เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 66 ออกแถลงการณ์ร่วม จี้ กกต.โปร่งใส เป็นธรรม ชวนประชาชนจับตาการเลือกตั้ง ส่งข้อมูลความผิดปกติก่อนและหลังเลือกตั้งที่ เว็ปไซต์ Vote62.com
วันนี้ (11 ม.ค. 65) ที่ห้องเอนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดกิจกรรม “เข้าคูหา จับตา การเลือกตั้ง 2566 Protect Our Vote” เพื่อปกป้องให้ทุกคะแนนเสียงถูกนับอย่างถูกต้อง โดยย้ำว่า ประชาชนอาจต้องมีภารกิจมากกว่าการเข้าคูหาไปออกเสียง
นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการ 2022 Election Flashback โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่รวบรวมของสะสมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ฉายภาพการเลือกตั้งเมื่อปี2562
สำหรับกิจกรรมบนเวที 13.00 น. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ เป็นพิธีกรกล่าวเปิดเวที
จากนั้นเชิญ "ชูเวช สามัญชน" ขึ้นแสดงดนตรี โดยเริ่มด้วยเพลงบทเพลงของสามัญชน
จากนั้น เวลา 13.50 น. ตัวแทนเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ปี 2566 ที่ร่วมลงชื่อ 101 องค์กร เช่น Act LABArt Lab : ห้องทดลองศิลป์, Dot easterner, iLAW, KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม, Korat movement, WeWatch, We Volunteer, พิพิธภัณฑ์สามัญชน, พิราบขาวเพื่อมวลชน และทะลุฟ้า เป็นต้น ร่วมอ่านแถลงการณ์เชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่ให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
สำหรับแถลงการณ์ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” มีรายละเอียดดังนี้
การเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองของประชาชนทุกคน นักการเมืองหรือชนชั้นนำไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการครอบงำหรือบงการการเลือกตั้งให้บิดเบี้ยวไปจากหลักสากลว่าด้วยการเลือกตั้งที่เป็นธรรมอิสระ และโปร่งใส น่าเสียดายที่การเมืองไทยถูกแทรกแชงอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่การเมืองไทยกลับยิ่งถอยห่างออกจากประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินไปหากประชาชนจะร่วมกันทวงคืนการเลือกตั้งให้กลับเข้าสู่ร่องสู่รอยโดยเร็ว
การเกิดขึ้นของรัฐประหารปี 2557 นับเป็นจุดด่างพร้อยครั้งใหญ่ของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยไทย การรัฐประหารครั้งนั้นพรากสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเวลากว่า 5 ปี ในบริบทที่ประชาชนตื่นตัวและเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นเข้ากับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว อีกทั้ง การเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารและเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ส่งผลให้ผลการเลือกตั้งเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชนต่อความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงคะแนน เช่น รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีอำนาจเลือก นายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งก็มีที่มาจากคณะรัฐประหาร และถูกวิจารณ์อย่างหนักหลังการเลือกตั้งถึงมาตรฐานการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเรื่องความผิดปกติของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ความโปร่งใสของผลการเลือกตั้ง ความถูกต้องของการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมือง รวมถึงความเป็นกลางในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนและคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง
จากการประเมินของ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” คาดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ความเป็นอิสระ และความโปร่งใสจะยังคงเกิดขึ้นอีก การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ จะยังคงสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมืองอีกเช่นเคย อีกทั้ง การมี กกต. ชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ อาจมีความผิดปกติเช่นเดิมหรือความผิดปกติใหม่เกิดขึ้นอีก
ถึงเวลาแล้ว ที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งโดยประชาชนต้องขยายตัวอย่างกว้างขวาง เพื่อรับรองว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามหลักสากลและเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นอิสระของประชาชน “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” เกิดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นการประสานความร่วมมือกันของเครือข่ายภาคประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มที่มีหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางโดยเฉพาะ และกลุ่มที่มีความตื่นตัวทางการเมืองต่างๆ (ดังรายชื่อท้ายแถลงการณ์นี้) โดยมีวิสัยทัศน์แห่งความสำเร็จ คือ หนึ่ง ป้องกันการโกงการเลือกตั้งและทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักสากล สอง เพิ่มความไว้วางใจในกระบวนการการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการเลือกผู้แทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย พร้อมทั้งปฏิเสธเครื่องมืออื่นที่ไม่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม ส่งเสริมการพัฒนาการเลือกตั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงหลังการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
ทั้งนี้ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” มีข้อเรียกร้องต่อประชาชนและฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ขอให้ กกต. ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งต่อสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยผ่านระบบออนไลน์สนับสนุน ให้ความสำคัญ และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมมือกับประชาชนทุกฝ่ายที่ต้องการมี ส่วนร่วมในการรณรงค์เลือกตั้ง ประชาธิปไตยและเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
2. ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงก่อนวันเลือกตั้งนับต่อจากนี้ไป เช่น คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในความดูแลของรัฐเพื่อรณรงค์การเลือกตั้ง คุ้มครองให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่โดยไม่ถูกคุกคาม ให้พรรคการเมืองใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่อยู่ในความดูแลของรัฐอย่างเท่าเทียม ในการหาเสียงเลือกตั้ง และควบคุมมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
3. ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนในทุกเขตเลือกตั้งเข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงโดยลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครฯ หรือส่งข้อมูลความผิดปกติหรือสถานการณ์การเลือกตั้งในเขตของตนเองทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังวันเลือกตั้ง แก่ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” ผ่านทางเว็บไซต์ Vote62.com
การเลือกตั้งต้องเป็นของประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมืองที่ไร้ความหมายต่อประชาชนอีกต่อไป !
“เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566”
วันที่ 11 มกราคม 2566
ทั้งนี้ภายในงาน ได้มีการทดลองลงคะแนนเสียงแบบ "จำลอง" ตามระบบการเลือกตั้งใหม่ "บัตร 2 ใบ" และช่วงท้ายของงานได้มีการเปิดหีบนับคะแนนกันสด ๆ โดยกระบวนการเหมือนจริง เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า จะมีโอกาสเป็นอย่างไร
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #เลือกตั้ง2566