วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 จัดกิจกรรมคืนความยุติธรรม ยื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี และแก้ไข ป.วิอาญาให้หลักประกัน

 


กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 จัดกิจกรรมคืนความยุติธรรม ยื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม เร่งออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี และแก้ไข ป.วิอาญาให้หลักประกัน

 

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2566) ที่กระทรวงยุติธรรม กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ‘ตะวัน’ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ ‘แบม’, ธนพร วิจันทร์ หรือ ‘ไหม’ พร้อมด้วยมวลชนรวมตัวกันจัดกิจกรรม #คืนความยุติธรรม นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องถึง พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี และแก้ไข ป.วิอาญาให้หลักประกัน

 

โดยเวลา 10.00 น. มวลชนบางส่วนแต่งชุดคล้ายนักโทษออกศาล(สีน้ำตาล)พันธนาการด้วยโซ่ตรวนที่ข้อเท้า ตั้งขบวนด้านข้างกระทรวงยุติธรรม ทั้งชูป้ายเรียกร้องปล่อยนักโทษการเมืองพร้อมรูป เดินเข้าด้านในกระทรวง โดยสลับสับเปลี่ยนกันปราศรัย อาทิ ณัฐชนน ไพโรจน์, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยา, ไหม ธนพร, เจษฎา ศรีปลั่ง และสมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

ทั้งนี้ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงมารับฟังและรับหนังสือด้วยตนเอง พร้อมกล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ คือ การแก้ไขกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน โดยเฉพาะในรัฐบาลปัจจุบันจะยึดหลักนิติธรรมเข้ามา และใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมาย

 

และเมื่อทางกลุ่มฯ ถามถึงประเด็นการประกันตัวนักโทษทางการเมือง พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่า การประกันตัวอยู่ในความดูแลของศาล แต่ทางกระทรวงจะดูแลเรื่องความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของคนที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งในระยะยาวจะมีนโยบายถึงกรณีนักโทษที่อยู่ระหว่างการสอบสวน หรือศาลยังไม่ตัดสินในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรค 2 ไม่ให้ปฏิบัติเหมือนนักโทษที่เด็ดขาด ซึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการต่อไป

 

สำหรับรายละเอียดหนังสือที่ยื่นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรงยุติธรรม นั้น ระบุว่า การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงต่อต้านการรัฐประหารด้วยการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลเผด็จการทหารจึงออกคำสั่งและใช้กฎหมายในการปราบปรามประชาชนด้วยการตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และก่อความไม่สงบเรียบร้อย จำนวน 1,930 ราย และกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 259 ราย

 

การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทย แต่ผู้กระทำกลับนิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้อง โดยเขียนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และความเป็นธรรมกลับถูกดำเนินคดีโดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่อำนวยความยุติธรรมอย่างเพียงพอ เกิดปัญหาสองมาตรฐาน หลายรายถูกจองจำและพ้นโทษมาแล้ว แต่ยังถูกกีดกันจากการทำงานและถูกตัดสิทธิการเมือง ขณะนี้ยังมีนักโทษการเมืองจำนวน 38 รายด้วยกัน

 

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องทำการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุม หรือการตอบโต้การใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการในอดีต ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, 215 ความผิดจากการฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการสั่งห้ามการชุมนุมการเมือง และคดีอาญาจากการตอบโต้ความรุนแรงของตำรวจและทหาร อันมีมูลเหตุที่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพ ฟื้นฟูความยุติธรรม และสร้างสันติสุขในสังคม คณะราษฎรยกเลิก 112 จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้

 

1. รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองในทุกกรณี นับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน

 

2. นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด จะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 และทำการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ได้รับสิทธิการประกันตัว

 

3. ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

 

4. ปรับปรุงสิทธิผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้ยกเลิกการใช้กุญแจข้อเท้าหรือเครื่องพันธการ ยกเลิกข้อกำหนดเยี่ยมญาติได้เพียง 10 คน เพิ่มวันเยี่ยมญาติในวันเสาร์ ให้ผู้ต้องขังคดีระหว่างการพิจารณาของศาลอยู่ในที่คุมขังเดียวกัน และให้สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ครย112 #นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง