหมายเกี่ยวกับอุดมศึกษา กฎหมายไม่ตีเด็ก และกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับชายแดนใต้ เป็นต้น


พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่พรรคประชาชนในสภาได้พยายามทำที่ผ่านมาคือการวางบทบาทใหม่ของฝ่ายค้าน ทั้งบทบาทฝ่ายค้านเชิงรับและฝ่ายค้านเชิงรุก ในส่วนของบทบาทฝ่ายค้านเชิงรับที่ประชาชนคาดหวังให้ฝ่ายค้านทำอยู่แล้วในการตรวจสอบรัฐบาล จากพรรคก้าวไกลสู่พรรคประชาชน เรายังคงทำงานอย่างเต็มที่เหมือนในสภาชุดที่ 25 ไม่มีการอ่อนข้อ มีความเข้มข้นเท่าเดิม ทั้งการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 การอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี กระทู้สดทุกสัปดาห์ กลไกกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะ เป็นต้น



ส่วนบทบาทในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก พรรคประชาชนพยายามวางบทบาทในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำแต่เราเห็นว่าควรจะทำ กลไกที่สำคัญและทำให้ข้อเสนอมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือการยื่นร่างแก้ไขกฎหมาย เป็นการฉายภาพพิมพ์เขียวประเทศไทยในแบบของพรรคประชาชน ซึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามว่าการที่พรรคประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายค้านเสนอกฎหมายไปจะได้อะไร พรรคประชาชนเห็นว่าการเสนอกฎหมายของพรคมี 3 วัตถุประสงค์ คือ


1) legislative change การแก้กฎหมายให้สำเร็จจริงๆ ร่างกฎหมายหลายร่างที่พรรคประชาชนเสนอไปนั้นสอดคล้องกับ 300 นโยบายที่นำเสนอประชาชนไปเมื่อตอนเลือกตั้ง ถ้าประสบความสำเร็จในการผลักดันก็เหมือนการทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล


2) Agenda setting การกำหนดวาระของรัฐบาล การที่พรรคประชาชนได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าไปทำให้รัฐบาลต้องมาคุยและขบคิดหาทางออกในประเด็นที่มีความสำคัญ พิจารณาว่าต้องได้รับการแก้ไขอย่างไร และแม้รัฐบาลจะไม่ได้มีข้อเสนอที่ตรงกับพรรคประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลยื่นร่างกฎหมายเข้ามาประกบและแก้ไขปัญหาได้บางส่วน ก็เป็นความสำเร็จในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน


3) Winning hearts and minds การทำงานเชิงความคิดกับสังคม แม้ร่างกฎหมายที่เสนอไปไม่ผ่านความเห็นชอบในสภาชุดนี้ แต่การใช้พื้นที่สภาเพื่ออธิบายกับสังคมว่าทำไมการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ ทำให้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่พรรคประชาชนพยายามนำเสนอมากขึ้น


พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าหากมองย้อนไปในสถิติ 3 สมัยประชุมหรือ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา จะเห็นว่าพรรคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายรวม 84 ฉบับ โดยมี A) 25 ฉบับที่ถึงห้องประชุมสภาและมีการลงมติ (อย่างน้อยในวาระที่ 1) แล้ว และ B) 59 ฉบับที่สภาฯยังไม่เคยมีการลงมติทางใดทางหนึ่ง โดยทั้งหมดยังแบ่งออกได้เป็น


A1) ร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบทั้ง 3 วาระแล้ว 5 ร่าง เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568 มีการเสนอหลายร่างจากหลายแหล่งที่มา เนื้อหาไม่มีความแตกต่างกันมาก ทำให้ร่างที่ผ่านสภามาได้มีความใกล้เคียงกับร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอไป, กฎหมายไม่ตีเด็ก ซึ่งเป็นการเสนอโดยพรรคฝ่ายค้านและผ่านความเห็นชอบของสภามาได้โดยไม่มีกฎหมายจากคณะรัฐมนตรีหรือพรรครัฐบาลมาประกบ


