วันอังคารที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“พริษฐ์” ย้ำคำถามประชามติควร “เปิดกว้าง” ไม่ยัดไส้เงื่อนไข-มัดมือชกประชาชน ขอ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เพื่อเพิ่มแนวร่วมและโอกาสในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ

 


พริษฐ์” ย้ำคำถามประชามติควร “เปิดกว้าง” ไม่ยัดไส้เงื่อนไข-มัดมือชกประชาชน ขอ ครม.ทบทวนคำถามประชามติ เพื่อเพิ่มแนวร่วมและโอกาสในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ

 

วันที่ 25 ธันวาคม 2566 จากกรณีที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ของรัฐบาลได้ออกมาแถลงข่าว และสรุปว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเดินหน้าในการจัดทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประชามติครั้งแรก (จากทั้งหมด 3 ครั้ง) จะเป็นการถาม 1 คำถามว่า

 

ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า แม้การแถลงวันนี้ทำให้เราเห็นความชัดเจนมากขึ้นเรื่องขั้นตอนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการ แต่คำถามที่คณะกรรมการออกแบบมาสำหรับการทำประชามติครั้งแรก เป็นคำถามที่น่ากังวลและมีความเสี่ยงจะกระทบต่อความเป็นไปได้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ในมุมมองของพริษฐ์และพรรคก้าวไกล คำถามหลักในประชามติควรเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวมและเปิดกว้างที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนที่แม้เห็นต่างกันในรายละเอียด แต่เห็นตรงกันว่าควรมีจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถเห็นร่วมกันได้มากที่สุด

 

แต่คำถามที่คณะกรรมการเคาะมาในวันนี้กลับเป็นคำถามที่ไม่เปิดกว้าง แต่ไป “ยัดไส้” เงื่อนไขหรือรายละเอียดปลีกย่อยที่ทำให้ประชาชนบางคนอาจเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับอีกบางส่วนของคำถาม ซึ่งเสี่ยงจะนำไปสู่การกีดกันแนวร่วมบางส่วนออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

เช่น หากประชาชนเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ประชาชนที่มีความคิดดังกล่าวจะมีความลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะลงคะแนนว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”

 

กล่าวคือ ถ้าลงว่า “ไม่เห็นชอบ” ก็เท่ากับว่าคะแนนของเขาจะถูกรวมกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่ประชามติจะ “ไม่ผ่าน” และนำไปสู่การปิดประตูสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถ้าลงว่า “เห็นชอบ” ก็เท่ากับว่าเขาถูก “มัดมือชก” ไปกับเงื่อนไขเรื่องการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และ หมวด 2 ที่ตัวเขาเองไม่ได้เห็นด้วย

 

หากรัฐบาลยังคงต้องการให้มีเงื่อนไขเรื่องการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ก็ควรแยกประเด็นดังกล่าวออกมาถามเป็นคำถามรอง แทนที่จะไป “ยัดไส้” อยู่ในคำถามหลัก เช่น

 

คำถามหลัก: “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

 

คำถามรอง: “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ควรมีการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

 

พริษฐ์กล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้ว ข้อกังวลที่เรามีต่อคำถามประชามติของคณะกรรมการฯ เป็นข้อกังวลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าแต่ละคนมีจุดยืนอย่างไรเกี่ยวกับการแก้ไข หมวด 1 และ หมวด 2 แต่เป็นข้อกังวลที่ยึดอยู่บนหลักการว่า คำถามหลักในประชามติควรเปิดกว้าง และไม่ยัดไส้เงื่อนไขหรือมัดมือชกประชาชน ไม่ว่าจะในเรื่องใด ๆ ก็ตาม

 

ดังนั้น หาก ครม.อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สำเร็จ พริษฐ์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครม.จะพิจารณาถึงข้อกังวลดังกล่าว และทบทวนคำถามประชามติให้เป็นคำถามที่มีลักษณะที่เปิดกว้าง และสามารถสร้างความเห็นร่วมให้ได้มากที่สุดในหมู่ประชาชนที่อยากเห็นประเทศเรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ทั้งนี้ ในแง่ของการล็อกไม่ให้มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พริษฐ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มีส่วนมาจาก “ความกังวลโดยไม่จำเป็น” ของรัฐบาล ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

 

1) การแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ไม่สามารถกระทบหรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้แน่นอน เพราะมาตรา 255 ได้กำหนดชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดหรือมาตราใด ๆ ก็ตาม จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

 

2) การแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติเมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเนื้อหาในหมวด 1 และ หมวด 2 ก็มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด จากรัฐธรรมนูญ 2540 มาสู่รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560

 

3) การแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 เป็นสิ่งที่แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันก็อนุญาตให้ทำได้และไม่ได้ห้ามไว้ เพียงแต่มาตรา 256 (8) กำหนดว่าต้องมีการจัดทำประชามติ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 หรือ หมวด 2 ผ่านความเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภา

 

ยิ่งไปกว่านั้น การล็อกไม่ให้มีการแก้ไข หมวด 1 และ หมวด 2 ยังอาจ “สร้างปัญหาใหม่โดยไม่จำเป็น” 2 ประการ คือ

 

1) ปัญหาเชิงกฎหมาย เนื่องจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในแต่ละหมวดมีความสัมพันธ์กัน การยกร่างเกือบทุกหมวดโดยล็อกไม่ให้แก้ไขข้อความใด ๆ เลยใน 2 หมวดอาจนำไปสู่ปัญหาเชิงปฏิบัติในการเขียนกฎหมายได้ เช่น หากสมมติในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการยกเลิกการมีอยู่ของวุฒิสภา มาตรา 12 ในหมวด 2 ที่ปัจจุบันเขียนว่า “องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น…” ก็ควรจะมีการตัดคำว่า “สมาชิกวุฒิสภา” ออกเพื่อให้สอดคล้องกับหมวดอื่นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่การแก้ข้อความลักษณะนี้จะทำไม่ได้หากมีการล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และ หมวด 2 ไว้

 

2) ปัญหาเชิงการเมือง หากประชาชนบางกลุ่มอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวด 1 และหมวด 2 โดยที่การแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นการกระทบรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบรัฐ การไปล็อกไม่ให้เขาแม้กระทั่งได้เสนอความเห็นด้วยเหตุและผลอย่างมีวุฒิภาวะในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง สสร. อาจทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ณ ปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่สามารถสะท้อนฉันทามติใหม่ของประชาชนทุกคนทุกชุดความคิดในสังคมเราได้อย่างแท้จริง

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ประชามติ #รัฐธรรมนูญฉบับใหม่