นายกฯ
แถลงชัด #ดิจิทัลวอลเล็ต จ่ายให้ปชช. 16 ปีขึ้นไป
รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นต่อเดือน และมีเงินฝากไม่เกิน 5 แสน
วันที่
11 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงความคืบหน้าโครงการเงินดิจิทัล
โดยระบุว่า จะมอบสิทธิการใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้ที่อายุ 16
ปีขึ้นไป รายได้ไม่ถึง 70,000 บาท ต่อเดือน
และมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท โดยให้สิทธิครั้งแรก 6 เดือน หลังจากโครงการเริ่ม ขยายพื้นที่ครอบคลุม ระดับอำเภอ
นายกฯ
กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา
–
ใส่เงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าดิจิทัล
–
ต้องใช้ภายในอำเภอ ตามบัตรประชาชน
–
เงินต้องใช้ครั้งแรกใน 6 เดือน
–
โครงการสิ้นสุด เมษายน 70
–
ประชาชนไม่สามารถโอนให้ผู้อื่น หรือแลกเป็นเงินได้
–
ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ
–
ใช้สำหรับซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น
นายกฯ
กล่าวต่อไปว่า เงินดิจิทัลไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
ไม่สามารถใช้ซื้อของที่เป็นอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ ไม่สามารถซื้อบัตรกำนัลบัตรเงินสด เพชร พลอย
ทองคำ อัญมณี ไม่สามารถชำระหนี้ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเทอม ค่าเรียนได้ ร้านค้าไม่ต้องจด VAT เพื่อรับเงิน
และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษี
นายเศรษฐายังได้ชี้แจงรายละเอียดที่มาของงบประมาณโครงการว่า
คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพรบ. เป็นวงเงิน 500,000
ล้านบาท ซึ่งมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา
และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พรบ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน
ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้
วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ
ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital
Wallet ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
“และรัฐบาลจะทำการกู้เงินก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด
ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000
ล้าน ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ ผสมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวไปทั้งหมด
ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน
รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา
4 ปี” นายเศรษฐา กล่าว
นายเศรษฐายังได้เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาวเพิ่มเติมจากกระเป๋าเงินดิจิทัล
อีก 2 นโยบาย คือ นโยบาย e-refund เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายร้านค้าออนไลน์
และกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อนำมาต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศ เช่น
ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น
“นโยบาย Digital Wallet ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้
แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย
เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาทครับ” นายเศรษฐา กล่าวในที่สุด
ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เศรษฐา #ดิจิทัลวอลเล็ต