“วิโรจน์” ร้องดีเอสไอ รับคดีพิเศษ “ผกก.เบิ้ม” เสียชีวิต
เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ หรือไม่
วันที่
21 พฤศจิกายน 2566 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ
พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ
พ.ต.อ.วชิรา ยาวไธสงค์ หรือ ผู้กำกับเบิ้ม ตาม
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
วิโรจน์กล่าวว่า
จากกรณี พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง
ถูกพบว่าเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่บ้านพักย่านคลองสอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
มีข้อสงสัยที่ปรากฏตามหน้าสื่อ
ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เนื่องจากก่อนเสียชีวิต พ.ต.อ.วชิรา
ถูกพาไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานี ถูกยึดมือถือ
และมีข้อมูลจากสำนักข่าวหลายสำนักแจ้งว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกตำรวจหลายนายเฝ้าหน้าห้องพัก
สาเหตุที่ทำให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากกล้องวงจรปิดแสดงภาพ พ.ต.อ.วชิรา
ใช้ทางหนีไฟเพื่อออกจากโรงแรมและขึ้นรถแท็กซี่ออกไป หากผู้กำกับคนดังกล่าวไม่ได้ถูกควบคุมตัว
เหตุใดจึงไม่ออกจากโรงแรมตามช่องทางปกติ
เมื่อพิจารณาตาม
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 จึงมีเหตุอันควรต้องสงสัย
2 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง การที่ตำรวจซึ่งเป็น
“เจ้าหน้าที่รัฐ” ตาม มาตรา 3 วรรคสอง ของ
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้พาตัว พ.ต.อ.วชิรา
ไปพักที่ห้องพักโรงแรมย่านเมืองทองธานี เมื่อคืนวันที่ 10 ก.ย.
2566 โดยมีการเก็บเอาโทรศัพท์ของ พ.ต.อ.วชิรา เอาไว้
และไม่ได้แจ้งให้ญาติของ พ.ต.อ.วชิรา ทราบ พฤติการณ์เหล่านี้
เข้าข่ายเป็นการถูกควบคุมตัวโดยปกปิดชะตากรรม
ซึ่งเป็นความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมาตรา 7 ของ
พ.ร.บ. ดังกล่าว หรือไม่
ประเด็นที่สอง
จากการที่ พ.ต.อ.วชิรา ยิงตัวเองเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ตามผลการชันสูตรพลิกศพและผลการพิสูจน์หลักฐาน จึงมีเหตุต้องสงสัยว่า ก่อนหน้าที่
พ.ต.อ.วชิรา จะยิงตนเองเสียชีวิต พ.ต.อ.วชิรา
ได้ถูกกระทำด้วยประการใดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าข่ายการกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด
หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือการกระทำการที่โหดร้าย
ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 5 และ 6
ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวหรือไม่
วิโรจน์
กล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
มีความเกี่ยวโยงกับส่วยรถบรรทุก ซึ่งมูลค่าของการคอร์รัปชันสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
โยงใยไปยังข้าราชการระดับสูง และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย
จึงต้องยอมรับว่าเป็นคดีที่มีความซับซ้อน
ทั้งหมดนี้เข้าข่ายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษ
ซึ่งตนหวังว่าดีเอสไอจะเร่งสอบสวนเพื่อความเป็นธรรม ให้คำตอบกับสังคมโดยเร็วที่สุด