“หมอสายพิณ”
โพสต์กรณี “ตะวัน-แบม” ตื่นได้แล้วค่ะ เราไม่รู้สึกอะไรกันจริงหรือ
กับการที่เด็กเยาวชนกำลังนับถอยหลังกับเวลาชีวิตที่ใกล้จะหมดลง
เพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิต เรียกร้องระบบสังคมของพวกเราทุกคนให้ดีกว่าเดิม
เมื่อวันที่
29 มกราคม 2565 ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็น
กรณี #ตะวันแบม
อย่างน่าสนใจ ซึ่ง “ยูดีดีนิวส์” เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
ในฐานะประชาชนผู้ใหญ่
คิดอย่างไรกับ กรณีตะวันและแบม
เราไม่ได้ติดตามข่าวอย่างละเอียด
รับทราบสั้น ๆ เพียง “เด็ก ๆ นักกิจกรรมอดอาหารและน้ำประท้วง” ... แล้วเราเพิกเฉย
ฟังผ่าน ๆ เพราะเหมือนมีกรณีแบบนี้เกิดมาแล้ว และเด็ก ๆ ก็ไม่ตาย...อย่างนั้นหรือ.
เด็กเหล่านี้
แม้จะบรรลุนิติภาวะมาแล้ว 1-2
ปี แต่เขายังเป็นเยาวชน เขาอาจจะมีความรู้
ความคิดมากและกว้างกว่าเรา เพราะความสมัยใหม่ของโลก
แต่เขาก็ผ่านประสบการณ์ชีวิตบนโลกใบนี้มาน้อยกว่าเรา
ผ่านโอกาสในการต่อสู้ต่อปัญหาสังคมใหญ่ ๆ มาน้อยกว่าเรา
คำว่าเด็กนักกิจกรรม
มันเลยทำให้เราพลาดที่จะใส่ใจดูแลพวกเขา เพราะคิดเพียงเป็นการจัดอีเว้นท์เรียกความสนใจจากสังคมหรือไม่
แต่นี่เด็ก
ๆ เยาวชนเหล่านี้อดจริง ไม่ใช่การจัดกิจกรรมเพียง 1-2 วัน
และมาตรการประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นอดทั้งข้าวและน้ำ และยา
ที่เป็นการช่วยเหลือทางการแพทย์
ในเมื่อเขาตัดสินใจเอง
เขารู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขายังยืนยันจะทำ
งั้นเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา.. ด้วยการปล่อยให้เด็กเยาวชน
คนที่ด้อยโอกาสการใช้ชีวิตมาได้เท่าเรา
กระทำการอันเป็นอันตรายต่อชีวิตตนเองอย่างนั้นเหรอ ...การเคารพ Autonomy การเคารพในการตัดสินใจของเพื่อนมนุษย์ มันต้องเริ่มต้นจาก “การฟังกัน”
ให้เข้าใจก่อนหรือไม่ ฟังว่าเพื่อนมนุษย์คนนั้นเป็นอะไรไป
เกิดอะไรขึ้นกับเขามาบ้าง เขาจึงตัดสินใจแบบนี้ เราควรหรือที่จะอนุญาตให้เขาไปตาย
เพียงเพราะเขาตัดสินใจจะไปตาย เพราะถ้าเช่นนั้น
เราก็จะไม่ได้ช่วยคนไข้จิตเวชหรือคนไข้โรคซึมเศร้าคนอื่นๆด้วยเหตุผลเดียวกัน
เพียงเพราะเขาตัดสินใจเช่นนั้น
น้อง
ๆ เขาตัดสินใจในขณะที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เขารู้ผลของการกระทำว่าจะทำให้เขาตายได้
รู้แล้วใช่มั้ย งั้นหมอก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเฝ้าดูความตายที่จะมาอยู่รอมร่อ ...
อย่างนั้นหรือ.