A2) ร่างกฎหมายที่สภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ 11 ร่าง โดยมีหลายกรณีที่สภารับหลักการหลายร่างพร้อมกันในวาระที่ 1 โดยแต่ละร่างอาจมีเนื้อหาบางส่วนแตกต่างกันบ้างที่พรรคประชาชนต้องพยายามผลักดันต่อในชั้นของคณะกรรมาธิการ เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่สภารับหลักการรวมกัน 7 ฉบับ, พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ที่มีการรับหลักการไปทั้งหมด 3 ฉบับ เป็นต้น


A3) ร่างกฎหมายที่สภาลงมติไม่รับหลักการเป็นผลให้ตกไป 9 ร่าง แต่มีหลายร่างที่พรรคประชาชนยังเห็นว่าประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความสนใจของรัฐบาลหรือสังคม เช่น สุราก้าวหน้า ที่สภาลงมติไม่เห็นชอบร่างของพรรคประชาชนในวาระที่ 1 แต่อย่างน้อยทำให้มีร่างประกบจากพรรครัฐบาลสองฉบับที่ผ่านความเห็นชอบวาระ 1 ไปได้ หรือ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกที่เสนอกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการกำหนดเส้นทางรถเมล์-อัตราค่าโดยสาร ซึ่งแม้ไม่ผ่านสภาแต่ก็สร้างความตื่นตัวในสังคมระดับหนึ่ง ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเรื่องขนส่งสาธารณะมากขึ้น



B1) ร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างเข้าคิวในระเบียบวาระการประชุม 41 ฉบับ รวมถึงร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีการดึงไปศึกษา 60 วัน และส่งกลับมาที่สภาฯ (เช่น พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม, พ.ร.บ.ล้มละลาย) และร่างที่จ่อคิวและคาดว่าจะถูกพิจารณาไม่นานหลังสภาฯกลับมาเปิดสมัยประชุม (เช่น พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.นิรโทษกรรม)


B2) ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงิน ถูกส่งไปที่นายกรัฐมนตรีแล้วแต่ยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะรับรองหรือไม่ 11 ฉบับ ซึ่งพรรคประชาชนหวังว่าก่อนเปิดสมัยประชุมสภากลับมานายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจได้ว่าจะรับรองร่างดังกล่าวหรือไม่


B3) ร่างกฎหมายที่มีการตีความว่าเป็นร่างการเงินที่นายกรัฐมนตรีในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้ตัดสินใจไม่รับรองและตกไปแล้ว 7 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ, พ.ร.บ.ถนน, พ.ร.บ.ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งพรรคประชาชนกำลังพิจารณาว่าเมื่อมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะลองยื่นร่างเหล่านี้สู่การพิจารณาอีกครั้งหรือไม่


โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดทั้งหมด ทั้งสถานะของร่างกฎหมายที่พรรคประชาชนมีการเสนอเข้าไป รวมถึงสรุปเนื้อหาสาระสำคัฐของร่างต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ promise.pplethai.orrg


พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าข้อสังเกตสำคัญคือแม้หลายคนมักเชื่อว่าพรรคประชาชนเสนอกฎหมายอะไรไปก็ตกอยู่ดี แต่จากสถิติแล้วร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่สภาลงมติเห็นชอบมีถึง 16 ร่าง ขณะที่มี 9 ร่างที่สภาไม่เห็นชอบ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากฎหมายที่พรรคประชาชนเสนอเข้าไปไม่แน่เสมอไปว่าจะถูกปัดตก และการเสนอกฎหมายของพรรคประชาชนยังมีความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแม้วันนี้พรรคประชาชนจะเป็นแค่ฝ่ายค้านก็ตาม


โดยในช่วงปิดสมัยประชุม 6 สัปดาห์นี้ พรรคประชาชนจะใช้เวลาในการรณรงค์ผลักดันกฎหมาย 7 ชุดสำคัญที่กำลังจะมีการพิจารณาในอนาคต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น



“2 เปิด” คือ

1. เปิดโอกาสแข่งขันทางการค้า ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่จะปรับอำนาจ-ที่มาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดและการกีดกันการแข่งขัน

