เรียกร้องรัฐบาลหนุนและทุกฝ่ายร่วมผลักดัน
'นิรโทษกรรมประชาชน' ชี้ คือทางออก
ปลดล็อคประเทศจากความขัดแย้ง ในวงเสวนา 'ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง'
วันนี้
(19 พฤศจิกายน 2566) เวลา 13.00 น.
ที่อาคาร All Rise หมู่บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน
จัดเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีทางการเมือง”
เพื่อหาทางออกให้แก่ปัญหาคดีการเมืองและผู้ที่ถูกคุมขังจากข้อหาทางการเมืองจำนวนมาก
โดยเฉพาะการนำเสนอถึงความเป็นไปได้ของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
ร่วมพูดคุยโดยสมบูรณ์
ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นางสาวพูนสุข
พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, นางสาวเบนจา
อะปัญ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง, นพ.เหวง โตจิราการ
อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)
และปัจจุบันคณะกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53),
นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
(พธม.) และดำเนินรายการโดยฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The
Reporter
นายอมร
กล่าวว่า การร่วมเสวนาในวันนี้มาในนามส่วนตัว เพราะแนวร่วมพันธมิตรฯ
เป็นองค์กรแนวราบที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ
เพื่อตรวจสอบรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นผู้นำบริหารประเทศ ซึ่งเราเชื่อว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้เราพูดกันในขณะว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา
และโดยเฉพาะในคดีซุกหุ้น ที่มีคำที่น่าจดจำว่า 'บกพร่องโดยสุจริต'
ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมเปิดให้มีการตรวจสอบ
จนเกิดคำถามต่อความชอบธรรมและเหตุผลของประชาธิปไตย แนวร่วมพันธมิตรฯ
จึงรวมตัวเพื่อตรวจสอบรัฐบาลนายทักษิณ ก่อนจะเกิดการรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2550
นายอมร
กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตามมาด้วยหลายคดีในหมวดคดีอาญา
คดีก่อการร้าย และคดีกบฏ เช่น คดี 9 แกนนำจากการเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล
หรือ คดีชุมนุมหน้าสมาคมวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) แต่อย่างไรก็ตาม
หลายคดีเพิ่งเข้าสู่กระบวนการของศาลชั้นต้น เช่น คดีชุมนุมปิดสนามบิน
ที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2551 และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในเดือนธันวาคม
2566 ขณะเดียวกันหลายคดีได้ยุติไปแล้วเช่นกัน
สำหรับการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
นายอมรระบุว่า
เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองกรอบของการนิรโทษกรรมคดีการเมือง
ดังที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ นายอมร กล่าว
ด้านนพ.เหวง
กล่าวในตอนหนึ่งถึงสาเหตุของการเกิดคดีความทางการเมืองว่า
เป็นเพราะรัฐมองประชาชนเป็นศัตรู เพราะหากไม่มองประชาชนเป็นศัตรู
เขาต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นที่แตกต่างของประชาชน
ซึ่งกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลระบุห้ามว่า รัฐห้ามกระทำการรุนแรงเกินกว่าเหตุ
จึงเลือกที่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ ตัวอย่างที่สำคัญ ๆ คือ คดีชายชุดดำ
ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศ
เป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ขณะที่คดีอื่น ๆ
อย่างคดีเผา หลายคดีก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เกลี่ยกล่อมให้คนเสื้อแดงเซ็นไปก่อน
จนกลายเป็นความเสียเปรียบในชั้นศาล นอกจากนี้
รัฐยังพยายามใช้สื่อในการทำให้สังคมมองภาพผู้ชุมนุมในทางที่ไม่ดีอีกด้วย
ดังนั้น
ตราบใดก็ตามหากรัฐยังมองว่าประชาชนเป็นศัตรูก็จะหาเหตุต่าง ๆ มายัดเยียดใส่ร้าย
โดยที่หากยังเป็นแบบนี้คงไม่ต้องพูดถึงการนิรโทษกรรม
ดังนั้น
ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน
สำหรับตนวินาทีนี้ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง
แต่มาจากการสนับสนุนจากพรรคการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสว.