ทางคณะแพทย์ได้มีการรับมืออย่างไรกับกรณีคนไข้ลักษณะนี้
เด็กเยาวชน เด็ก ๆนักศึกษาอดอาหารและน้ำประท้วงเกินกว่า 10 วัน
ไม่ได้มีการแถลงข่าวให้สังคมรับทราบว่าเด็กๆได้รับการดูแลอย่างไร
นอกจากฟังข่าวที่ทนายออกมาบอก ที่ฟังมาจากพยาบาลและเด็กอีกที ทำไมจึงไม่มีการแถลงจากคณะแพทย์ว่าได้มีกระบวนการดูแลจากทีมแพทย์หลากหลายสาขาอย่างไรบ้าง
เพราะสมควรได้รับการดูแลแบบเข้มข้น โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าไปรับฟังความกดดัน
สิ่งที่เกิดขึ้น และเยียวยาน้อง ๆ เด็กเยาวชนที่ตัดสินใจแบบนี้
การอดข้าวอดน้ำอดยาประท้วง
คนที่เขาตัดสินใจแบบนี้ เขาไม่ได้ต้องการตาย เขาประท้วง
เขาติดอยู่ในกับดักทางสังคมบางอย่างที่ไม่มีทางออก
เขาต้องการความช่วยเหลือจากสังคม เขาจึงประท้วง และเพราะเขาไม่มีเครื่องมืออื่น
เขาจึงใช้ร่างกายเขาเป็นตัวประกัน เป็นอาวุธ เป็นระเบิดพลีชีพ
คนที่ถูกกระทำจนกระทั่งจนตรอกโดยอำนาจที่ใหญ่โตมโหฬาร
เขาไม่รู้จะสู้กับปัญหายักษ์ตัวใหญ่ขนาดนั้นด้วยอะไร เขาจึงใช้อาวุธที่มี... คือ
ชีวิต.
และนั่นคือ
ชีวิตของเด็กเยาวชน .. ตกลงเรากำลังดูลูกหลานเราประท้วงต่อปัญหาของสังคม
ปัญหาของเรา เขาสู้เพื่อพวกเรา เขาไม่ได้สู้เพื่อตัวเขาเอง
เขาประท้วงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปอย่างน่าตกใจ
การจับเด็กเยาวชนขังคุกทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินความผิด ยังไม่ได้เป็นนักโทษ
และการกระทำที่ระบบสังคมไล่ล่าและทำกับเด็กเยาวชนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมา
อย่างชนิดที่คนรุ่นเราไม่กล้าทำ ...
ตั้งต้นจากการทำโพลกระดาษถามความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ.. แค่นั้นเหรอ..
การที่น้อง
ๆ ได้ประกันแล้วถอนประกันตัวเอง กลับเข้าคุกใหม่
พร้อมตัดสินใจอดอาหารและน้ำในเรือนจำ ..นี่มันเป็นเหตุการณ์ประหลาด
เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา เสมือนเขาผูกระเบิดพลีชีพเดินเข้าเรือนจำ
และเราก็อนุญาตให้เขาทำแบบนั้น และเฝ้ารอเวลาให้ระเบิดพลีชีพทำงาน ผู้ใหญ่ (กว่า) ทั้งในและนอกคุก
ไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอกับกรณีนี้ มีระเบิดเข้ามาในบ้านเรา เรารู้
และเรารอให้มันทำงาน เฉย ๆ ...
เมื่อน้องอดอาหารและน้ำจนเจ็บป่วย
หามส่งโรงพยาบาล น้องขอไปโรงพยาบาลที่เขามั่นใจในความปลอดภัยมากกว่า
ซึ่งก็เหมือนคนไข้รายอื่น ๆ ที่เลือกจะไปรักษากับโรงพยาบาลที่ตนมั่นใจมากกว่า
นั่นแปลว่าเขายังไม่ต้องการตาย เขายังต้องการความช่วยเหลือ เขาจึงขอไปโรงพยาบาล
และนั่นแสดงว่าเขาคือคนไข้
ปกติเราทำอะไรกับคนไข้ที่เป็นนักโทษที่มานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
เราจะดูแลเขาเหมือน “คนไข้” ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหรือราชฑัณฑ์ใด ๆ รออยู่ภายนอก
อนุญาตให้เฝ้าอยู่ห่าง ๆ ได้ แต่ไม่ให้มายุ่มย่ามหรือมาควบคุมกำกับ
หรืออยู่เหนือการตัดสินใจใด ๆ ของหมอพยาบาล ไม่แม้กระทั่งตีตรวนโซ่ล่าม
ญาติเยี่ยมได้ เมื่อนักโทษเข้ามาแอดมิทในโรงพยาบาล
จึงมักจะได้รับสิทธิให้กลับมาเป็น “คน” อีกครั้งในฐานะ “คนไข้” ความเป็น “นักโทษ” จะเริ่มอีกครั้งเมื่อการรักษาเสร็จสิ้นจนอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้
...และนั่นคือระดับ “นักโทษ” ที่ได้รับการตัดสินว่าผิดแล้ว
ไม่รู้ว่ากรณีตะวันกับแบมได้รับสิทธิของการเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน
สิทธิที่หมอเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่ากรมราชทัณฑ์ สิทธิที่เป็นเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการเยี่ยมไข้ตามปกติ
