วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“ชลน่าน” สั่งให้ทีมสอบสวนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินหาข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หากพบโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธรับคนไข้โยนให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลทำผิดกฎหมายจะต้องถูกลงโทษ


ชลน่าน”  สั่งให้ทีมสอบสวนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินหาข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา หากพบโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธรับคนไข้โยนให้ส่งตัวไปโรงพยาบาลทำผิดกฎหมายจะต้องถูกลงโทษ


วันที่ 15 ธันวาคม 2566 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยกรณีปรากฎเป็นข่าว นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันประสบอุบัติเหตุรถชน โดยทางทีมกู้ชีพของศูนย์เอราวัณนำตัวส่งโรงพยาบาลเอกชนซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แต่โรงพบาบาลเอกชนปฏิเสธไม่รับการรักษาอ้างว่าเตียงเต็ม ให้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ ทำให้เสียชีวิตระหว่างส่งตัว


เรื่องนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และร้อนใจเมื่อสื่อรายงานข่าวว่า เหตุผลของโรงพยาบาลที่อ้างว่าเตียงเต็มจึงไม่รับตัวไว้รักษานั้น เป็นความจริงหรือไม่ ขณะนี้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสอบถามผู้เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งจะรอว่าสุดท้ายแล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าพบว่า โรงพยาบาลเอกชนกระทำผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม ก็ต้องรับโทษโดยไม่มีการละเว้น ส่วนจะหนักเบาอย่างไรให้ว่าไปตามข้อเท็จจริง


น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า การเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันซึ่งหมดสติจากการถูกรถชนและชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลรัฐ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงว่าโรงพยาบาลเอกชนได้ปฏิบัติการให้การรักษาในภาวะฉุกเฉินจนเต็มความสามารถก่อนการส่งตัวหรือไม่ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า การส่งตัวผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องมีแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นให้การรับรอง โดยเห็นว่าจะป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น อีกประการหนึ่ง โรงพยาบาลจะนำเอาเรื่องผู้ป่วยฉุกเฉินไม่มีเงินจ่ายค่ารักษามาอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ได้ เพราะผิดหลักจรรยาแพทย์ ส่วนจะอ้างว่าเตียงเต็มดังที่สื่อรายงานก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผล เพราะห้องฉุกเฉินควรจะพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่เพื่อกู้ชีวิตผู้ป่วยซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤต มีสิทธิจะเสียชีวิตในทันทีทันใดหากปล่อยให้เวลาล่าช้าไปเพียงไม่กี่นาที


โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองกล่าวว่า กรณีนี้มีกฎหมายสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน อีกฉบับหนึ่ง และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 กำหนดมาตรการควบคุมกิจการสถานพยาบาลเพื่อคุ้มครองประชาขนผู้รับบริการสถานพยาบาล การกำหนดให้สถานพยบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในสภาพอันตราย และจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ ดังนั้น การสอบสวนข้อเท็จจริงจะขจัดข้อสงสัยต่างๆของครอบครัวญาติพี่น้องชาวไต้หวัน และคนไทยที่สนใจเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การชดใช้เยียวยา หรือค่าสินไหมทดแทนเป็นเรื่องที่จะต้องดูแลเพื่อความเป็นธรรม


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงสาธารณสุข #โรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้