‘เวหา’ ตัดกำไล EM หน้าศาล ปลดพันธนาการประท้วง
‘ปล่อยผตห.การเมือง’ ทวงสิทธิพิสูจน์ความจริง
วันที่
25 มกราคม มีการจัดกิจกรรม Car Mob for Freedom นำโดย
กลุ่มทะลุวัง โมกหลวงริมน้ำ คนรุ่นใหม่นนทบุรี และ 24 มิถุนาประชาธิปไตย
โดยเวลา 12.30 น. เริ่มตั้งขบวนหน้าร้านแมคโดนัลด์
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลอาญา
ถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
ถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ปล่อยนักโทษการเมือง 3.ยกเลิก 112 ตามที่ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน กลุ่มทะลุวัง และ น.ส.อรวรรณ
ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาทางการเมือง คดี ม.112 ซึ่งกำลังอดอาหารและน้ำประท้วงเข้าสู่วันที่
8 ได้ประกาศเจตนารมณ์ประท้วงจนกว่า 3 ข้อจะบรรลุ
โดยการชุมนุมยุติในเวลา 17.02 น. ตามรายงานข่าวไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ
เวลา 17.19 น. นายเวหา แสนชนชนะศึก ผู้ต้องหา ม.112 ได้ตัดกำไลอีเอ็มหน้าศาลอาญา
ขอให้ปล่อยผู้ต้องขังในการพิจารณาคดีทั้งหมด “เพื่อพวกเราจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงใจและเจตนาอันบริสุทธิ์ของเรา”
พร้อมยืนยันว่า วันพรุ่งนี้ตนจะต้องเดินทางมาที่ศาลอยู่แล้ว หากตำรวจจะจับ
สามารถเข้ามาจับได้ทันที
“พรุ่งนี้ผมจะมาศาลอยู่แล้ว
ถ้าตำรวจมาจับมาจับเลย” นายเวหากล่าว
ทั้งนี้
นายเวหา ได้เผยแพร่แถลงการณ์หลังจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ด้วยการตัดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หน้าศาลอาญาว่า
ตลอดระยะเวลา
นับตั้งแต่ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งสิ้น
3 คดี ถูกฝากขังในเรือนจำระหว่างสอบสวน 3 ครั้ง รวมระยะเวลา 334 วัน
ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 17
มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยใช้เงินสดจำนวนสูงถึง 360,000 บาทเป็นหลักประกัน
พร้อมกับได้รับเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) กำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา
20.00 – 05.00 น. ของวันใหม่ และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากมายหลายข้อนั้น
ในปัจจุบัน
สถานการณ์ต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของบรรดานักกิจกรรมที่ต้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
การแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกต่างๆ นั้น ได้มีความผิดปกติเกิดขึ้นมากมาย
ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.
สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องคดีนั้นไม่มีความเป็นธรรม
ไม่สามารถให้เหตุผลที่มีมาตรฐานในการให้สิทธิการประกันตัวของแต่ละคดีได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
2.
การแทรกแซงการพิจารณาคดี ของผู้บริหารในหลายๆ คดี ทำให้ถูกมองว่า
กระบวนการยุติธรรม มิได้เป็นอิสระ
3.
การจำกัดสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการเข้าถึงพยานหลักฐานที่จะนำมาต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา
4.
การแสดงออกของดุลยพินิจที่ออกมาผ่านคำสั่งต่างๆ ทำให้เห็นว่า มองผู้ต้องหา
หรือจำเลย ว่ามีความผิดแล้ว ซึ่งผิดไปจากหลักการในกระบวนการพิจารณาคดีที่ว่า
ผู้ต้องหาหรือจำเลยถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะถูกพิพากษาว่าได้กระทำความผิดโดยการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานั้น
ส่งผลให้ผู้ต้องคดีทางการเมืองทุกคนต่างมีผลกระทบอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็นการถูกจองจำในเรือนจำเสมือนหนึ่งนักโทษเด็ดขาด
แม้ว่าบางคนจะได้รับการประกันตัว แต่กลับมีการตั้งเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามปกติ
เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ นั้น มีผลกระทบกับการเดินทาง การประกอบอาชีพ
หรือแม้กระทั่งการศึกษา ทั้งหมดทั้งมวลนี้
นำมาซึ่งข้อเรียกร้องและการแสดงออกของนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง
ที่ยอมเอาชีวิตและอิสรภาพของตนเองวางเดิมพันกับกระบวนการยุติธรรมไทย จน ณ บัดนี้
นักกิจกรรมดังกล่าวได้เกิดอันตรายต่อชีวิต
ข้าพเจ้าจึงมายืนอยู่หน้าศาลอาญาแห่งนี้
เพื่อร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องทุกคน และขอแสดงออกเชิงสัญลักณ์ ด้วยการตัดกำไล EM เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า
ในพันธนาการต่างๆ ที่กระบวนการยุติธรรมไทยได้ใส่มาเพื่อสร้างความหวาดหวั่นนั้น
มิได้เป็นผลแต่อย่างใด หากแต่ในท่ามกลางความน่ากลัวที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น
ยังมีคนที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจอันอยุติธรรม
และกล้าหาญเพียงพอที่จะปลดปล่อยตนเองและเพื่อนพี่น้องออกมามีอิสรภาพ
ข้าพเจ้าขอเรียกร้องเพียงข้อเดียวว่า ก่อนที่วิกฤตศรัทธาจะหมดสิ้นลง พร้อมกับชีวิตและลมหายใจของนักกิจกรรมที่เดิมพันอยู่นี้ ได้โปรดปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีทั้งหมด เพื่อที่พวกเราจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงและเจตนาอันแท้จริงของเรา
ที่มา
: มติชนออนไลน์
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เวหา #ตัดกำไลEM