และกลับกันพรรคที่ประชาชนเลือกมากที่สุด 14 ล้านเสียง
แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ สะท้อนว่าขณะนี้ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ตนมีแนวคิดว่า
ประเทศไทยต้องไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป
ต้องไม่มีการฆ่าคนโดยใช้ทหารใจกลางถนนอีกต่อไป
นพ.เหวง
ได้ฝากพรรคที่ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ว่า
จะทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตไปเกือบร้อยศพได้หรือไม่ ? ข้อเรียกร้องคนเสื้อแดงในการชุมนุมปี
53 เรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา
คืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อเลือกตั้งใหม่แล้วถูกปราบปราม ผ่านมา 13 ปี ยังไม่ได้รับความยุติธรรม
รัฐไทยฆ่าประชาชนตายซ้ำ
ๆ ซาก ๆ ถ้าหากรัฐบาลไม่เห็นประชาชนเป็นศัตรู ก็ควรหนุนนิรโทษกรรมประชาชน
นพ.เหวง
กล่าวย้ำว่าตราบใดที่ประชาชนไม่ได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา
หรือกฎหมายแพ่งอย่างถึงที่สุด รัฐก็ไม่มีอำนาจที่จะจับกุมประชาชน
ขณะที่การนิรโทษกรรมนั้นต้องห้ามนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ
ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจสั่งการต้องรับผิดชอบด้วยการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ขณะที่
น.ส.เบนจา กล่าวว่า คดีทางการเมืองมักตามมากับการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ดังนั้น
การที่เราปรากฏตัวที่ไหนจะเท่ากับ 1 คดี
จึงทำให้แต่ละคนมีคดีเยอะมาก คดีที่มักถูกนำมาใช้ คือ มาตรา 112 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การดำเนินคดีในยุคปัจจุบันจึงมีจำนวนมหาศาล
และถูกตัดสินจำคุกอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวในอดีต
สะท้อนว่าประเทศไทยไม่เคยเกิดการเปลี่ยนแปลง ยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่องทุกยุค
เป็นภาวะที่ไม่ปกติที่เราคิดว่าปกติไปแล้ว ซึ่งแม้จะมีพลวัตรที่แตกต่างไปจากยุคอื่น
แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ รัฐไทยไม่เคยคิดจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เลย
ดังนั้น
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะเป็นหมุดหมายแรก ที่ต้องตามมาด้วยการปฏิรูปประเทศอีกหลายด้าน
เช่น การจัดการกับมาตรา 112
เราไม่ได้อยากดูการเมืองแบ่งขั้ว
เราแค่ต้องการรัฐบาลที่สามารถทำให้คนในประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง
รัฐบาลที่ดีจะทำให้ประชาชนที่ไม่ได้คิดเหมือนกัน 100 % อยู่ร่วมกันได้
ซึ่งหากไม่แก้ไขปัญหาตอนนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอยู่ดีและอาจทำให้ต้องเจอกับการต่อต้านจากคนรุ่นต่อไป
ที่เปรี้ยงปร้างกว่าเราก็ได้ ซึ่งตนไม่ได้ขู่ !
ด้านน.ส.
