“พริษฐ์” ห่วงผลสอบ PISA การศึกษาไทยลดทั้งกระดาน
ตอกย้ำ ต้องยกเครื่องหลักสูตรการศึกษาใหม่ เน้นพัฒนาทักษะ - ฐานสมรรถนะ
ควบคู่กับเร่งลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียน
วันที่
6 ธันวาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกและ
สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล
เผยถึงกรณีที่องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีการเผยแพร่ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ประจำปี 2022 ซึ่งเป็นการประเมินทักษะของนักเรียนและตัวชี้วัดคุณภาพระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ
ที่มีการวัดผลทุก 3 ปี
ซึ่งผลคะแนนของนักเรียนไทยลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุดในรอบ
20 ปี ในทักษะทั้ง 3 ด้านที่มีการประเมิน
โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน
ประกอบด้วย 1) คณิตศาสตร์ คะแนนลดลง 6% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม),
2) การอ่าน คะแนนลดลง 4% (อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม) และ 3) วิทยาศาสตร์ คะแนนลดลง 4% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
พริษฐ์ระบุว่าผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้
เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา
และตนหวังว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับให้ทุกภาคส่วนให้เห็นว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต
การที่เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ
ของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ
สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยที่มีปัญหาไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยัน
แต่เป็นเพราะระบบการศึกษาไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนและความขยันของนักเรียนให้ออกมาเป็นทักษะได้เท่ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น
พริษฐ์กล่าวต่อไป
ว่าแม้การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยยังจำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการ
แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่
มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเขียนใหม่หรือปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี
หากวันนี้ก้าวไกลมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล
จะมีการชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู
นักเรียน ผู้ปกครอง มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี
เนื่องจากหลายภาคส่วนมีการพัฒนาข้อเสนอเรื่องหลักสูตรใหม่มาสักพักแล้ว
เพื่อเริ่มทยอยนำมาใช้ในแต่ละระดับชั้นให้ครบทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาล
พริษฐ์ยังระบุด้วยว่าในมุมมองของตน
เป้าหมายหลักของหลักสูตรใหม่ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต
โดยตนขอเสนอกรอบเบื้องต้นดังต่อไปนี้:
1)
ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ-สมรรถนะ,
ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี, ปรับเป้าหมายของแต่ละวิชาให้เน้นทักษะที่สำคัญ
มากกว่าการอัดฉีดเนื้อหาหรือข้อมูลให้กับผู้เรียน เช่น
ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร
หรือวิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน
2)
ปรับวิธีการสอนและเสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก “ครูหน้าห้อง”
ที่เน้นถ่ายทอดความรู้ผ่านการบรรยายทางเดียว มาเป็น “ครูหลังห้อง”
ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนมากขึ้น
3)
ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน จาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี
เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล
ลดเนื้อหาหรือกิจกรรมในส่วนที่ไม่จำเป็นลง เพื่อเน้นที่คุณภาพของชั่วโมงเรียน
และให้นักเรียนเหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
4)
ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป
ปรับไปใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น เช่น การบูรณาการการบ้านหลายวิชา
การทำกิจกรรมในเวลาเรียน การทำโครงการกลุ่ม ฯลฯ
เพื่อลดภาระและความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนไทย
5)
เพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก
ให้นักเรียนมีอิสระและมีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง
โอบรับความหลากหลายของผู้เรียนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน
6)
เพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน
เพิ่มกลไกในการทำให้หนังสือเรียนและข้อสอบปรับตามและสอดรับกับหลักสูตรใหม่
ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS
ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
7)
กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร โดยวางระบบให้มีหลักสูตร 3
ระดับ ประกอบด้วยแกนกลาง จังหวัด และสถานศึกษา
ควบคู่กับการลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง
เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน
8) วางกลไกสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
ให้มีการทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี
เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะที่จำเป็นในแต่ละยุคสมัย
9)
ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการพร้อมตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
พริษฐ์ยังเสนอว่านอกเหนือจากการจัดทำหลักสูตรใหม่
อีกมาตรการที่สำคัญคือการลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียน
เพราะปัจจุบันประมาณ 40%
ของเวลาทำงานครูถูกใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียน
ดังนั้น
ตนเสนอว่าต้องมีการเร่งทบทวนลดภาระงานครูทั้งในด้าน งานเอกสาร งานธุรการ
การเขียนรายงาน การนอนเวร ฯลฯ เพื่อลดภาระงานครูและคืนครูให้นักเรียน
ตัดงานที่ไม่จำเป็นออก นำเทคโนโลยีมาช่วยงานในบางส่วน
และการจัดหาบุคลากรด้านอื่นมาช่วยแบ่งเบาภาระ
“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลอาจมีเป้าหมายอื่นที่ตั้งไว้
แต่รัฐต้องระมัดระวังในการใช้วิธีโยนนโยบายไปให้ครูปฏิบัติโดยไม่ประเมินภาระงานและความคุ้มค่าของงานอย่างรอบคอบ
เพราะทุกครั้งที่เป็นเช่นนั้น
ครูมักต้องดึงตัวเองออกมาจากห้องเรียนเพื่อไปทำเอกสารรายงานการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ
แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริงตามที่รัฐคาดหวัง
แต่ยังไม่สร้างผลดีทั้งต่อตัวครู ตัวผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาในภาพรวมด้วย”
พริษฐ์กล่าว