วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"เฉลิมชัย" ได้เสียงท่วมท้น 88.5% ผงาดขึ้น หัวหน้าปชป. คนที่ 9

 


“เฉลิมชัย” ได้เสียงท่วมท้น 88.5% ผงาดขึ้น หัวหน้าปชป.คนที่ 9


วันที่ 9 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นัดประชุมใหญ่วิสามัญปชป. แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปกว่าครึ่งชั่วโมงถึงจะเปิดประชุมได้ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรคและรักษาการเลขาธิการพรรค เป็นประธานการประชุม แจ้งว่าองค์ประชุมครบแล้ว 260 คน และขอเปิดการประชุมในเวลา 10.08 น. ทั้งนี้ ประธานแจ้งที่ประชุมทราบว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมครั้งที่ 3 สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 9 ก.ค. และวันที่ 6 ส.ค. ไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ 250 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก แกนนำของพรรคทุกฝ่ายมาอย่างพร้อม


ซึ่งต่อมา นายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 เพราะเห็นว่าสถานการณ์การเมืองคนที่จะเลือกมาต้องไม่ด้อยกว่าพรรคอื่น และเชื่อว่าจะนำพรรคไปสู่แนวทางประชาธิปไตยและฟื้นฟูพรรคได้  จากนั้นนายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงข้อบังคับพรรคเกี่ยวกับน้ำหนัก 70:30 ที่ใช้โหวตเลือกกรรมการบริหารพรรคว่า ตนเห็นว่าข้อบังคับพรรคการเมืองต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การที่บอกว่าตัวเลข 70:30 ซึ่งเขียนในสมัยตน ถ้าไม่ดีทำไมไม่แก้ตอนนั้น ขอความกรุณากลับไปดูประวัติศาสตร์ ตัวเลข สัดส่วนต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงมาตลอด แต่ตัวเลข 70:30 เกิดขึ้นจากที่ขณะนั้นคำนวณว่าองค์ประชุมที่เป็นสส.หรืออดีตสส.มีจำนวน 150 คน แล้วคสช.เพิ่งยุบสาขาพรรคทั้งหมด เราต้องตั้งต้นทั้งหมด ต้องไปเริ่มจากรับบตัวแทนจังหวัดก่อน ตัวเลขที่ลงตัวที่สุดในขณะนั้นคือ 70:30 ซึ่งทำให้คะแนนส.ส. และองค์ประชุมอื่นมีน้ำหนักไม่ต่างกันมาก แต่ให้สัดส่วนสส.มากหน่อย แต่สิ่งสำคัญที่หลายคนไม่พูดถึง คือ 70:30 เฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปหยั่งเสียงสมาชิกทั้งประเทศ


“ครั้งที่แล้วกับครั้งที่ผ่านมามีการอ้างยกเว้น 70:30 เข้าใจได้ เพราะทั้ง 2 ครั้งในการเลือกหัวหน้าพรรค ตอนท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และความพยายามในการเลือกหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา มีความกังวลว่ากระบวนการหยั่งเสียงมันใช้เวลา พรรคอาจต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ก็มาขอยกเว้น ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้องตามหลักการข้อบังคับตามกฎหมายหรือไม่ แต่ปัจจุบันนี้ผมไม่เข้าใจเหตุผลว่าจำเป็นต้องยกเว้น 70:30หรือไม่ ในเมื่อเวลาล่วงเลยมาขนาดนี้แล้ว เราไม่คิดระดมสมาชิกต่าง ๆ ทั่วประเทศให้มีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของเราก็ไม่เป็นไร เมื่อพรรคตัดสินใจตามนี้แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่ผมได้ข้อสรุปว่าวันนี้ไม่ใช่เรื่องใครแพ้หรือชนะ แต่วันนี้พรรคเดินต่อไม่ได้ ไม่มีความเป็นเอกภาพแท้จริง ผมลงแพ้ก็น่าจะมีปัญหา ผมชนะก็ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อในห้องนี้มามาถามผมว่าทำไมไม่คุยกัน ต่อมาก็พาดพิงว่าผมไม่ยอมคุย ผมขอยืนยันว่าถ้าใครไปพูดอย่างนั้น ไม่จริง หลายคนพยายามพูดว่าให้คุยกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผมก็ไม่กล้าสอบถามเหตุผลถึงการปฏิเสธไม่พูดคุย แต่คำตอบชัดคือไม่คุย ฉะนั้นวันนี้เมื่อนายชวน เสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค พักการประชุมแล้วคุยกับผมหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว


ต่อมานายเฉลิมชัย กล่าวว่า คนที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึง คือตน ก่อนหน้านี้เคยบอกไปว่าไม่มีอะไรจะคุย เพราะเคยประกาศว่าจะหยุดการเมือง นี่คือเหตุผล และขอกราบเรียนว่า คนเราอยู่ดี ๆ ไม่มีใครพูดส่งเดช มีที่มาที่ไปทั้งหมด และที่มาที่ไปตนก็ไม่เคยพยายามที่จะไม่พูดตรงนั้น เพราะเป็นความรับผิดชอบของตน ตนอาจจะไม่ได้บอกว่ารักประชาธิปัตย์มากที่สุด แต่ก็ผูกพันมาตั้งแต่ปี 2518 ครอบครัวตนเป็นหัวคะแนนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มันคือสายเลือด และก็ยึดมั่นในหลักการอุดมการณ์มาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องซื่อสัตย์สุจริต100% เพราะฉะนั้นอะไรที่จะทำให้พรรคเดินไปได้ตนจะทำ เป็นคนที่คุยกับคนเยอะหลาย ๆ คนมันมีปมภายในที่ต้องคุยกัน ตนเรียนท่านหัวหน้าว่าพร้อมที่จะคุยกับท่านได้ จะได้คุยกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เราก็คุยกันตรง ๆ แต่จะคุยกับตน 2 คนใช่หรือไม่ ขอให้ท่านเชื่อมั่นหลักการอุดมการณ์เต็มร้อย ไม่ต้องกังวล และตั้งแต่เข้ามาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ 22 ปี ยืนยันประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร และจะไม่มีวันยอม เชื่อตนได้ แต่ไม่อยากพูดมาก ไม่อยากจะเป็นข่าว เพราะว่ารู้ตัวว่าตนต้องรับผิดชอบ


จากนั้นนายเฉลิมชัย สั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อไปพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์


ต่อมาเวลา 11.38 น. กลับมาเปิดประชุมอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุม ว่า จากการพูดคุยเข้าใจตรงกันทุกอย่าง ได้เรียนรักษาการหัวหน้าพรรคจะขอถอนตัวจากการเป็นสมัครหัวหน้าพรรค ด้วยเหตุผลที่แจ้งให้ตนทราบ ขอลาออกจากสมาชิกพรรค แต่ยืนยันไม่มีพรรคอื่น ไม่ไปพรรคอื่น กรีดเลือดเป็นสีฟ้าจนวันตาย เป็นลูกพระแม่ธรณี รับใช้บ้านเมืองวันข้างหน้า ถ้าช่วยพรรคในวันข้างหน้าได้ตนไม่ปฏิเสธ หวังว่าผู้บริหารชุดใหม่จะทำงานได้สำเร็จตามที่นายเฉลิมชัยได้กล่าวไว้กับตน


จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่ออีกครั้ง โดย นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค ขณะที่นายขยัน วิพรหมชัย อดีตส.ส.ลำพูน ของพรรค เสนอชื่อน.ส.วทันยา บุนนาค มีเสียงรับรองเพียงพอ แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็นส.ส.ของพรรค ขัดกับข้อบังคับพรรค ข้อ31(6) และข้อ32(1 ) จึงต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มาประชุม หรือ 195 เสียง เพื่อยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว ปรากฏว่า น.ส.วทันยา ได้เพียง 139 เสียง เท่ากับที่ประชุมไม่อนุญาตให้ลงสมัคร ทำให้เหลือผู้สมัครคนเดียวคือ นายเฉลิมชัย


และในเวลา 13.30 น. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ กกต.ประจำพรรคฯ ได้ประกาศผลลงคะแนนว่าที่ประชุม เลือกนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยคะแนน 88.5% ถือว่านายเฉลิมชัย ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9


ด้าน น.ส.วทันยา บุนนาค ได้กล่าวว่า “ตอนนี้ตัดสินใจว่าจะยังไม่รับตำแหน่งใด ๆ แต่ยังจะทำงานที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนช่วงการหาเสียงเลือกตั้งต่อ เช่น การขับเคลื่อนกฎหมายต่าง ๆ หรือที่ทำเพื่อประชาชน แต่งานที่ทำร่วมกับพรรคจะงดเว้นไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน” น.ส.วทันยา กล่าวในที่สุด


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชาธิปัตย์ #อภิสิทธิ์ #เฉลิมชัย