สิทธิของคนไข้ที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ด้วยกระบวนการทางการแพทย์
การให้คำปรึกษาเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ.....สังคมไม่ได้ยินแถลงข่าวใด ๆ ของคณะแพทย์
ทั้งที่เป็นกรณีคนไข้ที่เป็นที่สนใจของสังคม ซึ่งดูแตกต่างจากเวลามีกรณีดารานักร้องหรือคนใหญ่คนโตอื่น
ๆ ที่มาแอดมิท
การไม่ทราบข้อมูลที่ตรงไปตรงมา
เป็นจริง และแสดงถึงการใส่ใจดูแลอย่างเป็นมนุษย์
เข้าใจจิตใจของสังคมที่รอรับฟังข่าวที่กระเส็นกระสาย
รู้สึกกระวนกระวายไปกับข่าวสารที่ไม่มากเพียงพอ รู้แค่ว่านับเวลาถอยหลังของการมีลมหายใจสุดท้ายของน้อง
ๆ เด็กเยาวชนเหล่านี้ และไม่รู้ว่าเรารออะไรอยู่
เรารอดูพวกเขาตายต่อหน้าอย่างนั้นหรือ
กระบวนการยุติธรรมที่เป็นคนเกี่ยวข้องมากที่สุด
ที่เป็นคนที่ทำให้น้อง ๆ เหล่านี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ปฏิบัติกับเขาอย่างยุติธรรมขึ้น
..ควรจะออกมารับฟังข้อเรียกร้อง
และตอบรับกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่เขาควรได้รับหรือไม่
อะไรที่ทำได้ควรกล้าหาญพอที่จะออกมาบอกว่าทำได้
อะไรที่ทำไม่ได้ควรรับข้อเรียกร้องไปพิจารณา ..นั่นจึงจะเป็นการกระทำของผู้ใหญ่
ที่รับฟัง ได้ยิน และหาทางอยู่ร่วมกันในสังคมได้
กระบวนการทางการแพทย์และพยาบาล
ควรตอบสนองต่อกรณีศึกษานี้เพียงแค่นี้หรือไม่
ในเมื่อสังคมกำลังเฝ้ารออยู่นอกโรงพยาบาลว่าเยาวชนสองคนนี้ได้รับสิทธิในการเยียวยารักษาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง
ทุกทีมที่เกี่ยวข้องได้รับการเรียกระดมให้เข้ามาร่วมดูแลแล้วหรือยัง
คงไม่ใช่เพียงการวัดสัญญาณชีพและเจาะเลือดทุกหกชั่วโมง คำตอบคงไม่ใช่เพียงหลักการของ
การเคารพการตัดสินใจของคนไข้ (Autonomy) .... โดยไม่ได้ดู
ประโยชน์สูงสุดที่คนไข้ควรได้รับ (Beneficence) และการกระทำนั้นไม่เป็นโทษเป็นอันตรายต่อคนไข้มากกว่าเป็นประโยชน์
(Nonmalificence) ทั้งยังต้องพยายามสื่อสารถึงสังคมอย่างเข้าอกเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
เพื่อทุเลาความเจ็บปวดของสังคมที่เฝ้ารอโดยไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย
ทุกคนในสังคม
ควรมีสติได้แล้วกับเสียงเพรียกจากเด็กเยาวชนเหล่านี้ นี่ไม่ใช่เพียงกิจกรรม
นี่คือชีวิตจริง ๆ เขาประท้วงด้วยชีวิตเขา ชีวิตเด็ก ๆ ของพวกเรา พวกเราต่างหากที่ไม่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับระบบยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม
จนทำให้น้อง ๆ เขาต้องออกมาทำเองด้วยวิธีการของเขา
เราต่างหากที่เพิกเฉยปล่อยให้สังคมมันบิดเบี้ยวผิดรูปไปหนักข้อขึ้นทุกวันในทุกวงการ
และนั่นคือผลกระทบไปที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เราต่างหากที่ละทิ้งเด็กๆเยาวชนของเรา
วันนี้เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงรับผิดชอบต่อสิ่งที่เด็ก ๆ เรียกร้อง
ฟังให้เข้าใจ เพราะมันคือเรื่องของเรา
ตื่นได้แล้วค่ะ
เราไม่รู้สึกรู้สาอะไรกันจริง ๆ หรือ
กับการที่เด็กเยาวชนกำลังนั่งนับถอยหลังกับเวลาชีวิตที่ใกล้จะหมดลงในไม่กี่วันนี้
เพื่อเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิต เรียกร้องระบบสังคมของพวกเราทุกคนให้ดีกว่าเดิม
....
เรากำลังดูพวกเขาตายโดยไม่รู้สึกรู้สา
ไม่ละอายอะไรเลยอย่างนั้นหรือ เพราะนั่นคือสัญญาณลมหายใจสุดท้ายของเราเช่นกัน
สังคมที่กำลังล่มสลาย เพราะไม่ใส่ใจดูแล ไม่ฟังกันให้เข้าใจ เขาตาย เราก็ตายด้วย
ไม่รู้สึกหรือ.
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม