วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566

ทนายความยื่นประกันตัว 12 นักกิจกรรมทางการเมือง อีกครั้ง ขณะที่ #ทะลุฟ้า และประชาชนตั้งขบวนเดินเท้าจากเมเจอร์รัชโยธินมาสมทบและให้กำลังใจ ทนาย-ครอบครัว #ตะวันแบม พร้อมอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้อง

 


ทนายความยื่นประกันตัว 12 นักกิจกรรมทางการเมือง อีกครั้ง ขณะที่ #ทะลุฟ้า และประชาชนตั้งขบวนเดินเท้าจากเมเจอร์รัชโยธินมาสมทบและให้กำลังใจ ทนาย-ครอบครัว #ตะวันแบม พร้อมอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้อง

 

วันที่ 29 มกราคม 2566 กลุ่มผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทะลุฟ้า นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และประชาชนผู้รักความยุติธรรม ได้นัดหมายรวมตัวกันในเวลา 09.00 น. ที่ลานหน้าหอศิลป์ ปทุมวัน เพื่อขึ้นรถไฟฟ้า BTS สยาม มาสมทบกับประชาชนบางส่วนที่รออยู่ที่สถานีรถไฟฟ้า เมเจอร์รัชโยธิน

 

โดย “ไผ่” ได้กล่าวว่า  กิจกรรมในวันนี้จัดเพื่อส่งพลังให้กับน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม รวมไปถึงญาติและทนายความว่าพวกเรายังอยู่ข้างตะวันและแบม และอยากให้ศาลทราบว่าไม่ได้มีแค่ญาติตะวันและแบม แต่ยังมีพวกเราที่จับตาเรื่องนี้ด้วย และหวังว่าวันนี้จะมีการเจรจาพูดคุยรับฟังหรือปล่อยนักกิจกรรมทางการเมือง และหลังจากยื่นประกันตัวนักกิจกรรมแล้ว ทางกลุ่มทะลุฟ้าจะอ่านแถลงการณ์และข้อเรียกร้อง จากนั้นจะกลับมารอฟังผลที่หน้าหอศิลป์ในช่วงเย็น และหลังจากทราบผลจะประกาศแนวทางอีกครั้ง”

 

และเมื่อขบวนฯ ได้มาถึงหน้าเมเจอร์รัชโยธินเรียบร้อยแล้ว ขบวนได้เคลื่อนในเวลา 10.10 น. โดยได้ตั้งแถวตอนเรียง 2 โดย “ไผ่” เดินนำหน้า ตามด้วยธง #ทะลุฟ้า และมวลชนที่ถือดอกทานตะวันและรูปภาพของ #ตะวันแบม โดยระหว่างทางได้มีการตะโกนว่า คืนสิทธิประกันตัว, ปล่อยเพื่อนเรา เป็นต้น

 

เวลา 10.52 น. กลุ่มผู้ทำกิจกรรมได้เดินมาถึงหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยทีมทนาย นำโดย นายกิตติศักดิ์ กองทอง ความกล่าวผ่านโทรโข่งว่า วันนี้จะมายื่นประกันตัวนักกิจกรรมทางการเมืองทั้ง 12 คน คือ คทาธร, คงเพชร, พรพจน์, สมบัติ, วัชรพล, จตุพล, พลพล, ณัฐพล, ทัตพงษ์, อุกฤษฏ์, สิทธิโชค และ เอก อีก 9 คนเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และอีก 3 คนเป็นคดีที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก่อนหน้านี้มีการยื่นประกันตัวแล้วหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว แต่วันนี้เราก็จะยื่นประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าข้อเท็จจริงที่จะนำเสนอวันนี้สู่ศาลจะทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยและผู้ต้องหาทุกคน ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งภายในวันนี้

 

ส่วนอีก 4 คน คือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน, น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ และนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท ที่ยังไม่ยื่นประกันตัวเนื่องจากตัวเขาเองแจ้งกับทนายความว่าไม่ประสงค์ให้ใครยื่นประกันตัว เพราะต้องการที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคนไปก่อน และขอเน้นย้ำว่าสิทธิ์ นี้เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายที่ทุกคนควรจะได้รับเพื่อให้สังคมและผู้พิพากษาได้ตระหนักถึงเรื่องนี้

 

จากนั้นเวลา 11.25 น. ทนายความได้เข้าไปยังศาลอาญาเพื่อยื่นขอประกันตัวตามขั้นตอนต่อไป

 

สำหรับแถลงการณ์ของ #ทะลุฟ้า มีความว่า

 

ในวันที่ 29 มกราคม 2566 นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารและน้ำจนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติและต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นการอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน

 

โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาล ไม่น้อยกว่า 16 คน

 

พวกเราประชาชนผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” เห็นว่า สิทธิในการประกันตัวหรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้ โดยบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”

 

อีกทั้ง ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังกำหนดว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยจึงเป็นเพียงข้อยกเว้นและต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวของศาลจึงต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย และปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้

 

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนที่ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” จึงขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

1. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลให้การรับรอง โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา

 

2. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัวการห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน

 

พวกเราประชาชนผู้ทำกิจกรรม “ยื่น หยุด ขัง” ขอเรียนต่อศาลว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้มิได้เป็นการกดดัน การปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือกระทำการอันเป็นแทรกแซงการพิจารณาคดีที่ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรมของศาล แต่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและตึงเครียด ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันตุลาการจะเป็นเสาหลัก นำพาความยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง

 

เราเชื่อว่า หากสถาบันตุลาการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน สถาบันตุลาการย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข

 

ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย

 

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #ตะวันแบม #ทะลุฟ้า