วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"หมอเหวง" ฝากถึง พรรคเพื่อไทย อยากได้คะแนนนิยมเพิ่ม อยากชนะเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมาทางนี้!

 


"หมอเหวง" ฝากถึง พรรคเพื่อไทย อยากได้คะแนนนิยมเพิ่ม อยากชนะเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมาทางนี้!


(ถอดคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.เหวง โตจิราการ โดย มติชนสุดสัปดาห์ เผยแพร่เมื่อ 30 พ.ย. 2566)


***นิรโทษกรรม นักโทษทางการเมือง?***


คือในความเห็นของผมนะ คำว่านิรโทษทางการเมืองมันเกิดขึ้นจากมันมีนักโทษทางการเมืองเกิดขึ้นก่อน ซึ่งผมคิดว่าไม่ควรจะมีนักโทษทางการเมืองเกิดขึ้นเลย เพราะว่านักโทษทางการเมือง ชื่อมันก็บอกอยู่ในตัวแล้วก็คือว่าประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองกับรัฐ แล้วรัฐถือประชาชนเป็นศัตรู ต้องการกำจัดประชาชน ก็เลยใช้วิธีการในการที่จะกำจัดด้วยรูปแบบต่าง ๆ จริง ๆ ก่อนหน้าโน้นรัฐใช้วิธีการกำจัดแบบทื่อ ๆ แบบโหดเหี้ยมอำมหิตเลย คือฆ่าทิ้งหรือไม่ก็อุ้มเอาไปทิ้ง ถีบลงเขาเผาลงถังแดงนี่ชัดเจนเลย พอเห็นใครที่ไม่ชอบใจก็ป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เอาไปโยนทิ้งฆ่าทิ้ง


สมัยโบราณจริง ๆ เขาจัดการคนที่เห็นต่างทางการเมืองก็คือฆ่าทิ้ง พอโลกพัฒนามามากพอสมควร การฆ่าทิ้งมันเป็นเรื่องที่อำมหิตป่าเถื่อนเกินไป ก็เลยใช้วิธีการจับขังคุกคือใช้วิธีการลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งผมคิดว่าถ้าเป็นนักโทษทางการเมืองมันต้องไม่มี เพราะคำว่านักโทษทางการเมืองมันชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าประชาชนเขาเหล่านั้น เขาเพียงแต่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองกับรัฐในยุคนั้นในสมัยนั้นในภาวะนั้นเท่านั้นเอง


ผมมีการจำแนกครับ คือยกเว้นกลุ่มคนที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือยกเว้นคนที่ทำผิดกฎหมาย อาทิเช่น กฎหมายอาญาอย่างนี้ใช่ คุณก็ลงโทษเขาไปตามข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ สมมุติว่ามีความผิดตามรัฐธรรมนูญคุณก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญก็ว่ากันไป จริง ๆ แล้วในรัฐธรรมนูญมันก็มีกำหนดใหญ่ ๆ ไม่กี่เรื่องเท่านั้นเอง อันที่ 1. ก็คือว่าจะต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. จะต้องเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกไม่ได้ 3. สถาบันกษัตริย์ต้องเป็นสถาบันที่เคารพรักสักการะของประชาชนสูงสุดใครแตะต้องไม่ได้ เท่านั้นเอง ถ้าเขาไม่ละเมิด 3 อย่างนี้คุณจะไปป้ายสีเขา คุณจะไปหว่านแหเขา คุณจะไปจับกุมเขาในฐานะที่เป็นนักโทษทางการเมืองไม่ได้


เพราะฉะนั้นความเห็นส่วนตัวผม ตั้งแต่ 14ตุลาเป็นต้นมา จนมาถึง 6ตุลา จนมาถึงปี 35 นะ จริง ๆ รวมถึง “ถังแดง” ด้วย และจนมาถึงปี 51, 52, 53 นะ และจนมาถึงปี 63, 64, 65, 66 ผมมองไม่เห็นเลยว่าคุณมีเหตุผลอะไรในการที่ไปจับกุมเขา ตั้งแต่ 14ตุลาแล้วไปจับกุมเขา อย่างกลุ่มที่เขาไปเรียกร้องรัฐธรรมนูญในสมัยโน้นไปจับกุมเขาจนเห็นเหตุที่มาของ 14ตุลา และหลังจากนั้นเป็นต้นมาเขาก็เลยหาวิธีการที่สำหรับเขาแล้วคือฝ่ายตรงข้ามคือฝ่ายรัฐ แนบเนียนในการที่จัดการคนเห็นต่างทางการเมือง คือแก้ไขมาตรา 112 เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่ามาตรา 112 แตะต้องได้ แก้ไขได้ ก็พวกรัฐบาลเผด็จการ ผมขออนุญาตเติมคำว่า “ทรราช” ลงไป เพราะว่าเขาฆ่าอย่างอำมหิต ในธรรมศาสตร์นี่รัฐบาลเผด็จการทรราชสมัยนั้นเป็นคนที่คลอด ให้กำเนิดมาตรา 112 ที่ยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันด้วยจุดมุ่งหมายในการที่จะเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคนที่เห็นต่างทางการเมือง


ผมจึงอยากนำเสนอความคิดเห็นของผมและประวัติศาสตร์ตอนนี้ของผมไปยังผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือรัฐบาล 112 นี่เป็นเพียงนะฮะ สมัยปี 6ตุลา19 จนถึงปัจจุบัน ก็คือเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐใช้ในการที่จะทำลายล้างคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับตัวเอง เพื่อที่จะลงโทษเขาได้อย่างหนักหนาสาหัสเลย 3-15 ปี จริง ๆ มาตรา 112 มีมายาวนานตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งยังไม่เคยหนักหนาสาหัสขนาดนี้เลยนะ ไม่ว่าตั้งแต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5, ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6, ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ไม่หนักหนาสาหัสเท่าปัจจุบันนี้


ข้อแรกที่สุดสำหรับผม ผมว่าไม่สมควรจะมีนักโทษทางการเมือง เขาเพียงแต่เป็นคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เพราะฉะนั้นวิธีการจัดการกับคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองควรจะต้องเคารพความแตกต่าง นี่คือความงดงามของโลกปัจจุบัน ก็คือหมายความว่าให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างสุดขั้วแต่ดำรงอยู่ร่วมกันได้ เช่น 1 คุณต้องเคารพกติการัฐธรรมนูญ 2 คุณต้องเคารพกติกากฎหมายที่บังคับใช้เป็นการทั่วไปนะ แต่ถ้าคุณไม่เคารพ 2 อย่างนี้ คุณก็ถูกลงโทษไปตาม 2 อย่างนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมันไม่มี


ฉะนั้นสำหรับผม ผมยังมองไม่เห็นว่าในเมืองไทยมันจะมีนักโทษทางการเมืองตรงไหน มันไม่มี มันมีแต่คนที่เห็นต่างจากรัฐอย่างปี 51, 52, 53 ถ้าเริ่มต้นตั้งแต่ตอนแรก 50, 51, 52 ก็เห็นต่างจากการยึดอำนาจของคณะ คปค. กับ คมช. เท่านั้นเอง เขาเห็นว่ามันไม่ควรจะยึดอำนาจ


***นิรโทษกรรมเหมาเข่งปี พ.ศ. 2556***


จริง ๆ ที่มาของนิรโทษ ต้องเท้าความนิดหน่อยคือว่า พอหลังจากปี 53 พวกผมก็ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำประมาณ 9 เดือนเศษ พอได้รับการประกันตัวมา ตอนนั้น อ.ธิดาก็มาเป็นประธานนปช. ตอนนั้นมันก็เกิดภาวะคนเสื้อแดงที่โดนใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ แล้วก็เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แล้วก็ถูกติดคุกจำนวนมากเป็นเรือนพัน บางคนก็มีคำพิพากษาไปบ้างแล้ว อ.ธิดาก็เลยเกิดความคิดว่าพวกนี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ถูกใส่ร้ายป้ายสีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นควรจะต้องนิรโทษ ทีนี้ก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า เราจะเห็นแก่ตัว นิรโทษเฉพาะนปช.ไม่ถูก เพราะว่าทางพันธมิตรฯ เขาก็มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลไทยรักไทย จากรัฐบาลพลังประชาชน และเกิดคดีทางการเมืองขึ้นเช่นกัน เขาก็เลยประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน อ.ธิดานี่แหละมีความใจกว้าง เห็นว่าถ้าจะนิรโทษ ก็นิรโทษตั้งแต่ปีกุมภา49 เป็นต้นมา นิรโทษไปจนถึงวันที่คิดกันก็คือประมาณปี 54 คือยิ่งลักษณ์ขึ้นเป็นรัฐบาลแล้ว

 

แต่มองเห็นว่าการที่เมืองไทยมีการยึดอำนาจรัฐประหารอยู่เรื่อย ๆ มองเห็นชัด ๆ การที่เมืองไทยมีการฆ่าคนกลางถนนโดยรัฐซ้ำซาก ๆ ๆ อยู่เรื่อย ๆ เพราะรัฐใช้ข้ออ้างทางการเมือง หรือใช้การใส่ร้ายป้ายสีเช่นกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ หรือว่าผังล้มเจ้ามายัดเยียดข้อหา รัฐพวกนี้จะใช้ข้ออ้างพวกนี้เพื่อฆ่าคนทางตรง เพราะฉะนั้น รัฐพวกนี้จะต้องไม่มีโอกาสในการฆ่าคนกลางถนนอีกต่อไป วิธีการที่จะหยุดรัฐไม่ให้ฆ่าคนกลางถนนอีกต่อไปก็คือว่าต้องหยุด คือต้องจับเอาฆาตกรปี 53 มาลงโทษให้ได้ แล้วก็คนสั่ง เพราะว่าทหารเขาจะยิงปืนไม่ได้หรอกครับถ้าเจ้านายไม่สั่ง ผมเองมีประสบการณ์ก็คือตอนน้ำท่วมดอนเมือง ประมาณ 2-3 เมตร รถทหารอยู่ใกล้ ๆ ผมบอกน้อง ๆ มาช่วยผมหน่อย ผมจะเอาเรือไปช่วยชาวบ้าน เขาบอกหมอครับไม่ได้ นายต้องสั่ง ผมก็ถึงบางอ้อเลยว่าที่คุณยิงปี 53 นายต้องสั่งแน่นอน ฉะนั้นนอกจากคนยิงทำเกินกว่าเหตุ เพราะเขาสองมือเปล่า คุณมีกล้อง หรือ M16 ก็ตาม มันก็มีบากหน้าบากหลังมองเห็นว่าคนที่เล็งยิงอยู่มันสองมือเปล่า เพราะฉะนั้นเป็นการทำที่เกินกว่าเหตุ เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารคือทำเกินกว่าเหตุ ผู้บังคับบัญชากลางที่สั่งลงมาตามลำดับชั้นขึ้นไป คงจะไล่ไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไล่ไปถึงรองนายกรัฐมนตรีว่าด้วยความมั่นคง ไปถึงนั่นเลย พวกนี้ทำเกินกว่าเหตุทั้งสิ้น


เพราะฉะนั้น อ.ธิดาก็เลยคิดขึ้นมาว่า 1. เริ่มต้นตั้งแต่ปี 49 2. นิรโทษเฉพาะประชาชน กระทั่งแกนนำที่รับผิดชอบตัดสินใจในการเคลื่อนไหวไม่ว่าฝ่ายเสื้อแดงก็ดี ไม่ว่าฝ่ายเสื้อเหลืองก็ดี ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองจากนิรโทษฉบับของนปช.ในสมัยโน้น สมัยอ.ธิดา เราก็เลยให้นิรโทษเฉพาะประชาชน แล้วเราเขียนชัดเจนเลยว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจในการเคลื่อนไหวรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำเกินกว่าเหตุไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายนิรโทษฉบับนี้ ปรากฏว่าตอนนั้นก็มีสส.คนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยซึ่งก็เป็นแกนนำของนปช.ด้วย มาขออนุญาตอ.ธิดาเพื่อไปเสนอผลักดัน อ.ธิดาก็ได้ตอกย้ำกับเขาหลายครั้งเลยบอกว่าต้องไปเสนอเป็นพ.ร.ก. เพราะถ้าคุณไปเสนอเป็นพ.ร.บ. จะถูกยำใหญ่ในสภาแน่นอน เพราะไม่รู้ฝ่ายไหนจะต้องไปเติมแน่นอนและจะไม่ประสบผลสำเร็จ สุดท้ายก็เป็นจริงตามที่อ.ธิดาว่า คือสส.ดังกล่าวก็ไปเสนอ ผ่านวาระที่ 1 จริง แบบเก่าจริง ก็คือนิรโทษเฉพาะประชาชน พอผ่านวาระที่ 1 พรรคเพื่อไทยนี่แหละแก้ให้นิรโทษให้หมด ก็เกิดประเด็นเลย เพราะคนยังค้างคาใจกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่มีคำพิพากษาว่าด้วยเรื่องการทุจริต เขาก็ค้างคาใจว่านิรโทษเหมาเข่งนี่จุดมุ่งหมายก็คือคุณต้องการที่จะปกป้องคุ้มครองทักษิณเพียงเท่านั้นใช้มั้ย นปช.เราก็ไม่เห็นด้วยนะ ผมเองก็ไม่เห็นด้วยจริง ๆ ตอนนั้นผมเป็นสส.ของพรรคเพื่อไทย อย่างเก่งที่สุดผมก็เพียงแต่งดออกเสียง ถ้าผมยกมือไม่เห็นด้วยก็เท่ากับผมเป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้านสมัยโน้นไปเลย นี่คือความล้มเหลวในตอนรัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์


***นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล 2566***


ทีนี้มาจังหวะปัจจุบันคือมันเริ่มต้นตั้งแต่ปี 63 คือเยาวชนคนรุ่นใหม่เขาเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เยอะแยะ แล้วเขาไม่ได้ไปเชื่อตามโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง คนเสื้อแดงต้องการที่จะล้มเจ้า คนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ เขาศึกษาประวัติศาสตร์ยาวเลย พวกนี้ก็เลยต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เขาเห็นว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของสังคมไทย ผมก็พยายามไปติดตามนะ เท่าที่ผมดู สำหรับผมนะ 1. เขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบอื่น เขาไม่ได้ต้องการระบอบประธานาธิบดี 2. เขาไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากราชอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ไปเป็นอย่างอื่น 3. เขาไม่ได้ต้องการที่จะไปลบล้างความเป็นสถาบันสูงสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์อันใครแตะต้องไม่ได้ เขาไม่ได้ต้องการที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างนี้


ผมดูแล้วตั้งแต่ 63 เป็นต้นมา ก็เป็นความขัดแย้งทางการเมืองทางความคิดจากการนำเสนอการพูดจาปราศรัยอะไรต่าง ๆ ผมไม่ได้ไปตามฟังโดยละเอียดทุกถ้อยคำ แต่ผมเอาหลักการสำคัญ ๆ 3 ข้อข้างต้น ถ้าเขายังอยู่ในกรอบ 3 อันนี้ผมก็ถือว่าเป็นความเห็นแตกต่างทางการเมือง ก็ไม่ควรจะต้องจับเข้าคุก ความคิดเห็นของผมนะ ส่วนเขาไปพูดจาอะไรยังไงล่วงล้ำก้ำเกินก็ว่ากันไป

.

กลับมาสู่ปัจจุบัน วันก่อนผมก็ไปพูดกับ iLaw ผมก็บอกชัด ๆ ว่าผมเห็นด้วยนะกับการนิรโทษทางการเมือง แต่เป็นการนิรโทษเฉพาะประชาชนนะ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุเหล่านั้น แล้วพอมาถึงปัจจุบัน กรณีเสื้อแดงก็ดี เสื้อเหลืองก็ดี มันผ่านพ้นมาเยอะแยะแล้ว วันนี้เอาเฉพาะเรื่องนี้ เอาเฉพาะนิรโทษประชาชน แต่ไม่นิรโทษให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุและผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น เขาไปชุมนุมฟังปราศรัย คุณตั้งตู้คอนเทนเนอร์ก็ว่าไปไม่เป็นไร แต่สำหรับผมนะ การเอาหัวสายดับเพลิงฉีดน้ำแรง ๆ ผมไม่เห็นด้วยนะ สายฉีดน้ำดับเพลิงแรง ๆ ถ้าบังเอิญโดนตา หลุดฮะ หลุดออกมาเลย ผมไม่เห็นด้วย นี่ก็เป็นการทำเกินกว่าเหตุ และยิ่งมีการยิงกระสุนแก๊สน้ำตานะ ผมไม่ใช่ทหารไม่ใช่ตำรวจ ผมเคยเห็นผ่าน ๆ รูปทรงมันไม่ต่างกับลูกของ M79 เลย การใช้ความรุนแรงกับประชาชนมันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง


จริง ๆ เขาควรจะต้องตั้งเวที จะเป็นสนามศุภชลาศัยก็ได้ อาจจะเป็นสนามราชมังฯ ก็ได้ เหมือนที่เขาตั้งเวทีปราศรัยเลย แล้วคุณก็เอากระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาฟังเขา เขาพูดผิดคุณก็ชี้แจงอธิบายเขาหรือโต้แย้งเขาก็ได้ พูดถูกก็เอามาปฏิบัติใช้เท่านั้นเอง ไม่ต้องไปจับกุมคุมขัง หรือไม่ต้องใช้แก๊สน้ำตา หรือไม่ต้องใช้สายดับเพลิงฉีดน้ำแรงสูงไปฉีดใส่เขา


***เพื่อไทยควรสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษ?***


จริง ๆ ผมอยากจะเรียนไปยังพรรคเพื่อไทยนะครับ ผมอยากให้พรรคเพื่อไทยสร้างคะแนนนิยมกับประชาชน เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็คือ 14 พฤษภาคม 2566 ก่อนหน้าโน้น โพลก็ดี บรรยากาศก็ดี กระแสก็ดี พรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจเลยว่าจะได้ 349 แต่สุดท้ายมันออกมาอย่างนี้ พรรคเพื่อไทยต้องสรุปบทเรียนนะครับว่า ที่เกิดขึ้นเพราะประชาชนเขาเห็นแล้วว่าทิศทางทางการเมืองหรือความแหลมคมทางการเมือง หรือจุดยืนทางการเมือง หรือคะแนนนิยมทางการเมืองของก้าวไกลแรงกว่าพรรคเพื่อไทยมหาศาลครับ และที่พรรคเพื่อไทยยังได้เยอะอยู่เพราะว่าเขาให้ความมั่นใจในด้านเศรษฐกิจ


แต่มาวันนี้ผมก็ไม่แน่ใจนะ ผมก็อยากจะให้กำลังใจนะ ให้พรรคเพื่อไทยชนะทางเศรษฐกิจก็คือว่าให้ดิจิทัลวอลเล็ตผ่านนะ ให้หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน เพื่อประเทศไทยจะได้เปลี่ยนโฉมหน้า ผมก็ไม่แน่ใจ ผมดูแล้วตอนนี้ก็เซเต็มแก่แล้ว แต่ผมเสนอทางเลือกอันหนึ่งก็คือว่าพรรคเพื่อไทยแสดงความนิยมทางการเมืองขึ้นมาซิครับ คือดึงหรือสร้างความนิยมชมชอบทางการเมืองขึ้นมาสิครับ และผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยถ้าประกาศรับรองนะ นิรโทษทางการเมืองเฉพาะประชาชนนะ โดยไม่นิรโทษให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่กระทำเกินกว่าเหตุและผู้สั่งการ ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ทำเกินกว่าเหตุ ผมว่าถ้าพรรคเพื่อไทยพูดชัด ๆ นะว่าสนับสนุนนิรโทษ ผมว่าสถานการณ์ทางการเมืองของเพื่อไทยเปลี่ยนเลย


