วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ฉลุย! ร่างฯ สมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับผ่านวาระ 1 ท่วมท้น 369-10 “ครูธัญ” ชวนเฉลิมฉลองความตื่นรู้ของสังคม-รำลึกผู้สูญเสีย ด้าน “พริษฐ์” ย้ำสมรสเท่าเทียมกับเสรีภาพการนับถือศาสนาอยู่ร่วมกันได้


ฉลุย! ร่างฯ สมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับผ่านวาระ 1 ท่วมท้น 369-10 “ครูธัญ” ชวนเฉลิมฉลองความตื่นรู้ของสังคม-รำลึกผู้สูญเสีย ด้าน “พริษฐ์” ย้ำสมรสเท่าเทียมกับเสรีภาพการนับถือศาสนาอยู่ร่วมกันได้

 

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการพิจารณาร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “สมรสเท่าเทียม” ในวาระที่ 1 การรับหลักการ ซึ่งมีทั้งร่างของรัฐบาล พรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์เสนอเข้าสู่การพิจารณาร่วมกัน

 

โดยในส่วนของร่างฯ พรรคก้าวไกล ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย ได้กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม พร้อมระบุว่าตนเกิดมาเป็นกะเทย เป็นกะเทยทุกวันตั้งแต่เกิดจนถึงวันนี้และยังคงติดตัวเสมอในทุกวัน แต่สิ่งที่ติดตัวกะเทยทุกคนมาเสมอเช่นกันก็คือความเป็นไปไม่ได้ ทั้งที่กะเทยคือสิทธิมนุษยชน การมีตัวตนในสังคม มีสิทธิ ศักดิ์ศรี และการใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะเป็น รวมถึงการก่อตั้งครอบครัว

 

ระหว่างการทำงานของสภาชุดที่แล้ว ตนได้เดินทางไปเชียงใหม่ ได้พบกับผู้หญิงท่านหนึ่งที่เดินเข้ามาพร้อมรอยยิ้ม บอกว่าขอบคุณมากที่พูดเรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะมีเพื่อนที่รักมากของเขาคนหนึ่งตั้งแต่สมัยเรียนที่ไม่ได้มาฟังเรื่องสมรสเท่าเทียมในวันนี้ด้วยได้ เพราะเขาฆ่าตัวตายไปแล้ว เนื่องจากพ่อแม่ไม่ยอมรับในความสัมพันธ์ที่เขารักกับผู้ชายอีกคน

 

ย้อนไปในปี 2552 มีการจัดงานเกย์พาเหรดที่ จ.เชียงใหม่ แต่ก็เกิดการต่อต้านหรือที่เรียกว่าเหตุการณ์ “เสาร์ซาวเอ็ด” มีการปาถุงเลือดใส่ ปาสีใส่ และการตะโกนด่าทอ อ้างว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย ทำลายวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี

 

ธัญวัจน์กล่าวต่อไป ว่านี่คือความเจ็บปวดของคนที่เป็นกะเทย ซึ่งเกิดขึ้นทุกที่ในประเทศไทยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความเกลียดชังที่ฝังในสังคมไทยเสมอมา แต่วันนี้ความเป็นไปได้กำลังจะเกิดขึ้น และตนเชื่อว่าวันนี้ทุกคนมีความเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลง

 

วันนี้เราอาจมีการเฉลิมฉลองที่ตระการตา เราอาจมีฝนกระดาษและธงสีรุ้งโบกไสว แต่ไม่ว่าการเฉลิมฉลองจะสวยงามยิ่งใหญ่เพียงใด ธัญอยากให้การเฉลิมฉลองนี้เป็นการเฉลิมฉลองไปถึงการตื่นรู้ของเราทุกคน หลังจากที่เราปล่อยให้เกิดความสูญเสียของเวลา การสูญเสียของคนที่พลัดพราก มาเฉลิมฉลองให้ความโง่เขลาของพวกเราในอดีต เฉลิมฉลองแทนคนที่เคยต้องฆ่าตัวตายเพียงเพราะเขาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ขอให้เป็นการฉลองพร้อมย้ำเตือนเสมอ ว่าจากอดีตจนถึงวันนี้เราสูญเสียไปมากเพียงใด” ธัญวัจน์กล่าว

 

ธัญวัจน์ยังกล่าวต่อไป ว่าจากสภาชุดที่แล้ว มีคนถามตนเสมอว่าเป็นฝ่ายค้านจะยื่นกฎหมายทำไม แต่ตนคิดว่าสิ่งที่เราเห็นพ้องต้องกันคือการเปลี่ยนแปลง วันนี้ความเป็นไปได้กำลังเกิดขึ้น ขอให้เรามองทุกคนด้วยไมตรีจิตและหัวอกหัวใจ วันนี้จะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปสู่นานาชาติ เป็นวันที่ประชาชนจะจดจำ ว่าเราทุกคนในที่นี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะเดินสู่ความเท่าเทียมของคนทุกเพศ นี่คือชัยชนะของประชาชนทุกคน

 

ในส่วนของการอภิปราย มี สส.พรรคก้าวไกลหลายคนขึ้นอภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เช่น ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายให้เห็นถึงปัญหาการกดทับความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา ซึ่งปัจจุบันเรายังคงมีครูและนักเรียนที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกมากมายที่ถูกกดทับสิทธิไว้ การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมวันนี้เป็นแค่บันไดขั้นแรก สังคมไทยยังคงต้องทำความเข้าใจต่อสังคม และผลักดันกฎหมายอีกหลายฉบับตามมา

 

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้มีหลักการที่เรียบง่าย เพียงแค่กำลังจะบอกกับคู่รักทุกคู่ในประเทศนี้ว่าพวกเขาสามารถสมรสกันได้ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นเพศใดและมีความรู้สึกกับเพศใด จะปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ความเสมอภาคเป็นความปกติใหม่ของสังคมไทย

 

จากคำอภิปรายของสมาชิกในวันนี้ ภาพที่เราจะได้เห็นน่าจะเป็นภาพประวัติศาสตร์ของสภา ที่จะมีการลงมติรับหลักการอย่างท่วมท้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เราจะได้เห็น สส. จากหลายพรรค หลายเพศ มายืนยันร่วมกันว่าสิทธิสมรสไม่ได้เป็นอภิสิทธิ์ของผู้มีความหลายทางเพศ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอภาค

 

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าสำหรับเพื่อนสมาชิกที่อาจยังเห็นต่างด้วยเหตุผลทางศาสนา ตนยืนยันว่าตนรับฟังและเคารพในความคิด แต่ตนและพรรคก้าวไกลก็ต้องยืนยันเช่นกันว่าสิทธิการสมรสเท่าเทียมกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันได้ในสังคมไทย

 

เพราะการเปิดให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นการบังคับให้ใครต้องมาแต่งงานกันหากขัดกับความเชื่อของเขา และด้วยเหตุผลเดียวกัน การเปิดให้แต่ละคนมีเสรีภาพในการนับถือความเชื่อที่แตกต่างกัน ก็ไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขที่จะมาจำกัดสิทธิของคนที่เชื่อไม่เหมือนกันในการใช้ชีวิตตามที่ปรารถนา

 

ผมอยากชวนมองถึงความสำคัญของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กว้างกว่าแค่เรื่องของการสมรส ผมอยากให้มองว่าการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณดังๆ ไปสู่ประชาชนทุกคน ว่าหากวันหนึ่งท่านตกอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตามที่ท่านกำลังเป็นคนส่วนน้อยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุเรื่องเพศ เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจสังคม หรือด้วยเหตุทางศาสนา สภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้พร้อมจะปกป้องสิทธิของพวกท่านทุกคน” พริษฐ์กล่าว

 

สำหรับผลการลงมติจากผู้เข้าร่วมการประชุม 380 คน เห็นควรรับหลักการ 369 คน ไม่เห็นควรรับหลักการ 10 คน งดออกเสียง 0 คน และ ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ส่งผลให้ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้ง 4 ฉบับ ผ่านเข้าสู่วาระที่ 2 การปรับปรุงแก้ไขในชั้นกรรมาธิการต่อไป

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #สมรสเท่าเทียม