“วรรณวิภา” ร่วมเสวนา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สิทธิลาคลอด 180 วัน เชื่อช่วยให้คนพร้อมมีลูกมากขึ้น ภาคประชาชนสนับสนุน ชวนสังคมจับตา
นายกฯ จะเซ็นรับรองให้เข้าสภาหรือไม่
วันที่
9 พฤศจิกายน 2566 วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาสาธารณะ "มองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ...
ว่าด้วยการลาคลอด 180 วัน
ข้อเสนอในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานหญิง" ที่สถาบันวิจัยสังคม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้องประชุมชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์
ประจวบเหมาะ
วรรณวิภา
กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เป็นความตั้งใจตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่
ที่มีการเสนอปรับเปลี่ยนสิทธิสวัสดิการของพี่น้องแรงงานให้ครอบคลุมรอบด้านยิ่งขึ้น
เช่น การปรับนิยามคำว่านายจ้าง ลูกจ้าง และวันลา ให้กว้างขึ้น
เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของการทำงานในสมัยใหม่ เช่น งานพาร์ทไทม์
งานฟรีแลนซ์
โดยในสมัยสภานี้
พรรคก้าวไกลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เข้าไป 2 ฉบับ แบ่งเป็น
ฉบับที่ไม่ใช่ร่างการเงิน เนื้อหามีการขยายความคุ้มครองแรงงาน
เพิ่มสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง เช่น ทำงานไม่เกิน 40 ชม.ต่อสัปดาห์
ทำงานติดต่อครบ 120 วัน
มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้อย่างน้อย 10 วัน ส่วนอีกร่าง
สภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างการเงิน ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องให้คำรับรอง
จึงจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯ ได้
เนื้อหามีการแก้ไขให้สิทธิสวัสดิการครอบคลุมลูกจ้างหน่วยงานรัฐ
รวมถึงแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิลาคลอด
วรรณวิภา
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตราที่ระบุสิทธิลาตลอด ว่ามีการเพิ่ม 2 หลักการ
คือ (1) เพิ่มวันลา จากเดิม 98 วัน
เป็น 180 วัน และ (2) เพิ่มสิทธิให้ลาได้ทั้งพ่อและแม่
แบ่งวันลากันได้ โดยได้รับค่าจ้าง 90 วัน
และสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม 90 วัน
ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้จำเป็นต้องให้หลายฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็น
เพราะจะส่งผลผูกพันหลายเรื่อง ส่วนที่มีข้อกังวลว่าการลาคลอด 180 วัน จะทำให้คนหยุดงานมากขึ้น ตนอยากชวนมองในมุมที่ว่า
ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
อัตราการเกิดลดต่ำลงต่อเนื่องจนน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตจะขาดคนวัยแรงงานมาขับเคลื่อนประเทศ
สิทธิลาคลอด
180 วันที่ร่างกฎหมายนี้เสนอ จึงจะเป็นพื้นฐานช่วยให้คนพร้อมมีลูกมากขึ้น
สามารถใช้เวลาเลี้ยงดูลูกในช่วง 6 เดือนแรกได้อย่างมีคุณภาพ
ต่างจากที่ผ่านมาที่แรงงานหญิงไม่สามารถหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้
เมื่อคลอดลูกก็ต้องรีบกลับไปทำงาน ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายร่วมติดตาม
ตอนนี้หลายเครือข่ายเห็นด้วยกับร่างนี้ และจะยื่นร่างของภาคประชาชนเข้ามาประกบ
สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานของพรรคก้าวไกล
โดยขณะนี้ร่างปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 แล้ว
ขั้นตอนต่อไปอยู่ที่นายกฯ
จะเซ็นรับรองให้ร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาหรือไม่
พร้อมกันนี้
วรรณวิภา เสนอให้รัฐปรับปรุงแก้ไขเรื่องประกันสังคมในส่วนของแรงงานนอกระบบ
เนื่องจากยอดผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในปัจจุบันไม่ใช่ยอดจริง
มีการลงทะเบียนเข้ามาจำนวนมากในช่วงโควิดที่รัฐแจกเงินเยียวยา
ข้อเสนอของตนคือให้รัฐนำประชาชนวัยแรงงานทุกคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม
เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า
คนทำงานทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มงบประมาณจากการสมทบของภาครัฐ
ไม่มีใครตกหล่น