วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"ศุภโชติ"ถามนายกฯ กดค่าไฟ 4.10 บาทต่อหน่วย จะยืดหนี้ กฟผ. ออกไปอีกหรือไม่ ชี้ ใช้วิธีแบบนี้ต่อไป ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ย้ำต้องแก้ที่โครงสร้าง ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ-หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

 


"ศุภโชติ"ถามนายกฯ กดค่าไฟ 4.10 บาทต่อหน่วย จะยืดหนี้ กฟผ. ออกไปอีกหรือไม่ ชี้ ใช้วิธีแบบนี้ต่อไป ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ย้ำต้องแก้ที่โครงสร้าง ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ-หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

 

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุรับไม่ได้ที่ค่าไฟจะขึ้นไปถึง 4.68 บาทต่อหน่วย โดยจะกลับไปพิจารณากดราคาให้ได้ 4.10 บาทต่อหน่วยว่า ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่นายกฯ จะใช้วิธีการใดเพื่อกดค่าไฟ จะใช้วิธีเดิมคือยืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปอีกใช่หรือไม่ ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ 4.04 บาทต่อหน่วย ถ้าขึ้นค่าไฟอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วยตามที่นายกฯ ระบุ นั่นหมายความว่าก้อนหนี้ที่ กฟผ. แบกอยู่ในปัจจุบันกว่า 95,000 ล้านบาท จะใหญ่ขึ้นอีกในอนาคต การใช้วิธีแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อกดค่าไฟ จึงไม่เป็นผลดีต่อใครเลย

 

ศุภโชติกล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือการแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกลพูดมาแล้วหลายครั้ง แต่จำเป็นต้องพูดต่อไปเพราะนี่คือผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ การแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และที่สำคัญ คือการหยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนในลาวกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ที่เซ็นมาในราคาที่แพงมาก 2.7 บาทต่อหน่วย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ที่ประกาศผลออกมาแล้วว่าเอกชนรายใดได้ไป รวมถึงที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกะวัตต์

 

การเซ็นสัญญากับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ไม่เพียงถูกตั้งคำถามเรื่องความจำเป็น แต่วิธีการที่รัฐใช้ในการรับซื้อ ก็ถูกตั้งคำถามว่าโปร่งใสและเป็นผลดีต่อประชาชนจริงหรือไม่ อัตราที่รับซื้อก็ไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุด เนื่องจากเป็นราคาที่รัฐกำหนดเอง ขณะที่วิธีปกติที่ควรจะใช้คือให้เอกชนทุกรายประมูลเข้ามา คนที่เสนอราคาถูกที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

 

ศุภโชติตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ราคาค่าไฟที่นายกฯ พูดนั้น ไม่ตรงกับทั้ง 3 ทางเลือกของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เคยเสนอก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 ถ้าต้องการให้ กฟผ. ชำระหนี้ที่แบกอยู่ภายใน 4 เดือน ค่าไฟที่ควรเป็นคือ 5.95 บาทต่อหน่วย ทางเลือกที่ 2 คือให้ กฟผ. จ่ายคืนภาระหนี้ภายใน 1 ปี ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย และทางเลือกที่ 3 อนุญาตให้ กฟผ. ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปเป็น 2 ปี ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย

 

แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะกดไว้ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ต้องถามว่าอีกกี่ปีถึงจะใช้หนี้หมด จาก 1 ปี 2 ปี จะกลายเป็น 5 ปีหรือเปล่า นี่คือการเล่นกับอนาคตว่าหนี้จะไม่ใหญ่ขึ้น ทั้งที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น” ศุภโชติกล่าว

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า บางคนจากฝั่งรัฐบาลบอกว่าขอให้พรรคก้าวไกลช่วยเอาข้อมูลใหม่ๆ มาพูด การปรับโครงสร้างต้องใช้เวลา สิ่งที่เขากำลังทำคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนเป็นการช่วยคนที่กำลังจะจมน้ำ

 

แต่ผมขอแย้งตรงนี้ ว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่การช่วย แต่เป็นการโยนตุ้มไปถ่วงให้หนักขึ้น วันนี้เราเห็นค่าไฟกระโดดจาก 3.99 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย พุ่งขึ้นกว่า 69 สตางค์ แต่ในอนาคตถ้าหนี้ก้อนใหญ่ขึ้น เราอาจจะเห็นค่าไฟเพิ่มขึ้นครั้งละ 1 บาทหรือมากกว่านั้น ประชาชนจะยิ่งรับไม่ไหว” ศุภโชติกล่าว

 

ศุภโชติทิ้งท้ายว่า ดังนั้น การยืดหนี้ออกไปแล้วทำให้หนี้ใหญ่ขึ้น จะเป็นผลเสียมากกว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำทันทีคือหยุดสร้างหนี้ แก้ที่โครงสร้าง วางแผนอนาคต ด้วยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ แก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #ค่าไฟ