วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566

โฆษกศาลยุติธรรม แจงยิบ! ถอนประกัน "ทานตะวัน - แบม" จำเลยประสงค์และยื่นคำร้องถอนเอง ศาลดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนปกติทั่วไป หลัง ส.ส.ก้าวไกล ตั้งปมสงสัยศาล

 


โฆษกศาลยุติธรรม แจงยิบ! ถอนประกัน "ทานตะวัน - แบม" จำเลยประสงค์และยื่นคำร้องถอนเอง ศาลดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนปกติทั่วไป หลัง ส.ส.ก้าวไกล ตั้งปมสงสัยศาล


เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริง และขั้นตอนการสั่งถอนประกัน น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง และ "น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์" หรือ "แบม" นักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านมาตรา 112 หลังจากวานนี้ (18 ม.ค.66) นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกต ถึงคำสั่งถอนประกันดังกล่าว และกระบวนการเรียกไต่สวนหลายประเด็น ซึ่งกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ในเชิงตั้งคำถามถึงศาลว่า เป็นเครื่องมือบุคคลใดหรือไม่


นายสรวิศ กล่าวว่า การแถลงข่าวลักษณะแสดงความเห็น อาจส่งผลให้บุคคลทั่วไป ที่ได้ฟังแต่มิได้รับทราบ ถึงกระบวนพิจารณา และความเป็นมาคดี มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และสำคัญผิดในข้อเท็จจริงต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิเสรีภาพผู้ถูกดำเนินคดีอาญา ศาลยุติธรรมจึงขอชี้แจง เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ดังนี้


1. กรณี น.ส.ทานตะวัน ในชั้นฝากขัง (ชั้นสอบสวน) ขณะตกเป็นผู้ต้องหา ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวตั้งแต่การฝากขังครั้งแรก วันที่ 7 มี.ค. 65 ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และให้ติดอุปกรณ์ กำไล EM กับกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกิจกรรมหรือการกระทำการใดในอันที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


แต่ภายหลังมีพฤติการณ์เข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวจากการโพสต์หมายกำหนดการเสด็จฯ และไลฟ์สดระหว่างขบวนเสด็จฯ วันที่ 17 มี.ค. 65 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ยื่นคำร้องวันที่ 18 มี.ค. 65 ขอเพิกถอนประกันตัว โดยศาลอาญาพิจารณาไต่สวนพยานลักฐานแล้วมีคำสั่งวันที่ 20 เม.ย. 65 ให้เพิกถอนประกัน


กระทั่งเดือน พ.ค. 65 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่งยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่  โดยวันที่ 26 พ.ค. 65 ศาลนัดฟังคำสั่งประกัน และให้ปล่อยชั่วคราวลักษณะกำหนดเป็นช่วงระยะเวลา กำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่มีคำสั่ง ให้ทำสัญญาประกัน ตีราคาประกันวงเงิน 100,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ กำไล EM พร้อมตั้งนายพิธา เป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติ


ซึ่ง น.ส.ทานตะวัน ได้ยืนยัน ยินดีรับเงื่อนไขทุกอย่างที่ศาลกำหนด และภายหลังจากที่ได้ประกันตัวแล้ว ระหว่างนั้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 – 10 ม.ค. 66 จำเลยและนายประกัน ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อ เนื่องหลังจากที่ศาลเคยสั่งปล่อยชั่วคราว ลักษณะกำหนดช่วงระยะเวลา คำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว รวมทั้งคำขอออกนอกเคหสถาน ซึ่งศาลอาญาพิจารณาอนุญาตตามความเหมาะสม


ทั้งนี้การติดอุปกรณ์ กำไล EM เป็นมาตรการที่ศาลยุติธรรมนำมาใช้ ในคดีอาญาทุกประเภทอยู่แล้ว มิได้ใช้เฉพาะในส่วนการคุมประพฤติ หรือใช้เฉพาะส่วนของกระบวนการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ เหมือนดังที่มีการแถลง การนำกำไล EM มาใช้ มิได้ใช้เฉพาะเจาะจงคดีอาญาลักษณะใดเพียงประเภทเดียวเท่านั้น โดยใช้เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือมิให้ไปกระทำการอันอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น


2. กรณีที่กล่าวถึงการเรียกไต่สวนเพื่อพิจารณาว่า มีการกระทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกันหรือไม่นั้น สืบเนื่องจากครั้งแรก ศาลอาญาได้ไต่สวนการพิจารณาถอนประกัน คดีของ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ (กรณีของเก็ท - ใบปอ ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนประกันตัววันที่ 9 ม.ค. 66) ซึ่งพนักงานสอบสวนให้ข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวโยงถึง น.ส.ทานตะวัน ว่า กระทำการที่ผิดเงื่อนไขของการประกันตัว ศาลอาญาจึงได้เรียก น.ส.ทานตะวัน มาสอบถามข้อเท็จจริงว่า มีการกระทำการตามที่ปรากฏหรือไม่


โดยการเรียกมาสอบถามดังกล่าว เป็นเพราะปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่า มีการกระทำที่อาจฝ่าฝืนเงื่อนไขเกิดขึ้น ซึ่งในการทำสัญญาประกันตัว เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้สัญญาไว้กับศาล หากภายหลังปรากฏว่า มีข้อเท็จจริงที่อาจเข้าข่ายเป็นการผิดเงื่อนไข ศาลในฐานะที่เป็นคู่สัญญาประกัน และมีอำนาจกำกับให้มีการปฏิบัติตามสัญญาประกัน ย่อมมีอำนาจเรียกผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้นมาสอบถามได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องให้พนักงานสอบสวน หรือบุคคลใดร้องขอก่อน ที่สำคัญอีกประการคือ คดีนี้แม้จะมีการเรียกมาสอบถาม แต่ในวันนัด น.ส.ทานตะวัน ขอเลื่อน โดยยังไม่ได้มีการไต่สวนแต่ประการใด โดยมีการกำหนดนัดใหม่ในวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้


3. กรณีที่กล่าวถึงการถอนประกันนั้น ข้อเท็จจริงคือกระบวนการเริ่มจาก น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรววรณ จำเลยคดี 112 ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 66 ขอยกเลิกการปล่อยชั่วคราว ที่ศาลเคยมีคำสั่งให้ประกันตัวไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองคน ประสงค์ขอถอนประกันตัวเอง


โดยวันดังกล่าว น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ราดสีแดงบนตัว พร้อมอ่านแถลงการณ์ บริเวณหน้าป้ายสำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญา ริมถนนรัชดาภิเษกด้วยก่อนที่ น.ส.ทานตะวันและทนายความ จะยื่นคำขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลอาญา


ส่วน น.ส.อรวรรณ และทนายความ แยกไปยื่นคำขอต่อ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่มีคดีถูกฟ้องอยู่ ซึ่งทั้งศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตยกเลิกการปล่อยชั่วคราว ตามคำขอของทั้งสอง ที่แสดงเจตนายืนยันความประสงค์ไว้อย่างชัดเจน และออกหมายขังทั้งสอง กับปลดอุปกรณ์กำไล EM และตรวจคืนหลักประกัน เรียบร้อยตามขั้นตอนกฎหมาย


ข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงไม่ได้เกิดจากการที่ศาลไต่สวน แล้วมีคำสั่งเพิกถอนประกัน แต่เป็นไปตามความประสงค์ของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ที่อาจเห็นว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวได้ โดยเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือนายประกันนำตัวมาส่งตัวต่อศาล และแสดงความประสงค์ชัดเจน ยืนยันที่จะไม่ประกันตัวอีกต่อไป


ศาลได้ดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนปกติทั่วไป มิใช่กรณีเฉพาะพิเศษใด โดยสอบถามยืนยันตัวบุคคล และเจตนาที่ยื่นคำขอแล้ว ยืนยันที่จะขอถอนประกันตนเอง ดังนั้นศาลย่อมต้องมีคำสั่งอนุญาต ให้ถอนการประกันตัวได้ตามเจตนานั้น เพื่อมิให้เกิดเหตุของการผิดสัญญาประกัน ที่จะเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับตามสัญญาประกันอีก


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ทานตะวัน #แบมอรวรรณ #ถอนประกันตัวเอง