“พวงเพ็ชร” จับมือ “ชลน่าน” เดินหน้าดูแลสิทธิ์รักษาพยาบาลพระสงฆ์ ประสาน
มท. เตรียม Kick off ระบบฐานข้อมูลพระครอบคลุม ทัน 5 ธ.ค.นี้
วันนี้
(13 พ.ย.66) เวลา 09.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พร้อมนายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายกฤช
เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา
เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ
รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข
เพื่อหารือกรณีพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครสาธารณสุขประจำวัด หรือ พระ อสว.)
รวมถึงการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์อาพาธ
ทั้งนี้
จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รายงานว่า ปัจจุบันมีพระภิกษุสงฆ์
ทั้งหมดจำนวน 288,956 รูป อาพาธทั่วประเทศประมาณ 10,000 รูป
ซึ่งบางรูปไม่ได้รับการรักษาตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของ สปสช. บางรูปไม่มีผู้ดูแล พศ.
จึงจัดทำโครงการในการให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ ประกอบด้วย
โครงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสังฆาภิบาลเพื่อพระสงฆ์อาพาธ
(โครงการเฉลิมพระเกียรติถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 72 พรรษา) งบประมาณ 5 ล้านบาท
โครงการกุฎิสงฆ์อาพาธร่วมกับโรงพยาบาลสงฆ์
โดยจัดให้มีพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด นอกจากนี้ พศ.
ยังสร้างกลไกความร่วมมือในการจัดบริการดูแลพระสงฆ์
ทำสถานชีวาภิบาลสำหรับองค์กรพระพุทธศาสนา รวมถึงให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเพื่อตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล
ตามข้อกำหนดของ สปสช.
นางพวงเพ็ชร
กล่าวว่า การได้มาพูดคุยกับทางกระทรวงสาธารณสุขในวันนี้
นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคณะสงฆ์ และถือเป็นครั้งแรกที่ พศ.
และกระทรวงสาธารณสุขได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ
แม้เบื้องหลังจะมีการประสานงานอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าจากจำนวนพระสงฆ์กว่า
2 แสนรูปทั่วประเทศ มีจำนวนกว่า 100,000 รูป
ที่ยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิ
ทำให้การรับการรักษากับสถานพยาบาลเป็นไปอย่างล่าช้า
เนื่องจากการสืบค้นข้อมูลว่าเป็นพระจริงหรือไม่ ต้องใช้เวลา
จึงอยากขอความร่วมมือพระภิกษุสงฆ์ทำบัตรประชาชน
เพื่อใช้ในการตรวจสอบสิทธิ์กรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
“พศ. มีแผนการดำเนินงานเร่งด่วน ในการจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) พระภิกษุสงฆ์ โดยมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้น ทั้งสมณศักดิ์
วิทยฐานะทางการศึกษา และตำแหน่งปกครอง
เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและสืบค้นว่าพระภิกษุสงฆ์ดังกล่าวเป็นพระจริงหรือไม่
โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น
อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ช่วยดูแลด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ ซึ่งทาง พศ.
ตั้งเป้าจะเริ่มใช้งาน Big Data วันที่ 5 ธันวาคม 2566 เป็นวันแรก” นางพวงเพ็ชร กล่าว