วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

'ตะวัน' พร้อมเครือข่ายประชาชนฯ ร้องศาลฎีกา ขอความเป็นธรรมตรวจสอบคำพิพากษาคดี 'เก็ท โสภณ' ขัดกับกฎหมาย วอนรัฐให้ความสำคัญ ชี้ สิทธิเสรีภาพเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

 


'ตะวัน' พร้อมเครือข่ายประชาชนฯ ร้องศาลฎีกา ขอความเป็นธรรมตรวจสอบคำพิพากษาคดี 'เก็ท โสภณ' ขัดกับกฎหมาย วอนรัฐให้ความสำคัญ ชี้ สิทธิเสรีภาพเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน

 

วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2566) ที่สำนักงานประธานศาลฎีกา เครือข่ายประชาชน นำโดยนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ พร้อมด้วยบิดา นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และประชาชนผู้รักความเป็นธรรม เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลฎีกา กรณีคำพิพากษาคดีของเก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ขัดกับตัวบทกฎหมาย

 

ด้านนางสาวทานตะวัน เป็นตัวแทนอ่านหนังสือ โดยมีรายละเอียดดังนี้ สืบเนื่องจากคดีแดงที่ อ.2410/2566 คดีดำที่ อ.1447/2565 ที่อ่านคำพิพากษาศาลชั้นตันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ ศาลอาญา พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และ 112 ฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 รวมจำคุก 3 ปี 6 เดือน

 

โดยคำพิพากษาข้างต้นขัดกับตัวบทกฎหมาย เนื่องด้วย พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 กำหนดว่าผู้ที่จะใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าต้องได้รับอนุญาต และมาตรา 9 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 4 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท ดังนั้นในคำพิพากษาได้กำหนดบทลงโทษฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน จึงเป็นการตัดสินลงโทษโดยปราศจากบทบัญญัติกฎหมายใด ๆ รองรับ ทั้งยังขัดกับบทบัญญัติด้วยบทกฎหมายที่มีอยู่ในเรื่องนี้

 

พร้อมทั้งเห็นว่าประโยคคำพูดของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ตามคำฟ้องในคดีนี้ เป็นประโยคที่จำเลยได้ใช้เพียงสรรพนามบุรุษที่สอง เป็นประธานของประโยค ซึ่งตามหลักไวยากรณ์หมายถึง ผู้ฟังซึ่งหน้าในขณะนั้นโดยตรง ได้แก่ตำรวจที่กำลังฟังอยู่มิใช่บุคคลอื่นใดทั้งสิ้น การกระทำจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในมาตรา 112

 

จึงขอร้องเรียนศาลฎีกาให้ตรวจสอบว่า การตัดสินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ หากเป็นความผิดพลาดควรต้องชี้แจงแก้ไขความผิดพลาดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรง เพื่อเป็นการธำรงความเป็นธรรมในสังคมที่ประชาชนควรจะต้องได้รับจากศาลยุติธรรม

 

ขณะที่นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทนายความด้านสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในการดำเนินคดี โดยการดำเนินคดีอาญาของรัฐถูกกำกับโดยฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการกำกับดูแล ตำรวจในการแจ้งข้อหา การกำกับดูแลอัยการในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะฝ่ายบริหารสามารถสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งช่วงนี้จะต้องดูความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือนด้วย

 

อยากให้รัฐบาลพลเรือนใช้อำนาจและหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตย 2 เดือนที่ผ่านมาเราเห็นรัฐบาลพลเรือนยังวุ่นอยู่กับเงิน 10,000 บาท จึงสงสัยว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปซุกซ่อนอยู่ที่ไหน เพราะสิทธิเสรีภาพเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน หากเอาเรื่องเหล่านี้ไปซุกซ่อนไว้ และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปโดยไม่กำกับดูแล ก็เปรียบเสมือนกับการรักษาอำนาจ รัฐบาลทหารไว้

 

นางสาวพรเพ็ญ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์ใช้โซ่ตรวนกับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองว่า กรมราชทัณฑ์เพิ่งนำกลับมาใช้เมื่อครึ่งปีหลัง เนื่องจากมีนักโทษคดียาเสพติดพยายามหลบหนี เรายืนยันว่านักโทษทางการเมืองและนักโทษที่ต้องการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ เขาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ดังนั้นการใส่โซ่ตรวนที่ข้อเท้า และการใส่ชุดนักโทษระหว่างการพิจารณาคดี จึงขัดกับรัฐธรรมนูญที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา การบังคับใช้กฎเกณฑ์เดียวกันกับทุกคน จึงไม่มีความเหมาะสม ขัดกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อยากให้กรมราชทัณฑ์ทบทวนคำสั่ง และให้ประธานศาลฎีกามีข้อกำหนดเคารพหลักการสากลว่าด้วยการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ ทุกคนไม่ควรถูกใส่โซ่ตรวนระหว่างการพิจารณา แม้จะเป็นจำเลยในคดีอาญาใด ๆ

 

ทั้งนี้ เวลา 13.30 น. ทางกลุ่มฯ จะไปยื่นหนังสือต่อสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องเดียวกันนี้ด้วย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัวประชาชน