วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“ก้าวไกล” แถลงจับตานโยบายพลังงาน แฉขบวนการปล้นคนไทยจ่ายค่าไฟแพง “ประยุทธ์” ทำ “เศรษฐา” สานต่อ มีนายทุน “ไอ้โม่ง” สั่งข้างหลัง ยกเรื่องพลังงานสะอาดบังหน้าประกาศรับซื้อกว่า 5 พันเมกะวัตต์ สุดท้ายกระบวนการล็อกสเปก-ไร้ประมูล ประเคนเอกชน

 


ก้าวไกล” แถลงจับตานโยบายพลังงาน แฉขบวนการปล้นคนไทยจ่ายค่าไฟแพง “ประยุทธ์” ทำ “เศรษฐา” สานต่อ มีนายทุน “ไอ้โม่ง” สั่งข้างหลัง ยกเรื่องพลังงานสะอาดบังหน้าประกาศรับซื้อกว่า 5 พันเมกะวัตต์ สุดท้ายกระบวนการล็อกสเปก-ไร้ประมูล ประเคนเอกชน

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคารอนาคตใหม่ ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบายรัฐบาล (Policy Watch) ในส่วนของกระทรวงพลังงาน คือนโยบายการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส

 

โดยศุภโชติ ระบุว่าสถานการณ์ปัจจุบันในภาคพลังงานล่าสุด จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประกาศรับฟังความคิดเห็นกรณีค่าไฟที่เป็นไปได้ในช่วงเดือนมกราคม 2567 มีความเป็นไปได้ที่ค่าไฟอาจจะพุ่งขึ้นไปถึง 4.68 บาทต่อหน่วยในกรณีที่เลวร้ายน้อยที่สุด ส่วนในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจขึ้นไปแตะถึง 6 บาทต่อหน่วย

 

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพิ่งแถลงไปถึงการลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท ว่าเป็นผลงานรัฐบาล จึงเป็นเพียงการยืดหนี้โดยไม่มีมาตรการรองรับ เล่นกับความคาดหวังของประชาชนว่าเชื้อเพลิงจะมีราคาลดลง ทำให้ก้อนหนี้ที่หน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกอยู่จะลดลงไปด้วย แล้วรัฐบาลจะสามารถคงราคาค่าไฟอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยได้ต่อไป แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างสวนทาง ราคาเชื้อเพลิงโลกเพิ่มสูงขึ้น ก้อนหนี้ที่แบกอยู่ก็ขยายขึ้นไปด้วย เราจึงได้เห็นราคาค่าไฟที่อาจขึ้นไปแตะถึง 6 บาทต่อหน่วยในกรณีที่เลวร้ายที่สุด

 

ศุภโชติกล่าวต่อไป ว่าพรรคก้าวไกลย้ำมาเสมอว่ารัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ หยุดการนำของแพงมาให้ประชาชนแล้วนำของถูกให้เอกชน การแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย หยุดเอาเงินของประชาชนไปให้กลุ่มทุนฟรีๆ ไปสร้างโรงไฟฟ้าที่สร้างมาแล้วไม่ได้เดินเครื่อง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลกลับไม่มีความพยายามแก้ไขอย่างจริงใจ ซ้ำยังสานต่อปัญหาเดิม สร้างปัญหาใหม่ ปล้นคนไทยให้จ่ายค่าไฟแพงขึ้น ประยุทธ์เป็นคนคิด เศรษฐามาสานต่อ โดยรับคำสั่งมาจากกลุ่มทุนไอ้โม่งกลุ่มหนึ่ง

 

ทั้งนี้ มีจิ๊กซอว์อยู่ 5 ชิ้น ที่กำลังนำพาประชาชนคนไทยให้ไปจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้น กล่าวคือ

 

1) ย้อนกลับไปวันที่ 10 ตุลาคม 2566 กรณีศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาชั่วคราวการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ เป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้ยื่นร้องต่อศาลว่า กกพ. ได้ออกประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

2) พรรคก้าวไกลตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ และได้นำมาสู่การตั้งกระทู้สดของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธการตอบกระทู้สดด้วยตนเอง แต่หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีกลับขึ้นมาตอบกระทู้ของคนอื่นได้ นี่เป็นการที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา กำลังทำเป็นมองข้าม เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในภาคพลังงานไทยใช่หรือไม่?

 

3) แต่หากจะโยนทุกอย่างไปที่รัฐบาลเศรษฐาก็อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะโครงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนกว่า 5 พันเมกะวัตต์ เป็นผลงานทิ้งทวนของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกมติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มการซื้อพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซื้อพลังงานหมุนเวียนเพื่อขายให้กับเอกชนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

 

4) ประกาศระเบียบการรับซื้อที่ออกโดย กกพ. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ถูกตั้งคำถามมากมายโดยทั้งนักวิชาการและผู้ร่วมประมูลเอง ทั้งการรับประกันรายได้ที่นานถึง 25 ปี และระเบียบการรับซื้อที่ไม่ใช่การประมูลราคา แต่เป็นการให้คะแนนเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้บอกหลักเกณฑ์ว่าจะมีการให้คะแนนอย่างไรด้วย ทำให้ผู้เข้าร่วมหลายคนสงสัยว่าอาจจะเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจโดยปราศจากหลักเกณฑ์ในการตัดสินหรือไม่

 

5) ผลของการคัดเลือก ที่เกินกว่าครึ่งของทั้ง 5 พันเมกะวัตต์ที่จะรับซื้อ ถูกจัดสรรไปให้กลุ่มทุนเอกชนเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น โครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาท เหตุใดจึงมีการจัดสรรให้เอกชนเพียงไม่กี่รายเท่านั้น?

 

ศุภโชติกล่าวต่อไป ว่าหลังคำสั่งศาลออกมาเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลยังมีการลงนามในสัญญารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างรัฐกับเอกชนรายหนึ่งเกือบ 700 เมกะวัตต์ ทั้งที่มาจากประกาศฉบับเดียวกันที่เป็นปัญหาอยู่ คำถามคือนี่เป็นการเร่งรัดกระบวนการให้ประชาชนจ่ายค่าไฟแพงขึ้น จากคำสั่งของไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่?

 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถสรุปให้เห็นได้ถึงความผิดปกติ 3 ประการในกระบวนการดังกล่าว ประกอบด้วย

 

1) จากเหตุผลที่ศาลปกครองให้ไว้ในคำสั่งทุเลาชั่วคราวดังกล่าว ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการที่ กกพ. ไม่มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนนที่ใช้ในการคัดเลือกผู้ชนะ เป็นการผิดต่อกฎหมาย พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 2550 ที่กำหนดว่า กกพ. จะต้องเป็นผู้ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และต่อมาเมื่อมีผู้ร้องเรียน กกพ. จึงออกหลักเกณฑ์ตามหลังมา แต่หลักเกณฑ์ที่ออกมากลับออกหลังปิดรับสมัครไปแล้วถึง 4 วัน

 

เหตุผลของศาลปกครองยังระบุให้เห็นว่าเมื่อมีผู้อุทธรณ์ ก็ปรากฏว่า กกพ. กลับทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาคำอุทธรณ์เอง ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองอย่างชัดเจน และสุดท้ายคือการที่ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกไม่สามารถขอดูคะแนนการประเมินจากคณะอนุกรรมการการคัดเลือกได้

 

ศุภโชติกล่าวว่า ทั้งหมดนี้ทำให้คิดได้ว่าเกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้คะแนนที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และเป็นที่ชัดเจนว่าประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียนของ กกพ. ครั้งนี้มีปัญหาและไม่โปร่งใส ดังนั้น จึงไม่ใช่แต่เพียงโครงการลมที่ควรจะถูกชะลอการลงนามสัญญา แต่โรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่อยูในฉบับเดียวกัน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บ ฯลฯ ก็ควรจะถูกชะลอการลงนามสัญญาเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง หรือหากจำเป็นต้องมีกระบวนการคัดเลือกใหม่ ก็ควรทำอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา และตรวจสอบได้

 

2) กำลังมีการอ้างถึงพลังงานสะอาดเพื่อเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคารับซื้อที่สูงเกินไปโดย กกพ. เป็นผู้ตั้งราคารับซื้อ คำถามคือ กกพ. ทราบได้อย่างไรว่าราคาที่ตั้งมาเป็นราคาที่ถูกที่สุด เพราะโดยปกติที่ต่างประเทศทำกันคือการให้ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกยื่นเสนอราคาแข่งขันกันเข้ามา แล้วให้ผู้เสนอราคาที่ถูกที่สุดเป็นผู้ชนะไป

 

