วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566

“พิธา” วิเคราะห์ผลงาน 100 วันแรกรัฐบาล “เศรษฐา” มีตั้งแต่ “คิดดีทำได้” ไปถึง “คิดอย่างทำอย่าง” มีทั้งด้านที่ผ่านและไม่ผ่าน ชี้ ปี67 เรื่องหินรอเพียบ หวังเห็นโรดแมป-แผนการทำงานรายปี-รายไตรมาสที่ชัดเจนกว่านี้ในปีหน้า


พิธา” วิเคราะห์ผลงาน 100 วันแรกรัฐบาล “เศรษฐา” มีตั้งแต่ “คิดดีทำได้” ไปถึง “คิดอย่างทำอย่าง” มีทั้งด้านที่ผ่านและไม่ผ่าน ชี้ ปี67 เรื่องหินรอเพียบ หวังเห็นโรดแมป-แผนการทำงานรายปี-รายไตรมาสที่ชัดเจนกว่านี้ในปีหน้า

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าววาระ 100 วัน วิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐา พร้อมชงข้อเสนอที่ต้องปรับปรุงสำหรับการทำงานของรัฐบาลสำหรับปี 2567 ข้างหน้า

 

โดยพิธา ระบุว่าร้อยวันแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ในการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสัญญาที่มีไว้ให้กับประชาชนก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาล ในฐานะโรดแมปในการบริหาร ตามงาน และการสั่งงานของรัฐบาล และในฐานะการบริหารความคาดหวังและความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลาและงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลทั่วโลกจึงจำเป็นจะต้องมีโรดแมปว่า 100 วันแรกจะมีการขับเคลื่อนอย่างไรได้บ้าง

 

สำหรับภาพใหญ่ พรรคก้าวไกลวิเคราะห์ผลงานของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ในช่วง 100 วันแรกด้วยระบบ “5 คิด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของการทำงานที่ผ่านมา ประกอบด้วย

 

1) “คิดดีทำได้” คือการบริหารผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ซึ่งต้องชื่นชมรัฐบาลและขอบคุณไปยังกระทรวงการต่างประเทศในการตั้งทีมเจรจา รวมถึงทีมเจรจาของทางรัฐสภาที่นำโดยอาจารย์วันนอร์ ที่ทำให้คนที่ถูกลักพาตัวไปได้รับการปล่อยตัว 23 คน การเยียวยาอนุมัติงบประมาณ 50,000 บาทต่อราย และการออกสินเชื่อเพื่อให้แรงงานไทยสามารถคืนถิ่นได้

 

แต่สิ่งที่อยากฝากรัฐบาลให้ทำต่อ คือการช่วยเหลือตัวประกันที่ยังอยู่กับฮามาสอีก 9 คน รวมถึงการอนุมัติเงินเยียวยาและการส่งต่อให้กับพี่น้องแรงงาน และหวังว่าสิ่งที่ได้ทำไปแล้วนี่จะเป็นการถอดบทเรียน ในกรณีที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่อื่นของโลกอีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นในการอพยพ การขนแรงงานกลับประเทศ การช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในเรื่องเกี่ยวกับเงินทองค่าใช้จ่าย ก็หวังว่ารัฐบาลจะสามารถต่อยอดและทำเรื่องนี้ให้ดีขึ้นได้ในภายภาคหน้า

 

2) “คิดไปทำไป” โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งตนเข้าใจว่าในการทำนโยบายบางครั้งจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและไม่สามารถที่จะคิดจบในครั้งเดียว เราเห็นด้วยกับความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการพัฒนาเทคโนโลยี แต่งบประมาณที่ใช้จำนวนมากมายถึง 500,000 ล้านบาทไม่ควรที่จะกระทบพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของบ้านเมือง

 

ที่ผ่านมา นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างน้อย 4 ครั้ง แสดงให้เห็นอาการของการคิดไปทำไป ก่อนเลือกตั้งมีการอธิบายว่าจะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินโดยไม่ต้องมีการกู้ แต่พอเป็นรัฐบาลก็บอกว่าจะใช้งบประมาณนอกจากธนาคารออมสิน แต่หลังจากนั้นกฤษฎีกาก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.ออมสิน ไม่สามารถใช้เงินจากธนาคารออมสินได้ ก็เลยเกิดการเปลี่ยนครั้งที่สองในเรื่องที่มาของเงิน จำเป็นต้องใช้เงินจากงบผูกพัน ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.เงินตรา ทำให้ต้องคิดไปทำไปในครั้งที่สาม เป็นการใช้งบประมาณบวกกับ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่ก็มีการเปลี่ยนอีกเป็นครั้งที่สี่มาสู่การใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 100%

 

ซึ่งถ้าดูการเปลี่ยนครั้งที่สี่เทียบกับสิ่งที่ได้สัญญาก่อนเลือกตั้งไว้ ก็จะเห็นได้ถึงความแตกต่างกันอย่างชัดเจน นี่คือการคิดไปทำไป ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องที่มาของงบประมาณเท่านั้น เรื่องของการใช้เทคโนโลยีก็เช่นกัน ก่อนเลือกตั้งบอกจะใช้ซุปเปอร์แอปและเทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านไปก็บอกจะใช้แอปเป๋าตังค์และจะใช้บล็อกเชนเป็นแบ็กอัป เป้าหมายจาก 56 ล้านคนก็เปลี่ยนมาเหลือ 50 ล้านคน จากที่จะเริ่มช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ก็เปลี่ยนไปเป็นเริ่มที่เดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้น

 

พิธากล่าวต่อไป ว่าดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณสูง เป็นการไปเบียดบังงบประมาณส่วนที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ในระยะยาวต่อได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ได้คิดอย่างตกผลึกและมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทำให้เกิดความสับสนในสังคมและในกลุ่มของตลาดทุนด้วยเช่นเดียวกัน

 

ดังนั้น สิ่งที่เราคาดหวังจากรัฐบาล คือการมี “แผนสอง” ในกรณีที่ดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถทำได้หรือติดปัญหาในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ในปีหน้ารัฐบาลควรที่จะมีความชัดเจนและไม่มีการปรับเปลี่ยนอีกแล้วถ้ายังยืนยันจะทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้าไม่ได้เป็นดิจิทัลวอลเล็ตก็ควรจะเกาให้ถูกที่คันและเลือกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนจากทางรัฐบาลเอง

 

อย่าลืมว่าจีดีพีมาจากการบริโภค บวกการลงทุนภาคเอกชน บวกการลงทุนภาครัฐ บวกส่งออก ลบนำเข้า ไม่จำเป็นที่จะต้องกระตุ้นจากการบริโภคอย่างเดียว การลงทุนก็สำคัญ การบริหารการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกแบบนี้ก็สำคัญ เพราะฉะนั้น เรามีวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าสิ่งที่ทำอยู่ ในกรณีที่ไม่สามารถทำได้ก็ควรที่จะมีแผนสองได้แล้ว” พิธากล่าว

 

3) “คิดสั้นไม่คิดยาว” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของประชาชนอย่างค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน หรือค่าเดินทางจากการขนส่งสาธารณะ สิ่งที่รัฐบาลได้ทำไปแล้วในระยะสั้นมีทั้งการลดค่าไฟลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม โดยใช้วิธีการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แบกภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ก็มีมติของคณะกรรมการพลังงานออกมา เคาะค่าไฟอยู่ที่ 4.68 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อที่จะชำระหนี้ที่แบกไว้ในอดีต ซึ่งนายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่าสูงเกินไปและต้องการลดลงมาอยู่ที่ 4.20 บาท นี่แสดงให้เห็นว่าหลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุม ครม. แต่ไม่ได้มีการตามงานต่อ ว่าในการที่จะลดให้ได้ถึงราคาที่เป้าหมายนั้นต้องทำอย่างไรบ้างและข้าราชการต้องทำอย่างไรบ้าง อีกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสายสำหรับรถไฟสายสีม่วงและสายสีแดง โดยมีประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 80,000 คน หรือเพียง 5% ของผู้ใช้รถไฟฟ้าทั้งหมด

 

แต่สิ่งที่ควรจะเป็นและเราคาดหวังจากรัฐบาล ในส่วนของค่าพลังงาน ก็คือการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างโรงงานไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมี ถ้าสามารถหาค่าเฉลี่ยหรือเอาก๊าซที่ถูกกว่าให้โรงไฟฟ้าใช้ผลิตให้กับประชาชน ก็จะสามารถลดค่าไฟลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงการเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ในกรณีค่าพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้นแม้ไม่มีการผลิตไฟ ที่ประชาชนยังจะต้องจ่ายค่าพร้อมจ่ายอยู่ประมาณ 15 สตางค์ต่อหน่วย ขณะเดียวกันปีหน้ารัฐบาลควรประกาศทบทวนการอนุญาตโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ในการผลิตกำลังไฟสำรองที่ไม่มีความจำเป็น และควรกระจายโอกาสในการผลิตพลังงานสะอาดผ่านโซลาร์เซลล์ให้มากขึ้น

 

ในส่วนของค่าโดยสาร สิ่งที่สำคัญคือการคมนาคมสาธารณะไม่ได้มีแค่รถไฟ ถ้าเรามองภาพใหญ่คนส่วนใหญ่จำนวนมากยังใช้รถเมล์และเรือ การทำให้การขนส่งสาธารณะมีความสะดวก การพัฒนาระบบตั๋วร่วม ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคิดยาวเพื่อแก้ปัญหาให้คนกลับมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่ถ้าจะมองในแง่ของรถไฟเพียงอย่างเดียว สิ่งที่รัฐบาลจะเกาแล้วถูกที่คันก็คือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากที่สุด

 

4) “คิดใหญ่ทำเล็ก” โดยเฉพาะนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ การเคาะงบประมาณ 5,164 ล้านบาทสนับสนุน 11 อุตสาหกรรม การเสนอตั้ง THACCA (Thailand Creative Content Agency) การเสนอตั้งศูนย์บ่มเพาะอัพสกิล-รีสกิล สำหรับแรงงาน 20 ล้านคน โดยมีเป้าหมายปีแรกที่ 1 ล้านคน และการทำวินเทอร์เฟสติวัลและสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายน

 

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือการเพิ่มเสรีภาพในการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ เช่น การเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ การเพิ่มสิทธิเสรีภาพในกาสร้างสรรค์ผลงาน ที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ว่าจะทำใน 100 วันแรกที่เป็นรัฐบาล การตั้ง THACCA ถ้าต้องการที่จะทำจริงๆ ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีทำกับ KOCCA นั่นคือการตั้งด้วย พ.ร.บ. ไม่ใช่แค่การพูดถึงว่าจะตั้งสถาบันส่งเสริมขึ้นมา รัฐบาลควรที่จะใช้เวลา 100 วันแรกที่ผ่านไปแล้วในการยื่น พ.ร.บ. ตั้ง THACCA เพื่อจะได้เห็นภาพได้ชัดว่าการบริหารจัดการสถาบันอันใหม่มีอำนาจรองรับ และสามารถทำให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มองเห็นได้ว่า THACCA กับสิ่งที่มีอยู่เดิมในการบริหารจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

 

ทั้งนี้ การแก้กฎหมายอาจใช้เวลานาน แต่การเสนอเข้าไปก็จะทำให้เห็นถึงความตั้งใจของว่ารัฐบาล ว่าจะทำงานอย่างไรต่อไป อีกทั้งยังมีกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศในระดับกระทรวงที่สามารถเสนอลดขั้นตอนการขออนุญาตกองถ่ายหรือในการจัดเฟสติวัลได้ ซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยอำนาจของ ครม. และอำนาจของรัฐมนตรี นี่ก็เป็น Quick Win ที่เราอยากเห็นจากการดำเนินงานของรัฐบาล รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือกระทั่งสื่อมวลชน ที่ พ.ร.บ.แรงงาน ของพรรคก้าวไกลได้เสนอเข้าไปสู่สภาฯ แล้ว ถ้ามีการพิจารณาตรงนี้จะทำให้คนทำงานฟรีแลนซ์สามารถรวมตัวกันและเรียกร้องสวัสดิการ เพื่อให้มีแรงผลักดันในการสร้างผลงานที่สร้างสรรค์ต่อไป

 

เรื่องของ 11 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้พูดไว้ เรื่องของอาหารเป็นหนึ่งในนั้น สิ่งที่เป็นควิกวิน (Quick Win) ที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสามารถทำได้เลยก็คือการแก้กฎกระทรวงให้เกิดสุราก้าวหน้า แก้แค่ว่าการผลิตแอลกอฮอล์นั้นไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายในการกีดกันด้วยเงินทุน จำนวนผู้ผลิต หรือจำนวนแรงม้า ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ประกอบการที่มีเรื่องราว ความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา สามารถที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย

 

สุดท้ายสิ่งที่เกาหลีได้ทำในการสร้าง K-Wave คือการทำคูปองเปิดโลก 2,000 บาท ในการกระตุ้นอุปสงค์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ได้ทันที รวมถึงการเพิ่มรอบฉายของภาพยนตร์ไทย สามารถเพิ่มรอบฉาย 30% ของรอบฉายที่อยู่ในโรงหนังทั้งหมด สามารถเพิ่มทั้งในแง่อุปทานและอุปสงค์ของอุตสาหกรรมนี้ได้โดยเร็ว ภายใน 100 วันแรกเช่นเดียวกัน

 

5) “คิดอย่างทำอย่าง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเมือง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในการแก้รัฐธรรมนูญ คือการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำประชามติกี่รอบและคำถามจะเป็นอย่างไร และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจพอสมควร เพราะในการทำงานร่วมกันในฐานะฝ่ายค้านร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในอดีตที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเราเห็นตรงกัน 90% ไม่ว่าจะเป็นที่มาของ สสร. หรือกระบวนการทำประชามติ แน่นอนว่าอาจจะมี 5-10% ที่อาจจะเห็นต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่พอพรรคเพื่อไทยเข้าสู่อำนาจกับขั้วตรงข้ามที่ไม่อยากเห็นการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ ก็เกิดความไม่ชัดเจน เกิดความคิดอย่างทำอย่างขึ้น

 

ในขณะที่สิ่งที่ควรจะเป็นนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่าจากการศึกษาในรัฐสภาครั้งที่เเล้ว รวมถึงการพูดคุย ดีเบต ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนในการหาเสียงที่ผ่านมา การทำประชามติควรที่จะมี 1+2 คำถาม คือจะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. หรือไม่, สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ และ สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความยุติธรรมการเข้าถึงอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

 

พิธากล่าวต่อไป ว่าสุดท้ายนี้ตนอยากเสนอความคาดหวังต่อรัฐบาลในปีหน้าที่สะท้อนมาจากประชาชน ในปีหน้าจะมีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมเรื่องใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องร้อนที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในเมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ การปฏิรูปการศึกษา ปัญหาเรื่อง pm2.5 ปัญหาภัยแล้งที่ปีหน้าน่าจะหนักเป็นประวัติการณ์

 

1) เราต้องการเห็นโรดแมป 1 ปี ที่สะท้อนให้เห็นว่าวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และแผนในการปฏิบัติคืออะไร โรดแมปที่ดีก็คือการมีแผนที่ชัดเจนในการทำงาน ให้ประชาชนสามารถติดตามได้ มีเป้าหมาย KPI ที่ชัดเจน

2) มีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพในการผลักดัน จะมีเป้าหมายอย่างไรและจะมีกระบวนการไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร

3) การทำงานของรัฐบาลผสมที่ต้องทำงานให้เป็นเอกภาพมากกว่านี้

4) การศึกษาโครงการสำคัญๆ อย่างละเอียด เช่น เมกะโปรเจกต์อย่างแลนด์บริดจ์ ต้องมีความชัดเจนและมีระยะเวลาที่ชัดเจน

 

หากทำได้ตามนี้ ก็มั่นใจว่าจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในปีหน้าสามารถเรียกความเชื่อมั่น และแสดงความมุ่งมั่นให้ประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล ที่จะรักษาสัญญาที่มีไว้กับประชาชนในการหาเสียง รวมทั้งสามารถบริหารได้ดีขึ้น และสุดท้ายก็จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นจากทางประชาชนทั้งในประเทศและนอกประเทศได้ไม่มากก็น้อย” พิธากล่าว

 

ทั้งนี้ หลังการแถลงจบลง สื่อมวลชนได้ถามพิธาว่าให้คะแนนรัฐบาลใน 100 วันแรกผ่านหรือไม่ผ่าน ซึ่งพิธาระบุว่า ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง มีบางเรื่องที่ทำได้ดีแล้วก็ขอให้ทำต่อ บางเรื่องที่ทำแล้วยังมีข้อที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงก็หวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอของฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ และฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน

 

นอกจากนี้ ยังมีการถามถึงการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ซึ่งพิธาระบุว่าตามที่มีสื่อมวลชนวิเคราะห์ออกมา ปีหน้ารัฐบาลมีความท้าทายทั้งในเรื่องการเติบโตของจีดีพี เรื่องดิจิทัลวอลเล็ตที่อยู่ในกฤษฎีกา การกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ทำรายได้รวมไม่ถึง 4 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาแล้วถึง 27 ล้านคนแล้วก็ตาม การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ที่คาดไว้ว่าในระดับประเทศอื่นจะอยู่ที่ 60% แต่ประเทศไทยกลับมาแค่ 40% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายฟรีวีซ่ายังไม่เพียงพอ

 

คำตอบจึงขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐบาล ถ้าฟังประชาชนและฟังเพื่อนนักการเมืองบ้าง ว่ารัฐบาลควรจะต้องทำงานอย่างมีโรดแมป มีแผน 1 ปี และมีแผนปฏิบัติการได้แล้ว แต่ละไตรมาสจะทำอะไรบ้าง กฎหมายสำคัญที่จะต้องยื่นเข้าสู่สภาเพื่อให้รัฐบาลสามารถทำงานได้คืออะไรบ้าง

 

ผมเห็นหลายครั้งว่ารัฐบาลเน้นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาปากท้อง แต่ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะสามารถยื่นเข้าไปก็ยังไม่เห็นภาพตรงนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำอะไรให้เป็นเรื่องของการแก้ทางโครงสร้างหรือการแก้ทางต้นตอได้ เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่องไม่ได้มีแต่เพียงแค่เรื่องการขาดงบประมาณหรือขาดวิสัยทัศน์ แต่มีกฎหมายเก่าที่ไม่เอื้ออำนวย ตรงนี้ก็อยากเห็นความชัดเจนในหลายๆ ด้านในการทำงานปีหน้า” พิธากล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์