ผมไม่รู้นะ ผมไม่บังอาจสอนพรรคเพื่อไทย แต่ผมติดตามมาอย่างใกล้ชิดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง คือเพื่อไทยเริ่มอ่อนแรงลงหลังจากที่ตอบคำถามไม่ได้หรือตอบไม่ชัดว่าจะเอาลุงหรือไม่เอาลุง ตอบเบอะ ๆ บะ ๆ อย่างนี้ตลอดเวลา ตอบโอนเอน ๆ ตลอดเวลา นี่ผมเจอสส.คนหนึ่งเป็นสส.ดาวรุ่งของพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้สอบตก เขาบอกผมเองเลยบอกว่าเพราะพรรคตอบไม่ชัดเรื่องเอาหรือไม่เอาลุง พอถึงเวลา จบเลย ประชาชนเขาไม่ลงเลือกตั้งให้ วันนี้ก็เหมือนกัน


ผมจึงอยากจะเรียนไปยังพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยครับ ถ้าคุณประสงค์อยากได้คะแนนนิยมทางการเมือง คุณประกาศไปเลยว่าคุณสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษ ของก้าวไกลเขา แล้วคุณบอกเลยว่าจะดึงคะแนนของสส.ร่วมรัฐบาลทั้งหมดมาสนับสนุน พ.ร.บ.ของก้าวไกล หรือมากไปกว่านั้น คุณบอกว่าคุณยินดีที่จะไปพูดกับสว.เพื่อมาสนับสนุนนิรโทษทางการเมืองให้เฉพาะประชาชน ผมว่าคะแนนทางการเมืองจะไหลเข้ากระเป๋าคุณเต็มที่เลย แล้วดีไม่ดีอาจจะแซงก้าวไกลก็ได้ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะว่าขณะนี้คนเขากำลังจับจ้องคุณอยู่เกี่ยวกับเรื่อง 2 เรื่องที่คุณกำลังทำ ผมให้กำลังใจนะ และผมค่อนข้างจะมีความเชื่อมั่นมากนะ ไม่ใช่มองว่ามันจะล้มเหลวนะ ผมเชื่อว่าเพื่อไทยจะทำสำเร็จและสามารถที่จะดึงคะแนนนิยมทางด้านเศรษฐกิจมาตุนไว้ในกระเป๋าตัวเองได้

 

แต่คุณยังขาดคะแนนนิยมทางการเมืองนะ แล้วคนเขายังไม่เชื่อมั่นในคะแนนนิยมทางการเมืองของคุณ บางคนเขายังคลางแคลงใจว่าคุณแบบซ่อนเร้นหรือมีปิดบังอำพรางอะไรหรือเปล่า คุณมีจิตใจโอนเอนไปหาฝ่ายรัฐประหารหรือเปล่า คุณมีจิตใจโอนเอนไปนิยมชมชอบฝ่ายรัฐประหารหรือเปล่า ถ้าคุณประกาศเรื่องนิรโทษชัด ผมว่าไอ้ความคลุมเครือเรื่องนี้มันจะกระจ่างไปจากใจคน เชื่อผมเถอะครับ คะแนนนิยมทางการเมืองของประชาชนจะไหลกลับมาหาคุณ เพราะคะแนนนิยมทางการเมืองมันขึ้นลงตลอดเวลา มันขึ้นอยู่กับพฤติกรรม แนวทาง นโยบายและทิศทางทางการเมืองในจังหวะนั้น ๆ เพราะฉะนั้นผมเรียนไปยังพรรคเพื่อไทยนะว่าเป็นโอกาสของคุณแล้วในการที่คุณจะกวาดคะแนนนิยมทางการเมืองเข้ากระเป๋าคุณ


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน