วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“ชัยธวัช” รับฟังปัญหาเกษตรกร จ.สกลฯ ขาดแคลนแหล่งน้ำทำเกษตร พบหลายโครงการจัดสรรไม่ตอบโจทย์พื้นที่ พร้อมใช้กลไก กมธ.ติดตามงบฯ ตรวจสอบ ชี้ ระยะยาวต้องเลิกวิธีจัดการน้ำรวมศูนย์-กระจายอำนาจท้องถิ่นตัดสินใจ

 


“ชัยธวัช” รับฟังปัญหาเกษตรกร จ.สกลฯ ขาดแคลนแหล่งน้ำทำเกษตร พบหลายโครงการจัดสรรไม่ตอบโจทย์พื้นที่ พร้อมใช้กลไก กมธ.ติดตามงบฯ ตรวจสอบ ชี้ ระยะยาวต้องเลิกวิธีจัดการน้ำรวมศูนย์-กระจายอำนาจท้องถิ่นตัดสินใจ


วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมรับฟังปัญหาประชาชนในภาคเกษตร ที่บ้านเม่นใหญ่ ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยประชาชนได้ร่วมนำเสนอปัญหาแก่หัวหน้าพรรคก้าวไกลในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องความต้องการระบบชลประทานเพื่อให้สามารถทำนาปรังได้


หลังการรับฟังปัญหา ชัยธวัชได้กล่าวสรุปว่าพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างนครพนมและสกลนคร มีงบประมาณในการทำแหล่งน้ำตามงบประมาณประจำปี 2566 รวมกันสองจังหวัดถึง 1.2 พันล้านบาท เป็นของนครพนม 800 ล้านบาท สกลนคร 400 ล้านบาท ซึ่งจากการตรวจสอบของพรรคก้าวไกล พบว่าโครงการจำนวนมากถูกจัดสรรลงไปในพื้นที่ที่ไม่มีความต้องการน้ำจริง หรือลงไปในพื้นที่ที่ต้องการน้ำแต่กลับใช้งานไม่ได้จริง โดยมีโครงการที่กำลังถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ถึงประมาณ 190 โครงการ


วันนี้ตนตั้งใจมารับฟังปัญหาจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต โดยปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่สุดก็คือเรื่องน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรทั้งประเทศ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่มีระบบชลประทาน แม้ตามแผนของรัฐบาลเดิมจะวางไว้ว่าภายใน 15 ปีจะต้องมีโครงการชลประทานครอบคลุม 40% ของพื้นที่เพาะปลูก แต่ต่อให้ทำสำเร็จภายใน 15 ปี พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศก็จะยังไม่มีน้ำอยู่ดี นี่คือปัญหาของวิธีการจัดการน้ำโดยส่วนกลาง ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เป็นโครงการในรูปแบบเดียวกันที่เอื้อต่อการทุจริตหรือใช้การไม่ได้จริง


ในระยะเฉพาะหน้า พรรคก้าวไกลแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็จะใช้ทุกกลไกที่มีในการผลักดันแก้ปัญหาให้ประชาชนให้มากที่สุด รวบรวมนำเสนอต่อรัฐบาล ตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในการใช้งบประมาณ ซึ่งพรรคก้าวไกลเองมี สส. เป็นประธานคณะกรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณฯ จะทำงานผ่านกลไกนี้ รวมทั้งการใช้กรรมาธิการการจัดการน้ำ ซึ่งเป็นกรรมาธิการใหม่ ที่แม้ สส.พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นประธานแต่ก็มีสมาชิกที่จะส่งเสียงแทนประชาชนได้ ระหว่างนี้ทำอะไรได้ก็จะทำกันเต็มที่ ทีมงานพรรคก้าวไกลในพื้นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องกับประชาชน


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าปัญหาของเกษตรกรทั้งประเทศมีหัวใจอยู่ที่แหล่งน้ำ ซึ่งถ้ายังจัดการลงทุนโดยใช้วิธีเดิมๆ เอางบกองไว้ที่กระทรวงแล้วให้แต่ละที่ทำโครงการขอมา กว่าจะได้รับพิจารณาก็ใช้เวลานานมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครวิ่งงบเก่งกว่ากัน นำมาสู่การทุจริต เอาโครงการไปลงในพื้นที่ที่ไม่ต้องการจริง หรือมีโครงการมาลงในพื้นที่ที่มีความต้องการและใช้การได้จริงแต่มีการทุจริตมาก ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ตอบโจทย์จริงๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอว่าในอนาคตจะต้องเปลี่ยนวิธีจัดการน้ำใหม่ เอางบประมาณมาที่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจ


แต่ปัญหาสำหรับภาคเกษตรนั้น แก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเดียวไม่จบ ต้องมีการแก้ไขทั้งระบบ ทั้งต้นทุนการผลิต ปุ๋ย ยา ทำอย่างไรให้เลิกผูกขาดกับบริษัทใหญ่ไม่กี่เจ้า การพัฒนาการผลิตด้วยการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์ และเทคนิคการผลิตให้ดีกว่านี้ ให้ได้มากกว่าแค่ผลิตได้หลายรอบขึ้น แต่ให้ไปถึงขั้นทำเท่าเดิมหรือน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น พัฒนาไปสู่การแปรรูปให้ขายได้ราคามากขึ้น


ชัยธวัชกล่าวต่อไป ว่าอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเกษตรกรทั้งประเทศก็คือเรื่องหนี้สินครัวเรือนที่เกษตรกรเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด พรรคก้าวไกลเสนอว่าต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรครั้งใหญ่เพื่อนำไปสู่การปิดหนี้ เช่น เกษตรกรอายุเกิน 60 ปีที่จ่ายหนี้จนเกินเงินต้นแล้วควรปิดหนี้ให้ได้เลย หรือลูกหนี้ที่ยังจ่ายหนี้ไม่เกินเงินต้น ก็ต้องมีการเข้าไปสนับสนุนให้เอาที่ดินมาบริหารจัดการ ให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นเพื่อนำไปสู่การปิดหนี้


เช่นเดียวกับเรื่องของสวัสดิการถ้วนหน้า สำหรับทั้งผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน และเด็ก จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ประชากรวัยทำงานน้อยลง ประชากรเกิดใหม่น้อยลง การมีสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ และคนวัยทำงานในการดูแลลูก จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในการช่วยลดภาระและส่งเสริมให้มีประชากรวัยทำงานมากขึ้น รวมทั้งการมีงบประมาณส่งเสริมคนทำงานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เพื่อให้เกิดงานที่มั่นคงและมีค่าตอบแทนอย่างเป็นมืออาชีพ


ชัยธวัชสรุปว่า ดังนั้น การแก้ปัญหาของเกษตรกรจะแก้แต่เรื่องน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องแก้ทั้งระบบ รวมถึงการทำให้มีทางเลือกงานนอกภาคเกษตรใหม่ๆ ในพื้นที่ อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการสร้างอุตสาหกรรมจากปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น การทำน้ำประปาดื่มได้ ที่จะทั้งสร้างงานในพื้นที่และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนไปได้ด้วย รวมทั้งการกระจายอำนาจ เพื่อให้อำนาจและงบประมาณอยู่ใกล้ประชาชนให้มากที่สุด


#ฝ#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล