วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566

แถลงการณ์ตัวแทนนิสิตนักศึกษาในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 


แถลงการณ์ตัวแทนนิสิตนักศึกษาในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560


เรื่อง รายงานผลประชุมและกล่าวความรู้สึกหลังการประชุม


เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งขึ้น มีการนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตัวแทนนิสิต นักศึกษา ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 - 16.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล


โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ได้รับเชิญเข้าร่วมพูดคุยในวันและเวลาดังกล่าว ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่มนิสิตและนักศึกษา ดังต่อไปนี้

1) แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

2) องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3) สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4) สภาเด็กและเยาวชน

5) ตัวแทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6) สภานักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

7) ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

8) ตัวแทนนักศึกษาจากเครือราชภัฏ


นิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งรับหน้าที่เป็นโฆษกของคณะกรรมการชุดนี้ เป็นประธานอนุกรรมการและผู้ดำเนินการประชุมโดยมีวาระการประชุมที่ประกอบด้วย 4 ข้อ ดังนี้


ข้อที่ 1 เกี่ยวข้องกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงหมวด 1 และหมวด 2

ข้อที่ 2 เกี่ยวข้องกับปัญหาในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560

ข้อที่ 3 เกี่ยวข้องกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

และสุดท้าย ข้อที่ 4 เกี่ยวข้องกับการทำประชามติในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


ซึ่งประธานในที่ประชุมได้อธิบายว่า ข้อที่ 1 ทางรัฐบาลยืนยันว่ามีสิทธิ์ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกเว้นหมวดที่ 1 และหมวด 2 ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เพราะหากแก้ไขทั้งสองหมวดดังกล่าวอาจจะไม่ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภา


ในข้อที่ 2 ประธานการประชุมแสดงความเห็นด้วยกับการที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มีปัญหาในประเด็นการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แต่กลับพยายาห้ามการอภิปรายของนักศึกษาคนหนึ่งในประเด็นเนื้อหาหมวดที่ 2


ในข้อที่ 3 ประธานการประชุมแสดงความกังวลว่า หาก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดอาจทำให้ไม่ได้ตัวแทนที่ครอบคลุมจากคนทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มของเยาวชน คนรุ่นใหม่ เพราะไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ และอาจทำให้บางกลุ่มการเมืองได้รับที่นั่งมากจนเกินไป ซึ่งจะมีเสียงคัดค้านจากในสภามาก


ในข้อที่ 4 ประธานการประชุมแสดงความเห็นชอบในการทำประชามติ 2 รอบ ครั้งแรกก่อนมีการร่างประชาชนจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่าอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และอีกครั้งหลังมีการร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จประชาชนจะได้มีโอกาสให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


และเราจึงขอยืนยันความเนของเราต่อประชาชนว่า


ข้อที่ 1 ตัวแทนนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ยืนยันร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขทุกหมวดทุกมาตราโดยไม่มีข้อยกเว้น ในส่วนของความชอบธรรมหากต้องละเว้นการพูดถึง หรือคงไว้ซึ่งหมวดที่ 1 และ 2 จำเป็นต้องย้อนกลับไปภายหลังการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้กล่าวอ้างถึงรับสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ จึงอนุญาตให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วได้ อันเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชนในช่วงเวลานั้น


หากพิจารณาตามประเด็นที่ได้กล่าวถึง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหมวดดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพูดถึงเพื่อพัฒนาให้เกิดความชอบธรรม และเป็นไปตามสถานการณ์โลกที่กำลังเผชิญ


ข้อที่ 2 พวกเราขอยืนยันร่วมกันว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มีปัญหาในประเด็นของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน หน้าที่ ของรัฐ การรวมศูนย์และประเด็นหมวดพระมหากษัตริย์


ข้อที่ 3 ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นต้องผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ความสำคัญต่อประชาชน ดังนั้นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต่อให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเราก็ยังสามารถออกแบบให้มีความครอบคลุมในทุกกลุ่มคนได้


ข้อที่ 4 ทุกกระบวนการต้องผ่านประชาชน และให้ความสำคัญต่อประชาชน ดังนั้นคำถามประชามติต้องไม่เป็นข้อผูกมัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน และต้องไม่สร้างความสับสนต่อการตอบคำถามประชามติ


โดยสรุปแล้วนั้นการประชุมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ได้ยืนยันความกังวลของตัวแทนนิสิตนักศึกษา และประชาชนว่า ในการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน จะยกเว้นการแก้ไขหมวดที่ 1 และ 2 อีกทั้งยังมีการปล่อยให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) อันเป็นการจำกัดอำนาจสถาปนาของราษฎรเพื่อความพอใจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.)


ดังนั้น พวกเราประสงค์ที่จะกล่าวความรู้สึกหลังการประชุมว่าการประชุมครั้งนี้มิได้เป็นการจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพวกเราอย่างแท้จริง เพียงแค่ต้องการพูดว่าได้พูดคุยกับตัวแทนนิสิตและนักศึกษาเพื่อเพิ่มความชอบธรรมของกระบวนการที่รัฐบาลได้วางไว้เพียงเท่านั้น เปรียบเสมือนละครลิงจากหนึ่ง


ด้วยเหตุนี้ พวกเราหวังว่าหากคำถามประชามติที่จะเกิดขึ้นผูกมัดจนเกินไป รัฐบาลไม่โทษว่าการที่รัฐธรรมนูญที่จะได้ชื่อว่า "มาจากประชาชน" ไม่ผ่านเป็นเพราะความผิดของ "ประชาชน"


ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราจะขอยืนยันต่อหลักการว่าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่มีการยกเว้นหมวดหรือมาตราใด และต้องร่างผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด


ตัวแทนนิสิตนักศึกษาในการประชุมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

1. แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

2. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

4. สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ (ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น)

5. ฉัตรชนก โฆษิตคณาทรัพย์ (ตัวแทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

6. ผู้ไม่ประสงค์ระบุนาม (ตัวแทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

7. นายฌอน เช็พเพอร์ส และ ผู้ไม่ประสงค์ระบนาม (ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล)


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #วันรัฐธรรมนูญ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