วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ศาลรัฐธรรมนูญ นัด “ก้าวไกล” 31 ม.ค.67 ฟังคำวินิจฉัยคดี หาเสียงแก้ไข ม.112 “พิธา-ชัยธวัช” มั่นใจ ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

 


ศาลรัฐธรรมนูญ นัด “ก้าวไกล” 31 ม.ค.67 ฟังคำวินิจฉัยคดี หาเสียงแก้ไข ม.112 “พิธา-ชัยธวัช” มั่นใจ ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง

 

วันนี้ ( 25 ธันวาคม 2566) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าให้การไต่สวนพยานบุคคลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

ด้านนายชัยธวัช หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกลขณะนั้น กล่าวว่า การไต่สวนผ่านไปได้ด้วยดี เรามั่นใจทำด้วยข้อเท็จจริงของกฎหมาย และเจตนาของเราสามารถชี้ได้ว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำคำชี้แจงมาก่อนแล้ว ซึ่งในประเด็นสำคัญวันนี้ เป็นการตอบคำถามประเด็นที่ทางตุลาการต้องการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งการถามคำถามในวันนี้มีความหลากหลาย แต่เราไม่สามารถพูดได้ทั้งหมด เพราะระหว่างไต่สวนนายพิธากับตนเองไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกัน

 

เรายังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่า การเสนอร่างกฎหมายใช้กระบวนการยุติธรรม ในการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับหมิ่นประมาทและทุก ๆ กฎหมาย มั่นใจว่าไม่สามารถนำไปสู่การทำลายระบบการปกครองได้ เพราะการเสนอร่างใด ๆ มีกระบวนการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 2 หรือ 3 ซึ่งจะต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ของสภาและยังต้องใช้คณะกรรมาธิการที่จะพิจารณาคัดกรองเนื้อหา

 

อีกทั้งยังมีกระบวนการการตรวจสอบ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ร่างกฎหมาย ผ่านสภาก่อนที่จะประกาศใช้ หรือหลังประกาศใช้ไปแล้วก็สามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ด้วยตัวมันเองการเสนอร่างกฎหมายไม่มีทางที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ นายชัยธวัช กล่าว

 

ด้านนายพิธา กล่าวว่า การไต่สวนในวันนี้ตนก็ยังมั่นใจว่ากระบวนการราบรื่นดีใน ส่วนตัวเองรู้สึกพอใจ ที่ได้แถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งที่ตั้งใจมาเป็นไปตามความคาดหมาย ยังมั่นใจในข้อเท็จจริงหลาย ๆ เรื่อง ข้อเสนอแก้ไขทางนิติบัญญัติไม่ได้มาจากพรรคเราเป็นพรรคแรก แต่มาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ดี รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขณะนั้น ตอนนี้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียว ดังนั้นน่าจะยืนยันได้ในเรื่องของเจตนาว่าไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง

 

เมื่อถามว่า หากผลออกมาเป็นคุณทั้ง 2 คดี พร้อมที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลต่ออีกหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังทำงานอยู่กับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าเกิดเป็นคุณก็จะได้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ สส. ส่วนบทบาทพรรคก้าวไกลก็ต้องรอเดือน เม.ย. ที่จะมีการประชุมวิสามัญฯชุดใหญ่ ในส่วนตัวของตนไม่ได้ยึดติดอะไร ทำงานได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในลักษณะใดก็ยังทำงานการเมืองต่อได้ ไม่ได้กังวลใจ

 

เมื่อถามว่าการแก้ไขมาตรา 112 ยังจะสามารถเป็นนโยบายหาเสียงครั้งต่อไปได้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า นโยบายเป็นของสส.ชุดที่แล้ว เป็นเอกสิทธิ์ของสส.ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็นสส.ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยในกันในพรรคว่า ปัจจุบัน อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่

 

เมื่อถามต่อว่า หากศาลวินิจฉัยทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือให้ยุติ ยกเลิกนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อจุดยืนการทำงานของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอให้คำพิพากษาศาลออกมาก่อน เป็นเรื่องของสส.แต่ละคน ดูสถานการณ์บริบทของบ้านเมืองซึ่งแตกต่างกันไป ตอนที่เรายื่นตอนนั้นก็ต้องเข้าใจว่าบริบทการเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง และมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อยเป็น 268 คดี ในปี 2563 โดยมีเยาวชน 20 กว่าคน ดังนั้นในปี 2564 เราจึงคิดว่า นี่เป็นทางออกของการเมืองตอนนั้น ดังนั้นหลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ เวลา ต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมคือการได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ก็ต้องทางออกในรัฐสภาที่เรายึดถือ ณ ตอนนั้น ตอนนี้ก็ต้องแล้วแต่สส.แต่ละคน และสถานการณ์ ดูองค์ประกอบหลายเรื่อง รวมถึงสถานการณ์ตอนนั้น

 

เมื่อถามว่าประเมินตัวเองหลังไต่สวนให้กี่คะแนน นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ตอบเป็นตัวเลขแต่ก็พอใจ หากย้อนกลับไปได้เท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรอยากจะทำเพิ่ม ทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้ต้องรอคำพิพากษา ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มาให้ปากคำ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ 4 - 5 ท่าน มาให้ความเห็น ส่วนรายละเอียดให้ความเห็นอย่างไรนั้นไม่สามารถบอกได้

 

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือและลงมติในวันพุธที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น.

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #มาตรา112 #ก้าวไกล #ศาลรัฐธรรมนูญ