วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

“เบญจา” ชวนประชาชนแสดงความเห็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของก้าวไกล เชื่อเป็นประตูบานแรกยุติความขัดแย้ง ชี้กรณีทนายอานนท์ ทั้งที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิประกันตัว แต่กลายเป็นสิทธิที่ถูกยกเว้นในคดีการเมือง-คดี 112

 


เบญจา” ชวนประชาชนแสดงความเห็นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของก้าวไกล เชื่อเป็นประตูบานแรกยุติความขัดแย้ง ชี้กรณีทนายอานนท์ ทั้งที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิประกันตัว แต่กลายเป็นสิทธิที่ถูกยกเว้นในคดีการเมือง-คดี 112

 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญาในคดีอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา เขียนจดหมายถึงลูกขณะอยู่ในเรือนจำ ใจความสำคัญระบุว่าหลังปีใหม่จะถูกย้ายเรือนจำจากกรุงเทพฯ ไปขังต่อที่เรือนจำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

 

เบญจากล่าวว่า ศาลฎีกามีคำสั่งยืนยันไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา แม้ทนายความจะยื่นถึงเหตุจำเป็นไปแล้ว และในความเป็นจริง สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ทว่าสิทธิดังกล่าวกลับกลายเป็นสิทธิที่ถูกยกเว้นโดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง คดีมาตรา 112 และเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดี อานนท์ นำภา จึงถอนประกันในคดีที่เหลือกว่า 20 คดีแล้ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการต่อสู้

 

โดยอานนท์ได้เขียนจดหมายถึงลูกทั้งสอง มีใจความว่า แม้ขณะนี้อานนท์จะถูกลงโทษแต่ไม่ใช่การรับผิด และในคดีความทั้งหมด 20 คดี อาจทำให้อานนท์ต้องรับโทษมากกว่า 80 ปี แต่ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่เป็นการรับผิด ไม่มีการสารภาพหรือยอมรับว่าการต่อสู้ของเขาและเพื่อน ๆ เป็นความผิดอย่างเด็ดขาด และจนกว่าเขาจะได้รับอิสรภาพจากโทษซึ่งไม่มีความผิด ลูกทั้ง 2 ของเขา คงเติบโตและบ้านเมืองนี้คงเปลี่ยนแปลงไปไม่อาจเหมือนเดิมอีกแล้ว

 

เบญจา ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่อานนท์และนักโทษคดีการเมืองทุกคนกำลังเผชิญ เป็นโจทย์ใหญ่ที่สะท้อนปัญหาการใช้กฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ซ้ำร้ายกระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้คุ้มครองหรือเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพ เห็นได้จากปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายกับนักโทษคดีการเมือง มีแนวโน้มละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อย ๆ และออกห่างจากหลักการที่เป็นสากล ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องตระหนักร่วมกันถึงปัญหา

 

ท่ามกลางวิกฤติการเมืองไทยขณะนี้ หนทางที่จะสร้างความมั่นคงให้สถาบันกษัตริย์พร้อมไปกับการสร้างหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทย คือต้องแก้ไขทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ยืนยันในหลักการว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่มีใครต้องติดคุกจากการแสดงออกหรือแสดงความเห็นทางการเมืองโดยสันติ” เบญจากล่าว

 

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลยังกล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่พรรคจะเสนอต่อสภาฯ ในอนาคต โดยยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจของผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ในการหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วยกระบวนการทางประชาธิปไตยและกลไกรัฐสภา

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอเข้าสู่สภาฯ แล้ว คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ตนจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บไซต์ของสภาฯ และติดตามให้ร่างผ่านการพิจารณาสภาฯ แม้ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการทำงานทางความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมือง ไปจนถึงการพูดคุยเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แต่นี่คือประตูบานแรกที่จำเป็นต้องเปิดออกให้ได้ หากสังคมเราต้องการยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมายาวนาน

 

การผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรมประชาชนจากคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จะเป็นการพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่เคยขัดแย้งกัน มีพื้นที่ปลอดภัย ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคม และยังเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุดในการคืนความยุติธรรมให้ประชาชน ไม่ว่าใครจะมีความคิด ความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างไร การสร้างระบบการเมืองที่ดี มีนิติรัฐ รวมถึงการนิรโทษกรรมให้ประชาชน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตด้วย” เบญจากล่าว

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ก้าวไกล #คืนสิทธิประกันตัว