วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566

‘พิธา-เดชรัต-กรุณพล’ เยือนนครปฐม ดูฟาร์มกล้วยไม้-เยี่ยมเกษตรแฟร์ ดูพันธ์ุข้าวลดโลกร้อน-รับโลกรวน นิสิต-ประชาชน แห่ต้อนรับเพียบ

 


‘พิธา-เดชรัต-กรุณพล’ เยือนนครปฐม ดูฟาร์มกล้วยไม้-เยี่ยมเกษตรแฟร์ ดูพันธ์ุข้าวลดโลกร้อน-รับโลกรวน นิสิต-ประชาชน แห่ต้อนรับเพียบ


วันที่ 10 ธันวาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยเดชรัต สุขเกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ได้เยี่ยมชมฟาร์มกล้วยไม้ แอร์ ออร์คิด อ.บางเลน จ.นครปฐม เพื่อสอบถามข้อมูลรายละเอียดตั้งแต่การผลิต วิจัย เพาะเลี้ยง ไปจนถึงการทำการตลาด การค้าขายในประเทศ และการส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งปัญหาที่เกษตรกรกล้วยไม้ประสบอยู่


โดยผู้ประกอบการกล่าวว่าธุรกิจกล้วยไม้ เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถส่งกล้วยไม้ไปยังตลาดปลายทาง จนธุรกิจกล้วยไม้ไทยสูญเสียตลาดที่สำคัญหลายตลาดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยธุรกิจกล้วยไม้เขตร้อนในไทยมีการลงทุน และพัฒนาทักษะฝีมือมาอย่างยาวนาน และฐานพันธุกรรมพ่อแม่พันธุ์ที่หลากหลาย สามารถนำมาเป็นฐานในการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ของตลาดยุคใหม่ได้อีกมาก อย่างเช่น ในกรณีของแอร์ออร์คิดฟาร์ม


เพราะฉะนั้น พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องช่วยภาคเอกชนในการฟื้นตลาดที่สำคัญกลับคืนมา เช่น ตลาดญี่ปุ่น ตลาดเกาหลีใต้ ตลาดยุโรป พร้อมๆ กับการขยายตลาดในประเทศใหม่ๆ เช่น อินเดีย มัลดีฟส์ และอื่นๆ ด้วยการเปิดช่องทางการขายที่ตลาดปลายทางให้มากขึ้น และการลดข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ ในการส่งออกกล้วยไม้


ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ รัฐบาลควรรณรงค์สนับสนุนให้มีการมอบดอกกล้วยไม้เป็นของขวัญ เพื่อส่งเสริมเกษตรกล้วยไม้ไทย รวมถึงสนับสนุนการออกแบบการใช้งานกล้วยไม้ในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ


หลังจากนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, เดชรัต สุขกำเนิด และกรุณพล เทียนสุวรรณ พร้อมด้วย กิตติภณ ปานพรหมมาศ ผู้แทนราษฎร เขต 4 จ.นครปฐม ได้เดินทางไปดูงานเกษตรแฟร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อชมบูธนวัตกรรมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และไปดูแปลงข้าวของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว เพื่อดูแนวทางและผลงานวิจัยใหม่ๆ ด้านการเกษตร


โดยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือที่เรียกว่าโลกรวน ได้ส่งผลกระทบเสียหายอย่างมากต่อภาคการเกษตรของไทย ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และการแพร่ระบาดของโรคแมลง ขณะเดียวกัน ประชาคมโลก ก็ทุ่มเทที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุของโลกร้อน-โลกรวน จนบางประเทศ เช่นเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกก็ได้ประกาศที่จะนำ “ข้าวคาร์บอนต่ำ” สู่ตลาดโลก


ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว พิธาได้เยี่ยมชมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำลงเกือบ 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีความท้าทายสำคัญ คือการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถจัดการเรื่องน้ำในแปลงนาได้ตามกำหนดเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก


นอกจากนี้ ยังมีการแสดงผลงานการเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยอินทรีย์ และระบบการให้น้ำและปุ๋ยแบบอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้น้ำ และปุ๋ยที่เกินจำนวน และการใช้ AI ในการวิเคราะห์โรคข้าวผ่านไลน์บอทเพื่อช่วยให้คำแนะนำแก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที


จากการแสดงผลงานข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาข้าวลดโลกร้อน หรือข้าวคาร์บอนต่ำ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และเป็นประโยชน์มาก แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีกรอบแนวทางการส่งเสริมและการร่วมลงทุนกับเกษตรกรให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำข้าวลดโลกร้อนหรือข้าวคาร์บอนต่ำ ที่เพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกร


นอกจากการลดโลกร้อน การเกษตรของไทยยังต้องตอบโจทย์เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (หรือภาวะโลกรวน) อีกด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ที่ได้มีการพันธุ์ข้าวหอมสยาม 2 ที่สามารถรับมือกับน้ำท่วมฉับพลันได้ 14 วัน หรือการพัฒนาข้าวหอมนาเลที่สามารถปลูกในพื้นที่มีน้ำขึ้นน้ำลง เช่นทะเลสาบสงขลาได้


นอกจากนี้ การพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทยยังต้องตอบโจทย์เชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น ข้าวที่น้ำตาลต่ำ ข้าวที่มีโปรตีนสูง หรือข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เป็นต้น


ทั้งนี้ การพัฒนาสายพันธุ์พืชต่างๆ โดยเฉพาะข้าว จำเป็นต้องมีคลังข้อมูลพันธุกรรมที่ชัดเจนมากพอ เช่นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและ สวทช. ได้รวบรวมฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวระดับโมเลกุลไว้กว่า 400 สายพันธุ์ และจำเป็นต้องมีการลงทุนทำการวิจัยและพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ของพี่น้องเกษตรกร และตลาดโลก


จากนั้นพิธาและคณะทำงานพรรคก้าวไกลได้แวะทานอาหารร้านรวงข้าว ของสโมสรนิสิตคณะเกษตร ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนิสิตและประชาชนที่เดินผ่านไปมา โดยพิธากล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยวันนี้ตนมาศึกษาเรียนรู้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ทำให้มั่นใจว่าภาคการเกษตรของเรายังมีความหวังมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยนิสิตที่นี่จะเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปการเกษตรไทยให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ให้การเกษตรไทยไม่เป็นที่สองรองใครทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในโลก


อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่กดทับอยู่ สิ่งที่ตนในฐานะผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองจะสามารถทำได้ คือการแก้ไขกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายสุราก้าวหน้า เพื่อปลดล็อกให้ประชาชนสามารถผลิตสุราและเบียร์ได้ ถ้าหากสามารถปลดล็อกได้สำเร็จแล้วนั้น จะเป็นงานหลักของทุกคนในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ การนำไปแปรรูป การผลิต การเพิ่มมูลค่าสินค้า ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร


“ถ้าวันไหนที่กฎหมายสุราก้าวหน้าผ่าน ก็ต้องฝากความหวังไว้กับพี่น้องมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างแน่นอนครับ ขอบคุณครับ” พิธากล่าวปิดท้าย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เกษตรแฟร์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์