พูนสุข กล่าวตอนหนึ่งว่า เราอยู่กับความขัดแย้งในประเทศไทยกินระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีจนสภาพเศรษฐกิจ
สังคมบ้านเราชะงักงัน ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน ทั้งที่เราสู้เพียงประเด็นเดียวว่าใครเป็นเจ้าของอำนาจ
ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย โดยจากปี 2549 เป็นความขัดแย้งแบบสีเสื้อ แต่หลังปี 2557 เป็นต้นมาคือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน
ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน
จึงต้องการเสนอให้การนิรโทษกรรมเป็นทางออกขั้นเริ่มต้นสำหรับการนำประเทศกลับไปสู่สภาวะปกติ
ที่เราพูดคุยได้ และถือเป็นก้าวแรก ทั้งนี้
อาจต้องมีพื้นที่ที่คนทุกรุ่นได้มาพูดคุยร่วมกันเพื่อผลักดัน และแก้ปัญหาต่อไป
สำหรับสถิติปี
53 ประชาชนถูกดำเนินคดี 1,700 คน
หลังรัฐประหารมีการใช้ประกาศให้พลเรือนไปขึ้นศาลทหารในความผิดของคดี 4 ประเภท มีคนถูกดำเนินดคีโดยศาลทหาร 2,400 คน
ซึ่งในยุคคสช.มีปัญหาตรงที่เขาออกประกาศคำสั่งเอง คนจับกุมคือทหาร ตำรวจ
อัยการทหารดำเนินคดี คนพิพากษาคือศาลทหาร
กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตนจนปลายทหารควบคุมไว้ทั้งหมด
คสช.ได้ทำลายหลักนิติรัฐที่ต้องเป็นการปกครองที่กฎหมายเป็นใหญ่
แต่ปรากฎว่าเราได้เห็นความโอนเอนในการใช้กฎหมายแต่ละช่วง มาตรา 112 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ามีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง
ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 พบว่ามีการดำเนินคดีในศาลทหาร
บังคับใช้อย่างหนักหน่วงและรุนแรง โดยระวางโทษสูงขึ้น โดยไม่ให้ประกันตัว
แต่ช่วงหนึ่ง
ในช่วงต้นปีพ.ศ. 2561-2563
อยู่ ๆ กฎหมายมาตรา 112 ที่เคยใช้อย่างรุนแรงกลับมีการยกฟ้อง
โดยเห็นความพยายามไม่ใช้มาตรา 112 แต่ใช้เครื่องมืออื่น เช่น
มาตรา 116 แทน
ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของการบังคับใช้กฎหมาย
ต่อมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์จะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกมาตรา
จนมีการดำเนินคดีมาตรา 112
สูงสุดใน พ.ศ. 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีสูงสุดถึง 24
คดีคือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ขณะที่นายอานนท์ นำภา
ที่ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 14
คดี
เราจะกักขังอนาคตของประเทศไว้แบบนี้จริงหรือ
? เป็นที่มาของการนำมาสู่ข้อเสนอการนิรโทษกรรมประชาชน
ซึ่งจะเป็นก้าวแรกที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ และควรมีมาตรการอื่น ๆ เสริมด้วย
การออก พ.ร.บ.ไม่ใช่การแก้ไขมาตรา 112 คนที่กลัวว่าจะกระทบกระเทือนสถาบันจึงไม่ต้องกังวล
เพราะมาตรา 112 ยังอยู่ แต่การผ่านร่างฉบับนี้
จะทำให้คนเห็นถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และสถาบันการเมือง
เป็นการนำประเทศไปสู่ทางออก
ข้อเสนอนิรโทษกรรมกลับมาเป็นหนึ่งในคำตอบให้แก่สังคมอีกครั้ง น.ส.พูนสุข กล่าว
ด้าน
นายสมบูรณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงยุติธรรมในยุค พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง
รมว.กระทรวงยุติธรรม ยึดหลักในการนำยุติธรรมสู่ประชาชน
มีการใช้เงินกองทุนยุติธรรมจำนวนมากมาดูแลประชาชน
แต่กระทรวงยุติธรรมเป็นปลายเหตุที่รับผลมาจากหน่วยงานอื่น ๆ ดังนั้น
รัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังปัญหา และพร้อมปรับปรุงเรื่องที่ยังขุ่นข้องหมองใจ
ยุคนี้เราต้อนรับประชาชน
และกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่
จึงเป็นยุคที่น่าจะสอดคล้องความต้องการของประชาชนในระดับหนึ่ง
ส่วนการออกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
ตนกำลังรวบรวมหลายร่างนิรโทษกรรมของแต่ละพรรคเพื่อนำเสนอความเห็นแก่
รมว.กระทรวงยุติธรรม จึงอาจจะยังกล่าวไม่ได้ว่ามีความคิดเห็นไปในทิศทางใด
แต่อยากให้มั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังทำงานในประเด็นเหล่านี้อยู่อย่างแน่นอน
นายสมบูรณ์กล่าว
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #นิรโทษกรรมประชาชน