วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

"ก้าวไกล-คณะอนุกรรมการฯ" เห็นสอดคล้องจำนวนครั้ง-ความสำคัญตั้งคำถามหลักแรก ประชามติ "ชัยธวัช" ย้ำ 3 ข้อเสนอทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชอบธรรมทางประชาธิปไตย-เกิดขึ้นได้จริง ภายใต้ความเห็นที่แตกต่าง

 


"ก้าวไกล-คณะอนุกรรมการฯ" เห็นสอดคล้องจำนวนครั้ง-ความสำคัญตั้งคำถามหลักแรก ประชามติ "ชัยธวัช" ย้ำ 3 ข้อเสนอทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ชอบธรรมทางประชาธิปไตย-เกิดขึ้นได้จริง ภายใต้ความเห็นที่แตกต่าง


วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) เวลา 12.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล ภายหลังการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ซึ่งมีนายนิกร จำนง เป็นประธานฯ และพรรคก้าวไกล โดยมี นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ร่วมหารือ รับฟังความเห็น เกี่ยวกับการจัดทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


โดยนายชัยธวัช กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ของรัฐบาลวันนี้ เป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนหลายเรื่อง ต่างฝ่ายต่างเข้าใจเจตนาและเนื้อหาของกันและกัน เชื่อว่าข้อเสนอของก้าวไกลจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการชุดใหญ่หลังจากนี้ 


พรรคก้าวไกลยืนยันจุดยืนเดิมว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยเพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ความเห็นที่แตกต่าง พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอหลัก 3 ข้อ ที่ได้ยื่นต่ออนุกรรมการของรัฐบาลในวันนี้


1. เรื่องจำนวนประชามติ พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลังเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนครั้งแรก พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการจัดทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากเหตุผล 3 ข้อ


(1) เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางการเมือง

(2) เพื่อแก้ปัญหาการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ยังคงแตกต่างกัน ว่าหากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะถามประชาชนตั้งแต่แรกหรือไม่

(3) เพื่อใช้ประชามติครั้งแรกเป็นกลไกสำคัญในการหาข้อยุติระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น ประสบความสำเร็จ


2. เรื่องคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก


แม้จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรทำใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลและความเห็นแตกต่างกัน ทั้งจากฝั่งรัฐบาล สว. กระทั่งประชาชน ในบางประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) หรือบางความเห็นที่ว่าแม้เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. แต่ สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ 


ดังนั้น ข้อเสนอทางเลือกซึ่งจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถกลายเป็นเวทีที่สำคัญในการหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทย แก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จึงควรออกแบบคำถามประชามติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยไม่ทำให้ใครรู้สึกถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น และสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เกิดการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แม้แต่ละฝ่ายจะไม่สามารถผลักดันเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตัวเองต้องการได้ทั้งหมด


พรรคก้าวไกลจึงเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่าควรออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลัก 1 คำถาม และคำถามพ่วง 2 คำถาม สำหรับคำถามหลัก 1 คำถาม ควรเป็นคำถามที่กว้างที่สุดและสามารถสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด คือ


คำถามหลัก “เห็นชอบหรือไม่ว่า ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.” เชื่อว่าจะเป็นคำถามที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และไม่มีเงื่อนไขปลีกย่อยที่จะทำให้เกิดความเห็นแตกต่างกันหรือการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น


เมื่อมีคำถามหลัก ก็ให้นำคำถามหรือประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันมาเป็นคำถามพ่วงอีก 2 ข้อ


ได้แก่ คำถามพ่วง ข้อที่ 1 “เห็นชอบหรือไม่ว่า ควรล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ให้เหมือนกับเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่ สสร. ไม่มีอำนาจพิจารณาแก้ไข”


และคำถามพ่วง ข้อที่ 2 “เห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด”


3. ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ 2564


ในเมื่อบางฝ่ายโดยเฉพาะฝั่งรัฐบาล มีความกังวลว่าการใช้เสียงส่วนใหญ่สองชั้น (double majority) ใน พ.ร.บ.ประชามติ อาจเป็นอุปสรรคและสร้างความไม่เป็นธรรมในการจัดทำประชามติ ไม่ใช่เฉพาะการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่รวมถึงทุกเรื่องที่มีการทำประชามติในอนาคต พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าหากมีความกังวล ก็ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ อย่างรวดเร็วเร่งด่วนเพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงวิธีการเขียนเงื่อนไขเรื่องนี้ รวมถึงเสนอว่าคณะอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่ น่าจะหาข้อยุติในประเด็นนี้ได้ก่อน เพราะถ้าได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็สามารถร่วมมือกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติ ได้ทันทีที่สภาฯ เปิดในเดือนหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ


ขณะที่นายนิกร กล่าวว่า ผลการหารือเป็นไปตามที่คาดหวัง ได้รับฟัง และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะยังมีประเด็นที่ยังเคลือบแคลงว่า ยังมีความเห็นต่าง แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นตรงกันว่า ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการฯ ของรัฐบาล ก็ได้คลี่คลายหลักการกันเป็นที่เข้าใจ


สำหรับข้อเสนอ 3 ข้อ ของพรรคก้าวไกลนั้น ในเรื่องจำนวนครั้งของการทำประชามติ มีความเห็นสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการฯ โดยประชามติ 2 ครั้งท้าย มีสภาพบังคับตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่การทำครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มนับหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


นายนิกร กล่าวต่อว่า คำถามประชามติเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีความรวบรัด ชัดเจน ไม่ซับซ้อน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย อีกทั้ง รัฐบาลก็มีภารกิจกับคำแถลงของตัวเอง เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะหมวด 2 เป็นทั้งนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และเป็นมติ ครม.


สำหรับข้อเสนอเรื่องการคัดเลือก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100% นั้น พรรคก้าวไกลยังมองต่างจากฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่าควรมีสัดส่วนอาชีพอยู่บ้าง เช่น นักวิชาการ โดยอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคงต้องพูดคุยกันต่อไปในรายละเอียด


ส่วนประเด็นหลักเกณฑ์การใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 ชั้นนั้น นายนิกร กล่าวว่า ยังมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ทาง คือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ยังคงต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ คือ 26 ล้านเสียง ซึ่งทางพรรคก้าวไกลมองว่า ยังมากเกินไป และเสนอว่าลดให้เหลือเป็นผู้ใช้สิทธิต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง หรือจำนวนประมาณร้อยละ 40


นายนิกร กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะอนุกรรมการฯ และพรรคก้าวไกลเห็นตรงกันว่า จำนวนผู้เห็นชอบควรต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ เนื่องจากเกรงว่าจำนวนผู้ไม่ออกมาใช้สิทธิ จะมารวมกับจำนวนผู้ไม่เห็นชอบ จนเป็นผลให้เสียงข้างน้อยพลิกกลับมาชนะได้ โดยถ้าทำเรื่องนี้สำเร็จ จะได้กฎหมายดี ๆ มา 2 ฉบับ จึงฝากนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้หารือกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน และตนเองจะหารือกับฝ่ายรัฐบาล


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ประชามติ #รัฐธรรมนูญ