วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566

iLaw จัดเวที Stand Together ครั้งที่ 3 ถกนิรโทษกรรมประชาชน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมตามประวัติศาสตร์ พร้อมฟังเสียงผู้ต้องหาก่อนฟังคำพิพากษาม.112 ไอซ์ รักชนก-แอมมี่ -โจเซฟ-อติรุจ ร่วมวง

 


iLaw จัดเวที Stand Together ครั้งที่ 3 ถกนิรโทษกรรมประชาชน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมตามประวัติศาสตร์ พร้อมฟังเสียงผู้ต้องหาก่อนฟังคำพิพากษาม.112 ไอซ์ รักชนก-แอมมี่ -โจเซฟ-อติรุจ ร่วมวง


วันที่ 11 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 น. ที่ อาคาร All Rise สำนักงานไอลอว์ โครงการอินเตอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน หรือ iLaw จัดเวทีพูดคุย Stand Together ครั้งที่ 3 "ก่อนวันสิ้นปี ก่อนมีวันนิรโทษกรรมประชาชน" ด้วยเดือนสุดท้ายของปีนี้ จำเลย 13 คน มีนัดหมายที่ต้องเข้าฟังคำพิพากษาอีก 13 คดี ในระหว่างที่ข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชน ช่วงวันปีใหม่จึงอาจจะไม่ใช่วันที่มีความสุขเตรียมการเฉลิมฉลองสำหรับทุกคน จึงได้จัดเวทีพูดคุย "นิรโทษกรรมประชาชน ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมตามประวัติศาสตร์" โดย พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล iLaw ดำเนินรายการโดย ณัฐชนน ไพโรจน์ 


ด้าน พูนสุข เผยเหตุผลที่ภาคประชาชนต้องเสนอร่างกฎหมาย #นิรโทษกรรมประชาชน ทั้ง ๆ ที่มีร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอแล้ว เพราะเนื้อหากำหนดแตกต่างกัน ร่างของก้าวไกลไม่ได้ระบุฐานความผิดมาตรา 112 ไว้ตรง ๆ


เพราะว่า หากจะนิรโทษกรรมคดีการเมือง แต่ไม่นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ก็ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างแท้จริง ทั้งนี้หากร่างทั้งภาคประชาชนได้เข้าสภาและได้พิจารณาประกบร่างอื่น ก็จะทำให้มีการถกเถียงพูดคุยเสนอแนะกันได้ 


ขณะที่รัชพงษ์ มองข้อครหาประเด็นการนิรโทษกรรมจะมีนักการเมืองที่ได้รับประโยชน์ไปด้วย ระบุการนิรโทษกรรม ไม่ได้นิรโทษกรรมในฐานะที่เขาเป็นนักการเมือง แต่เพราะเขาเป็นประชาชน


รัชพงษ์ กล่าวว่า การออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นใคร ฐานะใด แล้วถูกดำเนินคดีทางการเมือง ก็ควรได้นิรโทษกรรม


และเพื่อส่งกำลังใจให้กับจำเลยคดีมาตรา 112 ที่กำลังจะเข้ารับฟังคำพิพากษาของพวกเขา เพื่อให้พวกเขารู้ว่า คดีความที่เกิดขึ้นกับพวกเขาไม่ใช่แค่เรื่องของพวกเขาเองเเท่านั้น แต่มีคนอีกมากในสังคมนี้ที่สนใจ พร้อมร่วมกันรับรู้ และแบ่งปันความรู้สึก นี่ไม่ใช่เพียงการต่อสู้ของปัจเจกชนบางคน


ในเวลาเวลา 15.30 น. ฟังเสียงผู้ต้องหาก่อนฟังคำพิพากษา คดีม.112 โดย

-อติรุจ จำเลยคดีตะโกน "ไปไหนก็เป็นภาระ" ที่มีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ธันวาคม 

-โจเซฟ จำเลยคดีปราศรัย "ใครฆ่าพระเจ้าตาก" ที่มีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม

-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่) จำเลยคดี "เผา" ที่มีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 และ 28 ธันวาคม 

-รักชนก ศรีนอก (ไอซ์) สส.พรรคก้าวไกล ที่มีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ธันวาคม


ด้านนายอติรุจ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า หลังเรียนจบใหม่ ๆ ช่วงนั้นกระแสการชุมนุมอ่อนตัวลง และมีแกนนำหลายคนถูกจับกุม โดยจุดเริ่มต้นที่ทำให้อติรุจสนใจการเมือง เป็นเพราะการถูกบังคับให้สูญหายของ ตาร์ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ในต่างประเทศ ซึ่งทางการไทยและต่างประเทศ ไม่ได้มีท่าทีแสดงออกแต่อย่างใด ทำให้เขาคิดว่าการเมืองใกล้ตัวคนทุกคนมาก เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองก็ถูกเล่นงานแบบนี้ได้ และนั่นทำให้ อติรุจเริ่มไปชุมนุมตามโอกาสต่าง ๆ


นายอติรุจถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 256 เขาถูกควบคุมตัวทันที โดยเจ้าหน้าที่นำตัวไปฝากขังที่ สน. ลุมพินี มีการขอหมายศาลไปค้นบ้านอติรุจทันทีในวันรุ่งขึ้น แต่ไม่พบสิ่งใดที่เกี่ยวข้องกับคดี


นายอติรุจ เล่าต่อว่า มีความพยายามจะส่งเขาไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อตรวจหาว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่ เขาถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลมัดกับเก้าอี้เพื่อเข็นเข้าไปยังแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล จนกระทั่งต้องให้เพื่อนกับญาติมาที่โรงพยาบาลเพื่อปฏิเสธการรักษาให้


นายอติรุจ ย้ำว่าคดีการเมืองมาตรา 112 มีแต่โทษจำคุกไม่มีโทษปรับ การตัดสินว่าผิดต้องนำไปสู่การจำคุกซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพ จึงควรตัดสินอย่างเคร่งครัด หากอยากตีความอย่างกว้างขวางก็ควรเปลี่ยนเป็นคดีแพ่ง และนี่ชี้ให้เห็นแล้วว่ามาตรา 112 มีปัญหาในทุกมิติ


นายอติรุจ ทิ้งท้ายว่า การเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี ม.112 ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก และหวังจะได้รับความเป็นธรรมในคำพิพากษาของศาลที่มีนัดอ่านในวันที่ 12 ธ.ค. 66 ด้วย


ขณะที่ นายไชยอมร กล่าวว่า แม้เขาจะมีอาชีพนักร้องนักดนตรีที่มักมีกฎเหล็กว่าห้ามแสดงออกทางการเมือง มิเช่นนั้นจะเป็นแุปสรรคในการทำงาน แต่ก็เริ่มเข้ามาชุมนุมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาคนที่เขารู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นรุ่นน้อง คือ Hothacker ศิลปินแรป กลุ่ม Rap Against Dictatorship หรือ R.A.D. ถูกจับกุม เขาจึงติดตามไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ส่งผลให้เขาเริ่มเข้ามามีบทบาทการรวมกลุ่มทางการเมือง


นายไชยอมร ระบุว่า การกล้าแหกกฎเหล็กของวงการดนตรีนั้นก็เป็นเพราะอยากเป็นตัวอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังและชนชั้นกลางที่ไม่ได้เดือดร้อนโดยตรงจากปัญหาทางการเมืองหันมาสนใจให้มากขึ้น


นายไชยอมร กล่าวว่า ตนเองมีสองนัดในเดือนนี้ คือ 17 ธ.ค. 66 ศาลนัดพร้อมแต่ก็ลุ้นว่าจะอ่านคำพิพากษาด้วยหรือไม่ และมีนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ด้วย ทั้งนี้เมื่อรู้ว่ากำลังอาจจะถูกจำคุก ก็ได้เขียนเพลงใหม่อยู่อีก 15 เพลง ซึ่งต่อให้ต้องกลับเข้าเรือนจำก็ยังมีเสียงของเขาวนเวียนต่อไปอยู่ในสังคม รวมทั้งเขายังต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าด้วยศิลปะหรือดนตรี ในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือนักโทษคดีการเมืองที่กำลังติดอยู่ในเรือนจำ


ด้านโจเซฟ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในปี 2563 ได้มีโอกาสไปเกือบทุกการชุมนุม โดยส่วนตัวรู้สึกประทับใจการชุมนุม #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ และ การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10 สิงหาคม 2563 เพราะเป็นการนำเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นหมุดหมายของฝ่ายประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน


โจเซฟ ระบุว่า คดีล่าสุดที่กำลังถูกพิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นี้ หากเขาถูกตัดสินลงโทษจำคุก ก็ต้องถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี ในคดีมาตรา 112 ซึ่ง เกิดจากการปราศรัยในการชุมนุม #ใครฆ่าพระเจ้าตาก เมื่อ 6 เม.ย. 65


จึงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ในอดีตซึ่งเป็นมุมมองอีกสายในประวัติศาสตร์ ถึงถูกดำเนินคดี เพราะว่าศาลไทยตีความมาตรา 112 กว้างขวาง ขัดหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความเคร่งครัด


และพยายามทำให้คนที่ถูกดำเนินคดี #ม112 รู้สึกยอมจำนน แต่ตนคิดทุกอย่างในมุมบวก ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามมีความสุขบนความทุกข์ของคนอย่างเราแน่นอน


ต่อมา 17.00 น. รัชนก ศรีนอก หรือไอซ์ เข้าร่วมวงพูดคุย โดยระบุว่า มาทั้งให้กำลังใจทั้ง 3 คน ที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 และมารับกำลังใจด้วยเช่นกัน เพราะคดีความของตนนั้นก็กำลังถึงวันนัดอ่านคำพิพากษา


โดยรักชนก เล่าว่าจะต้องไปฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเปิดสมัยประชุมสภาพอดี โดยได้ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาไปแล้วแต่ก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะมีผลการพิจารณาออกมาอย่างไร 


รักชนก ระบุด้วยตนอาจโชคดีกว่าคนที่นั่งที่นี่ หรืออีกหลายคนที่ถูกกล่าวหาด้วย มาตรา 112 เพราะยังมีสถานะ สส. ซึ่งอาจจะทราบผลว่าจะให้เลื่อนหรือไม่ได้ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ช่วงเช้าหรือก่อนเวลาเลิกงานราชการ


รักชนก ระบุว่า หากวันที่ 13 ธันวาคม นี้ ศาลพิพากษายกฟ้อง ตนก็จะกลับไปทำงานตามปกติ แต่หากศาลสั่งลงโทษแต่รอลงอาญา ตนก็สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นเดิม แต่หากสั่งลงโทษแล้วไม่ให้รอลงอาญา ก็ต้องได้รับการประกันตัวในเย็นวันนั้นก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำ


เพราะหากถูกส่งตัวไปเรือนจำแม้เพียงวันเดียวก็จะถือว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.)ในทันที ซึ่งสำหรับตนตำแหน่ง สส. เป็นตำแหน่งที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งลงคะแนนมาให้แล้วโดยตรง หากกระบวนการยุติธรรมใช้เทคนิคทางกฎหมายในการสกัด สส. ออกจากตำแหน่ง ก็หวังว่าเรื่องนี้จะถูกพูดคุยเป็นวงกว้างต่อไป


และในวันที่ 13 นี้ ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน แต่สำหรับตัวเอง ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็รู้อยู่แล้วประเทศนี้มีกระบวนการยุติธรรมแต่อาจจะไม่ได้มีความยุติธรรมในความหมายของสากล จึงคาดหวังให้ผู้ที่ทำงานในกระบวนการยุติธรรมจะปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริต ตรงไปตรงมา อย่างเคร่งครัด 


ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ชัดเจนว่าหากหากคดียังไม่สิ้นสุดก็ต้องไม่ปฏิบัติตัวเสมือนเขาเหล่านั้นเป็นนักโทษ เนื่องจากรักชนกก็เพียงใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมืองตามที่ประชาชนไทยมีแค่เพียงเท่านั้น ดังนั้นจะไม่ขอเรียกร้องอะไรไปนอกเหนือกว่าฐานะประชาชนทั่วไป คือถ้าถูกตัดสินลงโทษก็ควรจะได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว รักชนก กล่าวปิดท้าย


จากนั้น iLaw ได้นำภาพวาดเหมือน มอบให้แก่ทั้ง 4 ท่าน และถ่ายรูปร่วมกันเพื่อเป็นกำลังใจว่า เดือนนี้พวกเขาไม่ได้ถูกพิพากษาแต่เพียงลำพัง Stand Together


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112