วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“อ.ธิดา” ขอเสนอให้มี “ศูนย์ข้อมูลคดีความของนปช.” โดยขอความร่วมมือผู้ถูกกระทำและทนายความที่ทำคดี เผย ไม่แน่ใจว่าจะทวงความยุติธรรมได้ แต่อย่างน้อยให้เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ถูกกระทำ!

 


“อ.ธิดา” ขอเสนอให้มี “ศูนย์ข้อมูลคดีความของนปช.” โดยขอความร่วมมือผู้ถูกกระทำและทนายความที่ทำคดี เผย ไม่แน่ใจว่าจะทวงความยุติธรรมได้ แต่อย่างน้อยให้เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ถูกกระทำ!


วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ แจ้งว่ายังไม่หายเป็นปกติ ยังต้องรอการพักฟื้น แต่ อ.ธิดา มีทัศนะว่า เราน่าจะทำงานเพื่อให้ได้ “ศูนย์ข้อมูลคดีความของนปช.” ซึ่งมีคดีความส่วนใหญ่ที่เราทำไว้เป็นคดีความหลังปี 2553 แต่แน่นอน มีมากมายที่เรามักจะได้ไม่สมบูรณ์ ก็คือคดีความต่างจังหวัด เหตุผลเพราะเราไม่มีศูนย์ทนายฯ แบบปัจจุบัน มักจะเป็นทนายของสส.บ้าง กลุ่มผู้รักประชาธิปไตยบ้าง ในแต่ละจังหวัด ดังนั้นก็มีการว่าความหรือมีประวัติ ซึ่งมาไม่ถึงส่วนกลาง บางที้เราจะได้คดีดัง ๆ เช่น คดีเผาศาลากลางบางจังหวัด, คดี 112 แต่จริง ๆ แล้วก็มีคนที่ถูกจับตั้งแต่ปี 2553 แล้วไม่ได้ประกันตัวอย่างไม่ยุติธรรม แน่นอน เขาก็ถูกปล่อยไปแล้ว เพราะฉะนั้นมันก็เป็นคดีส่วนหนึ่งที่เราอยากรวบรวมไว้ (หมายถึงว่าคดีตั้งแต่ปี 2553)


อ.ธิดา กล่าวต่อไปว่า คดีปี 2553 ที่เรารวบรวมไว้ ปัญหาความไม่ยุติธรรมก็คือ บางคดีถูกยกฟ้อง แต่ว่าถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวนานมาก และไม่ได้ลบประวัติอาชญากรรม เวลาไปสมัครงานที่ไหน ก็ได้งานยาก ความเสียหายที่ว่าจำนวนมากศาลยกฟ้อง แต่ไม่ได้รับการเยียวยาเหมือนอย่างเช่นคดีของ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือ จ๋า ผู้หญิงยิงฮ. เขาอ้างว่าศาลไม่ได้บอกว่าคุณไม่ได้มีความผิด แต่หลักฐานไม่พอจะเอาฟ้องร้อง อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็คือเป็นคดีอันเนื่องมาจากปี 2553 เป็นต้นมา ในฐานะผู้ถูกกระทำ ไม่ได้ประกันตัว และเป็นความไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเรามีข้อมูลอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแกนนำคดีใกล้ ๆ กรุงเทพฯ ในนี้มีทั้งคดี 112, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คล้าย ๆ ที่เด็ก ๆ โดน นี่คือส่วนหนึ่ง


ชุดที่สองก็เป็นคดีที่มาฟ้องร้องใหม่หลังปี 2557 คือหลังรัฐประหาร เช่น มีคดีชายชุดดำ คดีต่าง ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด เช่น คดีขอนแก่นโมเดล แล้วก็ 112 ด้วย แต่ว่าคนเหล่านี้จะเป็นคนที่สัมพันธ์กับคนเสื้อแดง หรือเป็นคนเสื้อแดงจริง ซึ่งคดีเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 2557 และแม้กระทั่งปี 2553 คดีของแกนนำนปช. มันยังค้างมาจนถึงปัจจุบัน ประมาณว่าจากนับพันคดีมาเป็นนับร้อยคดี


เนื่องจากเราไม่สามารถหาข้อมูลได้ครบถ้วน เราอยากขอความร่วมมือจากผู้ที่ถูกกระทำ หรือทนายความที่เกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ เราอยากได้รับข้อมูลเหล่านี้มาเพื่อทวงความยุติธรรมให้เขาเหล่านี้ เพราะว่าการทวงความยุติธรรมไม่ใช่แค่ “คนตาย” แต่ “คนเป็น” ที่ถูกกระทำก็สมควรได้รับการทวงความยุติธรรมเช่นเดียวกับเด็ก ๆ ในปัจจุบัน และอย่างน้อยก็ให้เป็นประวัติศาสตร์ว่าผู้ถูกกระทำเหล่านี้ไม่ได้ตายไปเฉย ๆ ไม่ได้ตายฟรี ไม่ได้ถูกจับฟรี เหมือนกับหลาย ๆ คดี เพราะว่ามันเป็นคดีอันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง ความแตกต่างทางการเมือง


อ.ธิดา กล่าวว่า เราจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งของการชำระประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำ โดยเฉพาะประชาชน จากการกระทำโดยอำนาจรัฐที่มีทัศนะต่างจากประชาชน เราอยากทวงความยุติธรรม ไม่ได้อยากให้ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ปกครองที่ชนะ แต่ประวัติศาสตร์ควรจะถูกเขียนด้วยประชาชนผู้แพ้ด้วย เพราะว่าสมัยโบราณยังมีตำนาน ยังมีการเขียนประวัติศาสตร์หลายฉบับ ดังนั้นถ้าเรายังไม่ยอมแพ้ อย่างน้อยให้มันเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ถูกกระทำ ดีกว่ามีประวัติศาสตร์ของผู้ได้รับชัยชนะทางการเมืองอยู่ฝ่ายเดียว


อ.ธิดา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีความคิดเห็นโดยเฉพาะปัญหาการนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเรามีข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ครบถ้วน แต่อยากทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงขอความร่วมมือจากผู้ถูกกระทำและทนายความที่ทำคดีในช่วงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จนถึง ณ บัดนี้ รวมทั้งที่เพิ่งมาถูกกระทำหลังรัฐประหาร โดยสามารถส่งข้อมูลมาที่ https://www.facebook.com/thai.udd.news/ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


“เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถทวงความยุติธรรมได้ แต่อย่างน้อยมันเป็นหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ ไม่ให้เป็นผู้ชนะเท่านั้นที่เขียนประวัติศาสตร์” อ.ธิดา กล่าว


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ธิดาถาวรเศรษฐ #ชำระประวัติศาสตร์ #นปช