นี่ทำให้ระเบียบที่ออกมาอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูก และอาจเป็นการให้ประโยชน์เกินความจำเป็นกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง เพราะเมื่อเปรียบเทียบโครงการที่รัฐให้เอกชนกับโครงการที่รัฐให้ประชาชน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่านโยบายอย่างนี้ทำมาเพื่อใคร ไม่ว่าจะเป็นราคารับซื้อ ที่แม้ราคาจะใกล้เคียงกัน แต่ระยะเวลาการรับประกันรายได้ที่ให้เอกชนกลับยาวนานถึง 25 ปี ต่างจากที่รับประกันให้ประชาชนแค่ 10 ปี ขณะเดียวกัน กำลังการผลิตติดตั้งสูงสุด โครงการหนึ่งเอกชนติดตั้งได้ 90 เมกะวัตต์ แต่ประชาชนติดตั้งได้โครงการละแค่ 0.01 เมกะวัตต์ หรือต่างกัน 9 พันเท่า และสุดท้าย โควตาที่ให้ทั้งหมด เป็นการให้กับเอกชนกว่า 5 เมกะวัตต์ ให้ประชาชนแค่ 90 เมกะวัตต์

 

นี่ยังไม่รวมมติจากรัฐบาลล่าสุดที่อนุมัติให้มีการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีก 3,600 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ทำให้โครงการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนนี้มีปริมาณรวมเป็นกว่า 8 พันเมกะวัตต์แล้ว ซ้ำร้ายยังมีข้อแม้เพิ่มขึ้นมาว่าห้ามผู้มีข้อพิพาทหรือฟ้องร้องรัฐอยู่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการจงใจล็อกผลให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกแล้วหรือไม่?

 

3) ความจำเป็นในการรับซื้อพลังงานทดแทน ทั้งที่ประเทศไทยมีพลังงานไฟสำรองล้นเหลืออยู่แล้ว ตัวเลขล่าสุดคือ 55% และหากย้อนกลับไปดูในอดีต จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการรับซื้อพลังงานจากเอกชน จะทำให้ประเทศมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ หมายความว่าประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นแล้วไม่ได้ใช้

 

ในอดีต ตั้งแต่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเปิดอนุมัติให้มีการประมูลโรงไฟฟ้า IPP กว่า 5 พันเมกะวัตต์ และไม่กี่ปีถัดมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ประเคนซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอีก 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการออกระเบียบการรับซื้อ ยังไม่นับรวมกับที่เรากำลังพูดถึงกันวันนี้ คือการรับซื้อเพิ่มอีกกว่า 8 พันเมกะวัตต์ คำถามคือโรงไฟฟ้าจำนวนมากขนาดนี้ เหตุใดจึงมีการรวบรัดนำมาประมูลในครั้งเดียว ทั้งที่สามารถซอยย่อยทีละ 1-2 พันเมกะวัตต์ จะสามารถกำหนดราคารับซื้อที่ถูกลงได้?

 

จากความผิดปกติทั้ง 3 ประการ หากยังปล่อยให้มีการออกระเบียบการรับซื้อพลังงานที่ไม่โปร่งใสเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อถือของนักลงทุนต่อกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแน่นอน

 

ศุภโชติกล่าวต่อไป ว่าทั้งหมดนี้ทำให้ตนต้องตั้งคำถามไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. ที่มีอำนาจในการออกมติให้ทบทวนการลงนามสัญญา หรือชะลอการลงนามสัญญาออกไปก่อน อย่างน้อยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและคลายข้อครหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันเรากลับเห็นได้ว่าไม่มีการทำอะไรเลย ซ้ำยังปล่อยให้มีการลงนามสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนเกือบ 700 เมกะวัตต์ ทั้งที่ศาลได้มีคำสั่งระงับหรือชะลอการลงนามสัญญาออกไปก่อนแล้ว

 

นี่คือการจงใจฮั้วประมูล ซื้อขายโรงไฟฟ้าที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาทอยู่หรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้มีความพยายามเตะถ่วงไม่ให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในประเทศ แต่หากจะเกิดขึ้นก็ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นโครงการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ขอถามถึงนายกรัฐมนตรีว่าในเมื่อกระบวนการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนนี้มีปัญหา ส่อทุจริต และไม่โปร่งใสอย่างชัดเจนเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจที่มีในการทบทวน ตรวจสอบ และชะลอ หรือกระทั่งยับยั้งการลงนามสัญญาหรือไม่?” ศุภโชติกล่าว

 

#UDD #ยูดีดีนิวส์ #กระทรวงพลังงาน