วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“โรม” ยืนยันจุดยืน-เหตุผล “ก้าวไกล” ทำไมต้องยุบ “กอ.รมน.” ชวนพิจารณายกระดับบทบาท “สมช.” แทนที่ เหตุสอดคล้องภัยความมั่นคงสมัยใหม่มากกว่า ขอนายกฯ ไม่ปัดตก เปิดโอกาสคุยในสภาให้สังคมได้รับฟัง

 


โรม” ยืนยันจุดยืน-เหตุผล “ก้าวไกล” ทำไมต้องยุบ “กอ.รมน.” ชวนพิจารณายกระดับบทบาท “สมช.” แทนที่ เหตุสอดคล้องภัยความมั่นคงสมัยใหม่มากกว่า ขอนายกฯ ไม่ปัดตก เปิดโอกาสคุยในสภาให้สังคมได้รับฟัง

 

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณีข้อเสนอยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เปิดทางให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้รับการพิจารณาในสภา

 

รังสิมันต์ ระบุว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันในข้อเสนอว่าด้วยการยุบ กอ.รมน. และความเห็นว่า กอ.รมน. ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรที่ล้าสมัยและไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องมีต่อไป

 

ซึ่งการยกเลิก กอ.รมน. ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง เพราะความมั่นคงในปัจจุบันมีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นมาก มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร สุขภาพ อาชญากรข้ามชาติ ภัยยาเสพติด ฯลฯ ซึ่ง กอ.รมน. ไม่มีความเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่รับมือภัยความมั่นคงเหล่านั้น

 

รังสิมันต์ยังกล่าวต่อไป ว่าที่ผ่านมา กอ.รมน. ยังมีบทบาทในการสร้างความแตกแยกในสังคม ผ่านการสร้างภาพให้คนเห็นต่างทางการเมืองเป็นศัตรูของประเทศ มีการใช้งบประมาณไปในภารกิจเพื่อเป้าหมายในการจัดการผู้เห็นต่างเหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้คือความแตกแยกของสังคม

 

ในแง่โครงสร้าง กอ.รมน. เป็นแนวคิดทหารนำการเมือง ผอ.รมน. แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่เป็นรอง ผอ.รมน. ก็คือ ผบ.ทบ. เลขาธิการ กอ.รมน. ก็เป็น เสธ.ทบ. เฉพาะสองตำแหน่งนี้ ถ้าไปดูหนังสือย้อนหลังก็จะเห็นว่ามีบทบาทในการลงนามหลายเรื่อง ที่มีลักษณะไปสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด

 

นี่คือโครงสร้างที่ทำให้กองทัพสามารถแทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ ของระบราชการ แล้วเอาวิธีคิดความมั่นคงแบบการทหารเป็นตัวนำ ไปสั่งการระบบราชการได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะทำให้วิธีคิดด้านความมั่นคงจะถูกจำกัดอยู่แต่ในแบบของกองทัพเท่านั้น

 

รังสิมันต์ยังกล่าวต่อไป ว่าบทบาทของ กอ.รมน. ยังมีปัญหาอีกหลายด้าน ไม่ว่าในด้านการทำงานมวลชนที่กลายมาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่นในยุคที่มีการรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โฆษก กอ.รมน. ในเวลานั้นเคยให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผย ว่ามวลชนที่ กอ.รมน. ทำงานด้วยจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญในการลงประชามติ

 

รวมถึงบทบาทในการปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในเรื่องการรัฐประหาร บทบาทของกองทัพ และบทบาทของรัฐบาล และยังสร้างเว็บไซต์อย่าง pulony.blogspot เพื่อใส่ร้ายป้ายสีด้อยค่านักกิจกรรม พรรคการเมือง และประชาชนที่มีส่วนสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

รังสิมันต์อธิบายถึงปัญหาต่อไปของ กอ.รมน. ในแง่งบประมาณ โดยระบุว่าปีล่าสุด กอ.รมน. ได้รับงบประมาณไปมากถึง 7.7 พันล้านบาท เป็นงบประมาณที่ใกล้เคียงกับกระทรวงดิจิทัลฯ และมากกว่ากระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับงบประมาณเพียง 4 พันล้านบาทเท่านั้น และหากรวมระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา กอ.รมน. ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าแสนล้านบาท

 

โดยที่งบประมาณ 4 พันล้านบาทจาก 7.7 พันล้านบาท ถูกใช้ไปในรายการอื่นที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเอาไปใช้อะไร แต่เมื่อสืบสวนลึกลงไปก็จะพบได้ว่าถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนของกองทัพที่เข้าไปทำงานใน กอ.รมน.