2. เปิดโปงการทุจริต ผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับสิทธิประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลรัฐและการคุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริต


“2 ปลดล็อก” คือ

1. ปลดล็อกที่ดิน ผ่านการนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับที่ดินทำกินอันสืบเนื่องจากการประกาศพื้นที่ของรัฐทับที่ที่ประชาชนอาศัยทำกิน รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนที่ประสบปัญหาดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

2. ปลดล็อกการท่องเที่ยว ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.โรงแรมและ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทั้งการอำนวยความสะดวกให้โรงแรมและที่พักหลากหลายประเภทสามารถขอใบอนุญาตได้สะดวกมากขึ้น และการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในการออกใบอนุญาตโรงแรมและที่พัก


“2 ปฏิรูป” คือ

1. ปฏิรูปกองทัพ ผ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กฎหมายยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร กฎหมายแก้ไขขอบเขตอำนาจศาลทหาร และการแก้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ให้มีความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น

2. ปฏิรูปการศึกษา ผ่าน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่พยายามคุ้มครองสิทธิของผู้เรียนในการเข้าถึงสิทธิในการเรียนฟรีอย่างน้อย 15 ปี รวมถึงสวัสดิการด้านการศึกษาต่างๆ และการปรับโครงสร้างการบริหารด้านการศึกษาให้มีการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้โรงเรียนและผู้จัดการศึกษามากขึ้น


“1 ปกป้อง” คือ

1. ปกป้องสิ่งแวดล้อม ผ่าน พ.ร.บ. โลกรวน ที่เอาจริงมากขึ้นในการกำหนดและปรับลดกรอบเพดานก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรมในทุกๆปี พ.ร.บ.ขยะ ที่กำหนดมาตรฐานกลางในการจัดการขยะครบวงจร

พ.ร.บ. PRTR ที่กำหนดให้ผู้ที่ครอบครอง-ปล่อย-เคลื่อนย้ายสารมลพิษ ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม


พริษฐ์กล่าวต่อไปว่าการผลักดันกฎหมายของพรรคประชาชนถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงานในสภาในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก ที่ไม่เพียงแค่จะตรวจสอบรัฐบาล แต่จะเดินหน้าในการนำทางและเสนอแนะรัฐบาลผ่านร่างแก้ไขกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แน่นอนว่าในเชิงคณิตศาสตร์เสียงของ สส.พรรคประชาชนอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภาไปได้ แต่ด้วยหลักเดียวกัน ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนที่จะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากพรรครัฐบาลทุกพรรค - เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลอาจมีจุดยืนเชิงนโยบายในหลายประเด็นที่ต่างกัน หากร่างกฎหมายของพรรคประชาชนเพียงได้รับความเห็นชอบจากบางพรรคในประเด็นที่พรรคดังกล่าวเห็นตรงกับพรรคประชาชน ก็จะสามารถทำให้ร่างกฎหมายของพรรคประชาชนผ่านสภาไปได้


หากเรามีความมั่นใจว่ากฎหมายที่เรานำเสนอและจุดยืนที่สะท้อนผ่านกฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นจุดยืนที่จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน สามารถแก้ปัญหาให้ประเทศได้ ภารกิจของเราไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืน แต่คือการเปลี่ยนใจคนทั้งในและนอกสภา ยิ่งเราอธิบายและทำงานเชิงความคิดให้สังคมเห็นตรงกับเราได้มากขึ้นเท่าไหร่ เสียงของประชาชนที่ดังเข้ามาในสภา ก็อาจจะทำให้เรามีโอกาสได้การสนับสนุนจากสมาชิกในสภามากขึ้นตามมา” พริษฐ์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พรรคประชาชน #ฝ่ายค้านเชิงรุก

สมยศ พฤกษาเกษมสุข : เพื่อไทยควรทบทวนการกระทำอันของตัวเอง เรื่องนิรโทษกรรมจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ : อยากให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักว่าคุณมีทุกอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่มีความกล้าที่จะทำ