วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ภาคประชาชนยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอร่าง กฎหมายบำนาญถ้วนหน้า 3 พันบาท หวังสร้างหลักประกันรายได้ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 


ภาคประชาชนยื่น 43,826 รายชื่อ เสนอร่าง กฎหมายบำนาญถ้วนหน้า 3 พันบาท หวังสร้างหลักประกันรายได้ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (wefair) เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(P-MOVE) เครือข่ายชนเผ่า แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และประชาชนทั่วไป ร่วมกันยื่น 43,826 รายชื่อ เพื่อเสนอ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยมี มุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม เป็นตัวแทนรัฐสภาในการรับเรื่อง

 

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายเป็นการยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า โดยใช้อัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับผู้สูงอายุ จากการจัดเก็บและบริหารระบบภาษีและงบประมาณของประเทศมาใช้จัดสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไม่มีความมั่นคงในเรื่องรายได้ ทำให้ต้องเสนอกฎหมายผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยมีหลักการสำคัญคือยกระดับเบี้ยสงเคราะห์เป็นระบบบำนาญประชาชน เป็นระบบถ้วนหน้า ทุกคนที่อายุ 60 ปี ก็จะได้รับสิ่งนี้ทั้งหมด เป็นสวัสดิการแบบเสมอกัน

 

"เราใช้อัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ตอนนี้อัตราเส้นความยากจนในปัจจุบันต่อคนต่อเดือน กับผู้ที่มีรายได้ต่ำว่า 2,997 บาท ถือว่าเป็นคนจน เราก็ใช้เกณฑ์ตรงนี้เพื่อให้พ้นจากเส้นความยากจน"

 

นายนิติรัตน์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงินก็จะเข้าสู่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรี เราเชื่อว่านายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย จะตอบสนองต่อเรื่องนี้ เพราะว่าสถานการณ์ของสังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่เราจะต้องสร้างหลักประกันรายได้ให้กับคนสูงอายุ ซึ่งมีมากกว่า 12 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งระบบบำนาญประชาชนจะสะท้อนความเท่าเทียมกันของคนที่จะเข้าถึงในส่วนนี้

 

ขณะที่เบี้ยยังชีพในปัจจุบันต่ำมาก 600 - 1,000 บาท เปรียบเทียบแล้วประมาณวันละ 20 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ เราก็ใช้อัตรานี้ ในขณะที่งบประมาณที่ใช้จ่ายในปัจจุบันสำหรับผู้สูงอายุ 11 ล้านคน จะใช้ประมาณ 9 หมื่นล้าน เฉลี่ยแล้วประมาณ 600 กว่าบาทเท่านั้นต่อคนต่อเดือน ขณะที่งบประมาณสวัสดิการของข้าราชการบำนาญ ปัจจุบันเฉลี่ยแล้วต่อคนสูงถึง 30,000 บาทต่อคน ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ 3 แสนกว่าล้าน ซึ่งเท่ากับ 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ของทุก ๆ ปี ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการที่จะเห็นระบบบำนาญของประชาชนที่ทำให้เป็นสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า

 

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ประชาชนจาก จ.ราชบุรีที่เดินทางมาร่วมยื่นรายชื่อในครั้งนี้ กล่าวว่า ที่ตัดสินใจมาร่วมยื่น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐมักเลือกลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องคมนาคม ไฟฟ้า ถนนหนทางเป็นหลัก แต่มุมมองเราคือการสร้างรัฐสวัสดิการก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนึ่งของประเทศที่มีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ดังนั้นการมายื่นกฎหมายในรอบนี้เพื่อแสดงให้รัฐเห็นว่าโครงสร้างรัฐพื้นฐานหมายรวมถึงชีวิตของคนในประเทศด้วย จึงอยากเปลี่ยนมุมมองประชาชน เปลี่ยนมุมมองสังคมว่าการมีรัฐสวัสดิการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน

 

"ถ้ารัฐสร้างถนนจะได้ใช้กับคนที่มีรถเท่านั้น แต่การมีรัฐสวัสดิการเป็นการสร้างหลักประกันให้กับประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินนี้" นายสมวงศ์ กล่าว

