วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

#conforall กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นกรรมการประชามติฯ ยันรัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้งสสร. 100%


#conforall กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นกรรมการประชามติฯ ยันรัฐธรรมนูญต้องเขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้งสสร. 100%


วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2566) กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ผู้รวบรวมรายชื่อประชาชน 211,904 รายชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ เข้าให้ความเห็นกับคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องรายละเอียดและขั้นตอนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน โดยเน้นย้ำว่าคำถามประชามติที่ดีและเอาประชาชนเป็นที่ตั้งจะทำให้กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เดินไปได้อย่างราบรื่นและสำเร็จลุล่วง โดยเฉพาะในการจัดทำประชามติครั้งแรกที่คำถามประชามติจะต้องระบุอย่างชัดเจนว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำได้ทั้งฉบับ จากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด


โดยมีตัวแทนจากตัวแทนจากไอลอว์ ประกอบด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, บุศรินทร์ แปแนะ, รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ประกอบด้วย ณัชปกร นามเมือง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ภูภุช กนิษฐชาต ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) ประกอบด้วย อาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ, ปพิชญานันท์ จารุอริยานนท์, ธนพล พันธุ์งาม


สำหรับเนื้อหาที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอต่ออนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ สรุปได้ดังนี้


1. รูปแบบคำถามประชามติจะส่งผลโดยตรงต่อ “ผล” ประชามติ หากคำถามประชามติไม่ได้เป็นไปตามหลักการ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” หรือมีการตีกรอบไม่ให้แก้ไขในบางหมวดบางมาตรา ก็อาจจะทำให้ประชาชนผู้ออกเสียงประชามติเกิดข้อสงสัย หรือไม่เห็นด้วยกับคำถาม และบางส่วนอาจตัดสินใจลงคะแนนเสียง “ไม่เห็นชอบ” และอาจจะเป็นการปิดประตูการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น คำถามประชามติจึงควรยึดหลักการว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ให้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนได้ทั้งฉบับและประชาชนเป็นผู้เลือกคนที่จะมายกร่างโดยตรง


2. ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า สว. จะขวางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หากคำถามประชามติเขียนไว้ชัดเจนว่าให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และได้รับเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้น ก็เป็นเรื่องยากที่ สว. ที่แม้จะมาจากการแต่งตั้งจะปฏิเสธ การทำประชามติจึงเป็นโอกาสที่ดีในการยืนยันหลักการอำนาจของประชาชนกับผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง ในทางกลับกัน หากคำถามไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนตามหลักการข้างต้น ก็จะเปิดประตูให้กับ สว. สอดแทรกเงื่อนไขในชั้นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สร้างปัญหาสำหรับกระบวนการต่อไป


3. สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อยู่แค่เนื้อหาเท่านั้น แต่ที่มาที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมในความรู้สึกของประชาชน ดังนั้น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องคิดถึงเรื่องความชอบธรรมด้านที่มาเป็นอันดับแรก โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในประเด็นข้อกังวลว่าหาก สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นจะทำให้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือตัวแทนรายประเด็น เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ หรือแรงงาน ร่วมด้วยนั้น สามารถทดแทนได้โดยการกำหนดให้ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาทำงานสนับสนุน โดยใช้กลไกตั้ง “คณะยกร่าง” หรือ “อนุกรรมาธิการเฉพาะด้าน” ขึ้นมาทำงานในรายละเอียดทางเทคนิคได้


4. หลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ประชามติฯ ต้องไม่เป็นข้ออ้างถ่วงเวลา พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 13 กำหนดว่า ในการทำประชามติที่จะ “ผ่าน” ต้องมีผู้มาออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด ทำให้มีข้อเสนอว่าควรจะแก้ไขหลักเกณฑ์นี้เสียก่อน เพื่อไม่ให้ประชามติตกไปเพราะคนนอนหลับทับสิทธิ์อยู่ที่บ้าน


อย่างไรก็ดี แม้หลักเกณฑ์นี้จะเป็นปัญหาจริง แต่ก็ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการยืดเวลาของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกไป เนื่องจากกระแสสังคมในปัจจุบันประชาชนตื่นตัวเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เป็นทุนเดิม หากจัดทำประชามติโดยตั้งคำถามเปิดกว้างที่ประชาชนเห็นด้วย ก็ไม่เป็นเรื่องยากที่ประชาชนจำนวนมากจะออกมาใช้สิทธิลงคะแนน แต่หากคำถามประชามติมีปัญหา ก็อาจจะส่งผลให้สัดส่วนผู้มาใช้สิทธิน้อยลงจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามติ


โดยหลังจากการให้ความเห็น กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้นำความเห็นจากประชาชนเรื่องคำถามประชามติที่รวบรวมมาในเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ จากประชาชนที่ร่วมกันแสดงความเห็นมากกว่า 500 คน มอบให้กับคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้นำไปพิจารณาด้วย


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #รัฐธรรมนูญ