นายกฯ
มอบนโยบาย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่ หมดไปจากประเทศไทย
วันที่
8 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย
และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ และผู้บังคับการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ณ ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม
อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด
จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย,
นายชาดา ไทยเศรษฐ์, นายทรงศักดิ์ ทองศรี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง
ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทุกหน่วยงานทุกที่เข้ามามีส่วนร่วม
วันนี้ไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ตัวเอง
แต่มาขอแรงจากทุกท่านทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน
มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่ หมดไปจากประเทศไทย
พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเราจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิต
เพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่
พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข
และเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ตนเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพ /ต่อชีวิต
สร้างขวัญและกำลังใจให้กับพวกเค้าได้
ในฐานะนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน
ช่วยให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้
รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ “เป็นวาระแห่งชาติ”
ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชน
ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม
การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย
ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม
เรื่องนี้ ผมได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และ ครม. ก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันจันทร์ที่แล้วระหว่างที่เราไป ครม. สัญจร ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในวันนี้ มีผู้บริหารระดับสูงและผู้นำหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่วประเทศ มารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ ผมจึงอยากให้ทุกท่านได้รับรู้ และทำความเข้าใจที่ตรงกันว่า การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ
นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล
ของผม หรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน
สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน
ผมคงต้องขอพูดถึงการลงทะเบียนที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทั้งหมด (Customer Journey) ที่ประชาชนจะเข้ามาสัมผัสกับพวกท่าน มาเล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อนของพวกเค้า วันนี้เราทำต่างจากที่เคยทำมาในอดีต
เราได้บูรณาการช่องทางให้หลากหลาย เพื่อให้พี่น้องประชาชน “เลือก”
เข้าไปในช่องทางที่พวกเค้ารู้สึกสะดวก ปลอดภัย
ช่องทางแรก
ทุกท่านคงทราบกับดีแล้ว
ว่ากระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม
ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567
ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ถึงวันนี้
ได้มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน
รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท
นอกจากนี้
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนก็สามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้
ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี
ก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้
เมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะมีการประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจาก
“ทุกช่องทาง” เข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น
และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนก็จะได้รับเลข Reference
Number ใน “ทุก ๆ กรณี” เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้า
หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา
ทั้งหมดที่ผมกล่าวไปนั้น
ทั้งในการเปิดช่องทาง ทั้งที่ศูนย์ดำรงธรรม ทั้งที่อำเภอและเบอร์ 1567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เบอร์ 1599 หรือที่โรงพักใกล้บ้าน และศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์สายด่วนสำนักนายกรัฐมนตรี
1111 จะทำให้ประชาชนสามารถ “เลือก” ช่องทางที่ตนเองรู้สึก
“ปลอดภัย” ไม่ต้องกลัวผู้มีอิทธิพล รวมถึงสามารถเดินไปร้องเรียนข้ามเขต ข้ามอำเภอ
ก็ได้
ผมขอให้ทุกท่านร่วมกันเป็นกระบอกเสียง
ช่วยกันสื่อสาร เชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียน
ไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อค เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์
หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ ทุกการสื่อสารของพวกท่านล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขหนี้นอกระบบประสบผลสำเร็จครับ
หลังจากที่เรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว
ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน
ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ ซึ่งถ้าพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที
ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
แต่ผมเชื่อว่าในหลาย
ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้
ก็ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี
และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน
ตามแบบฟอร์มที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา
และงวดผ่อนชำระหนี้ ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย
ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้นะครับ
การดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่รับเรื่อง
รัฐบาลจะมีการติดตามผล โดยสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จะทำการติดต่อติดตามผล (Follow
Up) เพื่อดูว่าทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้
สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่ แล้วหากยังพบปัญหา
ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้
ก็จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือถ้าในภายหลัง
พบว่ายังมีการข่มขู่ หรือ เจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยฯ
จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ประชาชนก็สามารถติดตามผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยได้จาก
5 ช่องทางตั้งแต่ ศูนย์ดำรงธรรม หรือเบอร์ 1567
หรือเว็บไซต์ debt.dopa.go.th หรือเบอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
1599 หรือเบอร์สำนักนายก 1111กระบวนการทั้งหมดนี้
ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย
หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ นะครับ แต่ผมขอย้ำว่านี่เป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้
และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นการไกล่เกลี่ย การให้คำแนะนำ
และการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ
ผมเข้าใจดีว่าในหลายครั้ง
ลูกหนี้ตั้งใจที่จะฟื้นฟูศักยภาพ และต้องการช่องทาง แหล่งเงินอื่นๆ
นอกเหนือจากเจ้าหนี้ที่กล่าวไป กระทรวงการคลัง
และสถาบันการเงินของรัฐก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามโครงการที่ได้จัดเตรียมไว้
ท่านจะเห็นว่า
ขั้นตอนที่ผมกล่าวไปทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข
ของพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นทาสหนี้นอกระบบ ผมขอให้ทุกท่านศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงาน
ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงาน หรือ Standard Operating Procedure (SOP) ให้ถ่องแท้ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนตั้งแต่การรับเรื่อง การช่วยเหลือ
การไกล่เกลี่ย การบังคับทางกฎหมาย และอื่น ๆ
ผมขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน
ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน
บูรณาการได้จากทุกฝ่าย หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ที่อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
ไม่เพียงพอที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร วันนี้ผมจึงขอให้ทุกท่านทำงานร่วมกัน
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือกระทรวงการคลัง ให้ใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามที่พวกท่านถืออยู่ตามกฎหมาย
ทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในขณะที่ท่านก็สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างสบายใจ
ขั้นตอนที่ผมกล่าวไปนั้น เป็นขั้นตอนมาตรฐานที่ผมมั่นใจว่าทุกท่านในที่นี้มีความสามารถที่จะปฏิบัติตามได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ในส่วนที่สำคัญ และผมอยากจะลงรายละเอียดให้มากขึ้น คือขั้นตอนที่ผมเข้าใจว่าในทางปฏิบัติมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ “การไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท” ขั้นตอนนี้ เป็นทั้งศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ การคิดดอกเบี้ยหนี้สิน และเป็นทั้งศิลป์ ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ปัญหาที่ท่านอาจจะพบคือการที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ท่านอาจจะต้องออกไปพบ ไปพูดคุย เชิญชวน ซึ่งเป็นมาตรการที่ผมเรียกว่า “ไม้อ่อน” เพื่อให้พวกเค้า “สมัครใจ” เข้ามาสู่กระบวนการ และในหลาย ๆ ครั้ง ท่านอาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการบังคับ (Enforce) ซึ่งเป็น “ไม้แข็ง” ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ
ผมขอให้ทุกท่าน
ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ไม่หยุดช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเค้าไม่ยอมสมัครใจเข้าสู่กระบวนการ
ซึ่งผมขอมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมาย
สร้างความเดือดร้อนนานาชนิด ต้องแก้ปัญหาให้ได้ อย่าปล่อยผ่าน ท่านต้องนำ
“ความรู้” ด้านการทำสัญญาประนีประนอม
ที่ต้องระบุรายละเอียดเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน กำหนดมูลหนี้
การคิดอัตราดอกเบี้ย การยกเลิกเพิกถอนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเงื่อนไขอื่นๆ
ในการบังคับคดีหรือสิทธิในทางศาลได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ผมขอฝากให้ท่านใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างตรงไปตรงมาในการดำเนินงานนี้นะครับ
เรื่องถัดไปที่สำคัญ
การทำงานเราจะต้องมีเป้าหมาย ใช่มั้ยครับ? ผมขอประกาศเป้าหมายว่า
“หนี้นอกระบบจะต้องได้รับการโดยเด็ดขาด” ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่เหมาะสม และกรอบเวลา (Timeline)
ที่ชัดเจน ซึ่งผมขอหลักการกว้าง ๆ ให้ท่านดังนี้
ท่านจะต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่
“ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป”
จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ ทางสำนักงานตำรวจ
ท่านควรจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการในการจับกุมเพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด
และระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน ทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง
ก็ควรกำหนดสัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย
และเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมได้สำเร็จ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน
ทั้งในชั้นรับเรื่องร้องเรียนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และชั้นการทำสัญญาประนีประนอม
ไว้ให้ชัด และไม่นานจนเกินไป อย่างที่กล่าวไปกรอบข้างต้นเป็นกรอบกว้างๆ
ที่ผู้บริหารจะต้องช่วยกันนำไปย่อยเป็นเป้าเล็ก ๆ ให้เป็นความสำเร็จ นายกฯ กล่าวในที่สุด
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #หนี้นอกระบบ #เศรษฐาทวีสิน