วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566

#ConforAll เดินหน้า ปักธง สสร. ส่งเสียง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%

 


#ConforAll เดินหน้า ปักธง สสร. ส่งเสียง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%

 

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (แยกคอกวัว) กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ หรือ "ConforAll" จัดงาน “ConforAll ปักธงส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง” ส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาล ผ่านคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเกี่ยวกับการจัดออกเสียงประชามติ เพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชน

 

เวลา 16.30 น. เป็นช่วง Con for All Talk : โดยตัวแทนเครือข่ายต่าง ๆ ที่รวบรวมบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมมาพูดคุยถึง "รัฐธรรมนูญในฝัน" ซึ่งประกอบไปด้วย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดีตกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ, พรชิตา ฟ้าประทานไพร กลุ่มชาติพันธุ์ปลดแอก, พายุ บุญโสภณ กลุ่มราษฎร โขง ชี มูน และอีสานใหม่, ลลิตา เพ็ชรพวง โครงการนักนวัตกรรมสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ มูลนิธิโกมลคีมทอง, อธิพันธ์ ว่องไว โครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา, นนทวัฒน์ เหลาผา กลุ่ม We Watch , ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน

 

จากนั้น 17.40 น. เข้าสู่ช่วงวงเสวนา Con for All ปักธง ส่งต่อ สสร.เลือกตั้ง ที่จะมาชวนคุยถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามประชามติภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รวมถึงฟังความเห็นจากตัวแทนคณะกรรมการประชามติฯ ของรัฐบาล ซึ่งในเวงเสวนาจะประกอบไปด้วย กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG), รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ และดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

 

เริ่มต้นด้วยนายกรกช กล่าวตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 60 ถูกแก้ไขหลังทำประชามติ ซึ่งมีบทบัญญัติในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ที่ถูกแก้ไขเรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

การที่รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขหลังทำประชามติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่ได้เป็นของประชาชน แต่เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ดังนั้นหากคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ จะห้ามไม่ให้ สสร. แตะต้องหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ก็เท่ากับว่าคณะกรรมการฯ กำลังทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเสียเอง จึงควรเปิดโอกาสให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำได้ทั้งฉบับ นายกรกชกล่าว

 

นายกรกช ยังได้ย้ำว่า ถ้าคุณโกรธและไม่เห็นด้วย กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ส.ว.ที่ปักตกร่าง ที่ประชาชนเสนอทุกครั้ง ถ้าคุณโกรธ กับการที่ ส.ว.ไม่ยกมือโหวตเลือกนายก ตามเสียงส่วนมากของประชาชน นั่นคือเหตุผลที่เราต้องเลือกตั้ง สสร.100 %

 

ต่อมา แสงศิริ กล่าวช่วงหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญในอดีตไม่ได้บรรจุเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างชัดเจน แต่มีแนวคิดที่สะท้อนการสงเคราะห์ความยากไร้ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ต่างก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนเขียนรัฐธรรมนูญ แต่กลับเขียนโดยนักปกครอง

 

ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีควรให้ประชาชนเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญผ่านการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้คนที่มีความหลากหลายเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญ การกำหนดโควตากลุ่มคนแต่ละประเภทโดยอ้างว่า เดี๋ยวคนกลุ่มนั้น ๆ จะไม่ได้มีส่วนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นวาทกรรมที่ดูถูก ไม่เชื่อในเสียงของประชาชน

 

แสงศิริ ยังระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 60 สร้างกติกาที่ซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถเขียนใหม่ได้ ด้วยสิทธิของเราประชาชนจริง ๆ และตอนนี้อยู่ในมือของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ เรามีสิทธิที่จะบอกว่าเราไม่ไว้ใจคณะกรรมการฯ ชุดนี้ เพราะเราเห็นความไม่ตรงไปตรงมา ในการตั้งคณะกรรมการ เราจึงต้องส่งเสียง ว่าถ้าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมาจาก สสร. เลือกตั้ง 100%

 

ขณะที่ นายรัชพงษ์ กล่าวถึงข้อกังวล 2 ข้อด้วยกันในเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จากรัฐบาล คือ

 

1.ถ้าไม่ได้เขียนข้อห้าม สสร. แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 ไว้ในคำถามประชามติ เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางตั้ง สสร. เข้าสภา อาจโดน สว. คว่ำ

2.ถ้าเลือกตั้ง สสร. 100% ผู้เชี่ยวชาญหรือกลุ่มบุคคลเฉพาะจะเข้าไปมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

 

รัชพงษ์ ยังกล่าวถึงด่านสำคัญเกี่ยวกับการเดินหน้าสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือ 1) ประชามติ ทำโดยประชาชน 2) รัฐสภา พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ โดยมองว่า แม้สองด่านจะสำคัญ แต่ความสำคัญนั้นไม่เท่ากัน ด่านการทำประชามติที่ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจมีความสำคัญกว่า

 

ในอดีตคนไทยมีบทเรียนมาแล้วจากการ "รับไปก่อน แล้วแก้ทีหลัง" หากคำถามประชามติมีการล็อกเนื้อหาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจนำไปสู่การได้คำตอบประชามติที่ไม่ตรงกับเจตจำนงประชาชนและอาจปิดโอกาสที่จะนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากคำถามประชามติเปิดกว้าง รัฐบาลเองก็สามารถเอาผลคำถามประชามติที่ปรากฏชัดมาจากเสียงประชาชน เพื่อยืนยันกับผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้

 

รัชพงษ์ได้ทิ้งท้ายว่า ถ้าถามว่าวันนี้มีทางออกอย่างไรบ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือคนที่อยู่ในอำนาจมีความตั้งใจจริงที่จะทำให้สุดทางหรือไม่ เพราะเราช่วยกันหาทางออกได้อยู่แล้ว

 

ปิดท้ายด้วยนายพงศ์เทพ ระบุว่า การทำประชามติครั้งแรกก่อนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทำประชามติ นายพงศ์เทพเห็นว่าไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องทำและในทางกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ได้ผูกพันรัฐสภา แต่เพราะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตนเสนอว่า ให้รัฐสภาเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ใหม่เข้าไปในรัฐสภาเลย

 

ทั้งยืนยันว่า การเลือกตั้ง สสร. 100% ทำได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบเลือกตั้ง หากใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง อาจได้สสร. ที่ไม่ค่อยมีความหลากหลาย แต่ถ้าใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คนจังหวัดไหนก็สามารถเลือกตัวแทนที่สะท้อนอัตลักษณ์ สะท้อนปัญหาของตัวเองเข้าไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม นายพงศ์เทพกล่าวทิ้งท้ายว่า เวลาเราพูดถึงรัฐบาล เรามักคิดว่าเป็นองค์กรหนึ่งเดียว แต่จะเห็นได้ว่ามาจากหลายพรรค ส่วนใหญ่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดเดิม และ ไม่ได้มีแนวความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

 

ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะเขียนนโยบายแล้วตีความได้ว่า จะยกร่างทั้งฉบับ แต่มันต้องการการกระตุ้น ไม่อย่างนั้น พรรครัฐบาลก็เหนื่อยเหมือนกัน ในการโน้มน้าว พรรคที่ไม่ต้องการแก้ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพงศ์เทพกล่าว

 

ขณะที่นายยิ่งชีพ กล่าวเสริมว่า นายภูมิธรรม ประกาศแล้วว่า เดือนนี้รู้เรื่อง ถ้าเดือนนี้ไม่รู้เรื่อง Conforall จะไปทวงถาม

 

จากนั้นทั้งหมดร่วมกันทำกิจกรรม 'ปักธง' โดยต่างโบกสะบัดธงพร้อมส่งเสียงว่า “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ทั้งนี้ประชาชนที่มาร่วมงานเขียนข้อความสนับสนุนข้อเสนอ Con for All ลงบนธงแล้วนำไปปักบนพานรัฐธรรมนูญจำลอง เพื่อส่งต่อข้อเสนอให้กับตัวแทนคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และหากมีการทำประชามติ ต้องมีการกำหนดคำถามที่ดี จากนั้นได้ถ่ายรูปร่วมกันก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 19.30 น.

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญเขียนใหม่ทั้งฉบับ