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับการยื่นกฎหมายในครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว หลังจากถูกปัดตกครั้งแรกสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปัดตกครั้งที่ 2 ในรัฐบาลสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ภาคประชาชนคาดหวังให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยเร็ว เพื่อสร้างเกียรติ สร้างศักดิ์ศรีให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ด้าน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เบี้ยยังชีพในตอนนี้ไม่สามารถยังชีพได้ เพราะเส้นความยากจนอยู่ที่ 2,900 บาทแล้ว มองว่าการถกเถียงในสังคมค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกัน แต่แน่นอนว่าในฝั่งรัฐบาลนั้นจะกระทบงบประมาณมากแน่นอน เนื่องจากในรัฐธรรมระบุไว้ว่ากฎหมายอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเงินก็ต้องให้ฝ่ายบริหารรับรองก่อนว่าจะสามารถนำเข้าสภาฯได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ตนก็ต้องทำตามกลไกรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากจะเรียกร้องไปยังฝ่ายบริหารด้วย เพราะตอนนี้มีกฎหมายที่ถูกตีความว่าเป็นเรื่องการเงินจำนวนมากก็ยังไม่ได้ถูกรับรองให้มีการเข้ามาถกเถียงกันในสภาฯ ซึ่งก็เชื่อว่าต่อให้เป็นภาระทางการคลัง แต่การได้เข้ามาถกเถียงกันในสภาฯ และช่วยกันดูงบประมาณภาพรวม เป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีสิทธิ์ในการเข้ามาร่วมด้วยได้

 

และเชื่อว่าเรื่องสวัสดิการประชาชนจะเป็นวาระใหญ่ที่สุดวาระหนึ่ง ในการประชุมงบประมาณที่จะมาถึงในเดือนมกราคมนี้ เพราะนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจะถูกนำเสนอผ่านทางสภาฯ ว่าใช้งบประมาณได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามนโยบายหาเสียงหรือไม่ ฉะนั้น ตนจะทำหน้าที่ในส่วนของสภานิติบัญญัติให้ดีที่สุด

 

พร้อมย้ำว่าในส่วนของร่างกฎหมาย ประชาชนชนไม่ต้องห่วงว่าเมื่อถูกแก้แล้วจะสมบูณณ์มากน้อยแค่ไหน เพราะจะมีฝ่ายสำนักเข้าชื่อเสนอกฎหมายช่วยทำให้ร่างกฎหมายนั้นสมบูรณ์ และรีบบรรจุให้เร็วที่สุด

 

ขณะที่นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคม พร้อมกับสมาชิกคณะกรรมาธิการ กล่าวว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยเกี่ยวการเตรียมรับมือและรองรับสังคมผู้สุงอายุ แต่จนใกล้เข้าปี 2567 ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าของการดูแลผู้สุงอายุที่ดีพอ และเบี้ยที่ผู้สูงอายุได้รับก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ซึ่งประเด็นนี้นั้นมีการต่อสู้มาอย่างยาวนาน

 

สำหรับวันนี้เครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานมาพร้อมกับ 4 หมื่นกว่ารายชื่อที่รอคอยความหวัง และมีประชาชนอีก 10 กว่าล้านคนที่รอคอยความหวังอยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมขอยืนยันว่าจะไม่นิ่งนอนใจ และจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด นอกเหนือจากการรับรายชื่อ หนังสือ และการแถลงความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการ หวังว่ารัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะเห็นความสำคัญของสวัสดิการ และทุกพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องเงินผู้สูงอายุ ซึ่งหลายพรรคการเมืองพูดเหมือนกันว่าเงินผู้สูงอายุไม่เพียงพอ ต้องปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นต้องมาพูดคุยกันในคณะกรรมาธิการ แต่ในเบื้องต้นขอฉันทามติของประชาชนในครั้งนี้ให้นายกฯ ได้อนุมัติรับรองและนำมาพูดคุยกันในสภาฯต่อไป นายณัฐชา กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เบี้ยคนชรา #พรบผู้สูงอายุ