วงเสวนา“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” เห็นพ้องมีสสร.จากการเลือกตั้ง 'พริษฐ์' ชี้ โจทย์ใหญ่แก้ไข รธน. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้าน 'นิกร' เผย 25 ธ.ค. นี้ได้ข้อสรุปประชามติแก้ รธน.
วันที่ 10 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ ลานประชาชน รัฐสภา เกียกกาย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร” ในงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 “ร่วมก้าวย่างบนเส้นทางประชาธิปไตย สู่เส้นชัยแห่งรัฐธรรมนูญ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองการสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนกลุ่ม ilaw และนายเกรียงไกร หอมจันทร์เทศ เป็นผู้ดำเนินรายการ
เริ่มด้วยรศ.ชูศักดิ์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญที่จะยกร่างใหม่ควรจะมีสสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มายกร่างเพื่อให้เห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ทำเพื่อประชาชน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็นประชาธิปไตยแน่นอน และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ โดยควรแก้ไขมาตรา 256 เพราะกำหนดให้ต้องมีเสียงสว.สนับสนุน 1 ใน 3 ต้องตัดตรงนี้ออก แล้วทำให้เป็นรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ง่าย แก้ไขได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับระบบถ่วงดุลอำนาจ ต้องให้องค์กรอิสระมาจากรัฐสภา และกำหนดให้รัฐประหารมีความผิดไม่มีอายุความ ไม่มีการนิรโทษกรรม ศาลหรือกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถที่จะยอมรับการรัฐประหารได้ สำหรับกระบวนการการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าสมควรจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
รศ.ชูศักดิ์ ย้ำว่ากระบวนการสสร.ควรจะต้องเกิดขึ้นและควรจะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อที่จะให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้านับหนึ่งได้
จากนั้นนายนิกร กล่าวถึงความต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าต้องมีที่มาจากประชาชน หากรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการยึดอำนาจ จะยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับที่โดดเด่นที่สุดในขณะนี้และมีที่มาจากประชาชน แต่มีปัญหาการให้อำนาจฝ่ายการเมืองมากไป เมื่อฝ่ายการเมืองไม่ยอมแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่ควรแก้ไขจึงถูกฉีกรัฐธรรมนูญในที่สุด ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีจึงควรต้องมาจากประชาชนและต้องแก้ไขได้ไม่ยากนัก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่เพียงแต่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแก้ไขแต่ไม่สามารถแก้ไขได้เลย
นอกจากนี้นายนิกร ยังกล่าวว่า ควรมีสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. และควรแก้ไขมาตรา 256 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากรัฐสภา การจะได้เสียง 1 ใน 3 จากสมาชิกวุฒิสภาจึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้น
โดยเฉพาะที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งนั้นไม่ควรมีน้ำหนักมากกว่าเสียงที่มาจากตัวแทนประชาชน จึงจะไม่เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคต เพราะการฉีกรัฐธรรมนูญเกิดจากการที่ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมี นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งในขณะนี้ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มและทุกภูมิภาคแล้ว เหลือเพียงแต่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ สมาชิกรัฐสภาจะทำแบบสอบถามความเห็นต่อประชามติ และในวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ จะรับฟังคำตอบ เพื่อสรุปความเห็นในวันที่ 22 ธ.ค. และวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป
จากนั้น ช่วงเดือน เม.ย. ก็จะเริ่มทำประชามติครั้งแรก หรือหากมีพรรคการเมืองเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเริ่มเร็วกว่านั้นได้ แต่ห่วงเรื่องเดียวว่าประชาชนจะมาลงประชามติถึงตามระบบ 2 ชั้นหรือไม่ คือ 26 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องเห็นชอบ 13.5 ล้านคน ซึ่งจะทำได้หรือไม่
ต่อมานายชัยธวัช กล่าวว่า ตนมองว่า สิ่งสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ
1. ต้องยึดโยงกับหลักการว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนให้มั่น ตั้งแต่กระบวนการทำประชามติ การมีสสร.ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 รัฐบาลทำ ก่อนที่พรรคการเมืองต่าง ๆ จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา ซึ่งสำคัญเพราะ ถือว่า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ข้อเสนอของพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะถือว่าได้รับอำนาจจากประชาชนแล้ว เมื่อสสร.ทำร่างประชามติใหม่เสร็จแล้วก็ควรจะไปทำ ประชามติแน่นอนว่าเสียเวลาและเสียงบประมาณมากพอสมควรแต่คิดว่าต้องให้ความสำคัญ สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
2. กระบวนการและเนื้อหาควรจะตอบโจทย์ การเมืองไทยที่เป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่เราขัดแย้งกันในรอบ 18 ปี สะท้อนปัญหาสังคมไทยไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ว่า ระบบระเบียบการเมืองแบบไหนที่เรายอมรับจะอยู่ร่วมกัน
ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพดีจะไม่มีทางลัด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องออกแบบเพื่อป้องกันรัฐประหาร รวมถึงต้องมีระบบรัฐสภาที่มีคุณภาพ ต้องออกแบบให้เอื้อต่อการแข่งขันทางการเมืองอย่างมีคุณภาพ มีกลไกตรวจสอบอำนาจ ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วย สุดท้ายสิ่งที่เรียกว่าฉันทามติจะออกแบบสิ่งที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ที่อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นายชัยธวัชกล่าว
นายชัยธวัช ย้ำว่ากระบวนการจัดประชามติและกระบวนการสรรหาสสร.ไม่ควรกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกไปตั้งแต่ต้น ควรเป็นพื้นที่เปิดให้ทุกความคิดทุกคนรู้สึกว่าเขาได้รับการโอบรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แม้สุดท้ายรัฐธรรมนูญจะไม่ออกมา มีหน้าตาเหมือนกับความคิดของฝ่ายใดฝ่าย 100% ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่กีดกันเขาไปตั้งแต่แรก ทั้งนี้ต้องไม่ยอมรับรัฐประหารเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