 

ในด้านภารกิจ มีการมอบหมายภารกิจจำนวนมากให้กับ กอ.รมน. ในงานความมั่นคงด้านอื่นๆ ที่ทับซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ตั้งแต่งานป้องกันปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน การค้ามนุษย์ ฯลฯ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้วันนี้ก็เป็นคำตอบอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าผลงานของ กอ.รมน. ในด้านเหล่านี้ล้มเหลวเพียงใด

 

รังสิมันต์ยังกล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลเห็นว่าประเทศกำลังเผชิญหน้าความมั่นคงรูปแบบต่างๆ ที่ต่างไปจากในอดีตมาก การอัดงบประมาณมากถึง 7.7 พันล้านบาทให้ กอ.รมน. ไม่สร้างประโยชน์อะไร แต่ควรมีองค์กรลักษณะอื่นมาทำหน้าที่โดยอาศัยความคิดพลเมืองนำในการรับมือภัยคุกคามต่างๆ

 

ซึ่งองค์กรที่พัฒนาและยกระดับศักยภาพได้ในลักษณะนั้นก็คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้งบประมาณเพียง 2 ร้อยกว่าล้านบาทต่อปีเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง สมช. ต้องดูภาพรวมภัยคุกคามทุกรูปแบบของประเทศ สมช. เป็นองค์กรที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ทันสมัย มีแนวคิดความมั่นคงที่ไม่ผูกติดอยู่แต่กับเรื่องการทหาร พร้อมรับมือความมั่นคงในทุกรูปแบบได้

 

รังสิมันต์ระบุต่อไปว่า ทั้งนี้ ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ได้เคยพูดคุยในชั้นกรรมาธิการ ว่าควรมีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาประเด็นดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคงแทนที่ รวมไปถึงการจัดทำรายงานเหตุผลที่นำไปสู่การยุบ กอ.รมน.

 

โดยรายงานที่จะทำขึ้นมา จะเป็นการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอสู่ชั้นกรรมาธิการ ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนส่งต่อไปที่รัฐบาลตามลำดับต่อไป ซึ่งตนหวังว่าเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว รัฐบาลเศรษฐาจะศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง

 

รังสิมันต์ยังกล่าวด้วย ว่าแม้ครั้งหนึ่งพรรคก้าวไกลจะเคยมีข้อตกลงกับอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าการยุบ กอ.รมน. จะเป็นหนึ่งในพันธสัญญาที่รัฐบาลจะต้องทำให้ได้ แต่เสียดายที่วันนี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ได้เป็น ผอ.รมน. แล้ว กลับไม่สนใจศึกษากรณีการยกเลิก กอ.รมน. ให้รอบด้านอีกต่อไป

 

แต่แม้รัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญแล้ว พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไปและจะนำเสนอเข้าสู่สภาให้ได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนถึงจะเข้าสู่สภาได้ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองให้สภาได้มาอภิปรายพูดคุยกัน

 

ถ้ามีเหตุผลในการยืนยันว่า กอ.รมน. ควรคงอยู่ ก็ควรมาคุยในสภา ให้ร่างมีโอกาสเข้าสู่สภา เพื่ออย่างน้อยให้ได้มีการนำเสนอต่อสภา ต่อสังคม และต่อประชาชน ให้ได้รับรู้ทั้งแง่มุมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการมี กอ.รมน. ต่อไป” รังสิมันต์กล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #กอรมน #สมช #ก้าวไกล