ขณะที่นายราเมศ กล่าวว่า เราต้องการการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะฉบับที่ผ่านมา มาจากการส่งต่อการยึดอำนาจ หลายประเด็นริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน จึงควรแก้มาตรา 256 ให้เสียงในรัฐสภา เสียงที่มาจากประชาชนส่วนหนึ่งรวมกับ สว. แล้วมาสู้กันว่ากำหนดกฎเกณฑ์กติกาว่าจะใช้ตัวเลขเท่าไหร่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และต้องสอบถามประชาชนว่า อยากให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิอะไรบ้างไว้เป็นหลักประกันพื้นฐาน นอกจากนี้เรื่องของการกระจายอำนาจก็ให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกคนที่จะมาดูแลท้องถิ่น สำหรับกระบวนการ ตั้งสสร.นั้น เราเห็นด้วยที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ด้าน นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ตนมีความฝันว่าอยากอยู่ในประเทศที่มีอำนาจปกครองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้ที่ได้เสียงข้างมากย่อมเป็นรัฐบาล ไม่มีอำนาจอื่นมาแทรกแซง และตนอยากอยู่ในประเทศที่มีศาลและองค์กรตรวจสอบอำนาจที่มีที่มาเป็นอิสระ ไม่ใช่คนถูกตรวจสอบเป็นคนเลือกมา และอยากอยู่ในประเทศที่มีประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตและนโยบายประเทศ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาไม่ดี อีก 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ และนโยบายที่ดีต้องมาจากประชาชนไม่ใช่มาจากการเขียนโดยคณะรัฐประหาร หรือมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีพื้นฐานมาจากความต้องการของประชาชน
การตั้งคำถามประชามตินั้น จะต้องตั้งคำถามให้ดี ไม่ตั้งคำถามซ้ำซ้อน เพราะสุดท้ายการประชามติอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน เช่น ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ หากให้ สสร.ที่มาจากการแต่งตั้งมาทำหน้าที่ หรือประชาชนเห็นชอบหรือไม่หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 พร้อมยืนยันว่า หากรัฐบาลตั้งคำถามประชามติอย่างเปิดกว้างเป็นธรรม ภาคประชาชน จะช่วยกันสนับสนุนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติครั้งนี้ และย้ำว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมาจาก สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% นายยิ่งชีพกล่าว
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีการเปิดใช้ลานประชาชนในพื้นที่ของรัฐสภา หวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ประชาชนทุกความคิดทุกกลุ่ม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับรัฐสภาได้มากขึ้น
สำหรับภาพรวมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้นในฐานะประธานกรรมาธิการเห็นว่ามีข้อพิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอเกี่ยวกับกระบวนการที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองถึงแม้จะมีการทำประชามติในปี 2559 ก็ตาม
และข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหา หากยังมีหลายมาตราที่อาจจะมีความถดถอยทางประชาธิปไตย ทั้งการถูกเปรียบเทียบกับฉบับก่อน ๆ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยสากล
ท้ายที่สุดแล้ว ที่มาและกระบวนการจะเป็นเช่นไร จะส่งผลต่อเนื้อหาว่าจะเป็นเช่นไรเหมือนกัน และที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเนื้อหาว่าจะสะท้อนถึงอะไร
ถ้า สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเราสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้กลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายในสังคม มามีตัวแทนในสสร.ได้ เราจะมีเนื้อหาที่สะท้อนความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของทุกกลุ่มในสังคม แต่ถ้าเรามีสสร.ที่มาจากการแต่งตั้ง มิหนำซ้ำอาจจะถูกควบคุมจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแทรกแซงได้ เราก็อาจจะมีเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ถูกขีดเขียนให้ประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ และทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ” นายพริษฐ์ กล่าว
ทำให้เราต้องมีโจทย์สำคัญ 2 ข้อ ในการออกแบบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ คือ 1. เราจะทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเราคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรัดกุม และได้มาตรฐานสากลมากขึ้นได้อย่างไร 2. ต้องแก้ไขโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรให้สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างอำนาจของวุฒิสภาที่ไม่มีความสอดคล้องกันในเรื่องของอำนาจและที่มา หรือจะเป็นคุณสมบัตินายกที่ควรมาจากสส. และส่วนอื่น ๆิเช่นศาลรัฐธรรมนูญ, องค์กรอิสระ, การกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
นายพริษฐ์ กล่าวในมุม กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จากข้อมูลยังมีสองด้านที่เรายังได้น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยจากดัชนีประชาธิปไตย ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประชาธิปไตยบกพร่อง คือ 1. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ 2. ความตอบสนองของสถาบันทางการเมืองต่อความต้องการของประชาชน
นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงการตั้งคำถามเพื่อทำประชามติในครั้งแรกว่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ หากพูดด้วยหมวก สส.ของพรรคก้าวไกล ตนขอย้ำในข้อเสนอที่ให้แยกเป็นหนึ่งคำถามหลัก และสองคำถามรอง
ในส่วนของสสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง นายพริษฐ์ กล่าวถึงจุดยืนส่วนตัวว่าสสร.ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหลักการที่ตรงไปตรงมา เพราะเรามีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมายกร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ แล้วทำไมกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญถึงไม่มีสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ทั้งนี้ พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาผู้นำคณะราษฎร ได้มาร่วมรับฟังการเสวนาพร้อมพี่น้องประชาชน ณ ลานประชาชน ด้วย
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญ #ประชามติ