'พิธา' ร่วมเทศกาลดนตรีนานาชาติ Maho Rasop 2023 เซิ้งเร้กเก้ ชม Ga Pi โชว์วิสัยทัศน์ ประเทศไทยกับการจัดอีเว้นท์ระดับโลก
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเทศกาลดนตรีนานาชาติ Maho Rasob Festival 2023 ณ ESC Park รังสิต ปทุมธานี เพื่อรับชมดนตรีจากวงอินดี้ โดยภายในงานมีศิลปินชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมสร้างสรรค์ผลงาน
โดยพิธา กล่าวให้ความเห็นก่อนเริ่มเข้าชมเทศกาลดนตรีว่า เดินทางมาเพื่อชมวง Ga Pi โดยมี แก็ป T-bone เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานสไตล์เร้กเก้ประยุกต์ และมีการใช้พิณของอีสาน ร่วมแสดงด้วย โดยระหว่างเดินชมเทศกาลดนตรี พิธา ร่วมโชว์วิสัยทัศน์และกล่าวถึงการปัญหาในการจัดเทศกาลดนตรีในประเทศไทย พร้อมเสนอให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
พิธา กล่าวด้วยว่า เทศกาลดนตรีนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งในศักยภาพของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีหมวดของการจัดงานอีเว้นท์ และการจัดการแสดงอีเว้นท์นานาชาติ จะเป็นจุดเริ่มต้นของยกระดับศิลปินไทย สร้างพื้นที่ในการแสดงออก เริ่มส่งเสริมการโชว์เคส (show case) สนับสนุนศิลปินไทยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้พิธา ยังได้เน้นย้ำถึงการยกระดับศิลปินไทย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการจัดอีเว้นท์ ว่าจำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการรองรับ และจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสมในการสนับสนุนทั้งศิลปินและอุตสาหกรรมให้เติบโตและขับเคลื่อนประเทศต่อไป นอกจากนี้ พิธา ยังต้องการเห็นการเพิ่มสวัสดิการให้กับศิลปิน เพื่อสนับสนุนอาชีพและความฝันให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมยกตัวอย่างเมืองในสหรัฐอเมริกา ที่พร้อมเป็นเบาะรองรับความฝันของศิลปินตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วยการสนับสนุนสวัสดิการที่อยู่อาศัย ฯลฯ
โดยพิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการสนับสนุนทั้งงบประมาณ สวัสดิการแล้ว ยังมีกฎหมายที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม หากรัฐต้องการเห็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในหมวดการจัดอีเวนท์ขยับต่อไปได้ และฝันถึงการสร้างโคเชล่า (Coachella) ของไทย พิธาย้ำว่าต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน อีกทั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เพื่อให้อนุญาตผู้จัดกิจกรรม ในส่วนนี้ก็เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ และเกิดต้นทุนที่ไม่สามารถระบุในบัญชีของผู้จัดงานได้ เพื่อปลดล็อกอุตสาหกรรมการจัดอีเว้นท์ในประเทศไทย ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว
ขณะที่ผู้จัดเทศกาลดนตรีนานา Maho Rasob Festival 2023 ให้ความเห็นว่า ตนจัดเทศกาลดนตรีมาตั้งแต่ปี 2018 จนถึงปัจจุบัน ผ่านวิกฤตครั้งสำคัญอย่างการระบาดของโควิด-19 และหลังการระบาด ช่วงเศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟู ตนต้องย้ายสถานที่จัดกิจกรรมออกมานอกเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายและโซนนิ่งของเมือง จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ออกแบบและปรับปรุงทั้งพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และเรื่องของการจัดโซนนิ่ง การจัดแสดงในเขตเมือง นอกจากนี้ ในฐานะที่ตนเป็นผู้ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะหมวดของการจัดอีเว้นท์ ตนมองว่า ภาครัฐมีความพยายามในการผลักดัน แต่งบประมาณและแนวทางในการจัดการยังไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น หากพิจารณาจากหมวดดนตรี มีงบประมาณเพียง 144 ล้าน ซึ่งไม่เพียงต่อการขยับในอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนี้ผู้จัดงาน Maho Rasop Festival 2023 ยังย้ำว่า ไม่เพียงแต่เรื่องของงบประมาณ ยังมีเรื่องของข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของระบบราชการ ก็ส่งผลกระทบต่อการจัดงานด้วยเช่นกัน พร้อมยกตัวอย่าง เอกสารและขั้นตอนในการนำศิลปินจากต่างประเทศมาแสดง ต้องอาศัยการเซ็นลายเซ็นลายมือ และมีขั้นตอนซ้ำซ้อนกว่าจะได้รับใบอนุญาตและขอวีซ่า ซึ่งตนมองว่า หากรัฐบาลเล็งเห็นถึงศักยภาพและต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรสนับสนุนวีซ่าและปลดล็อกขั้นตอนในระบบราชการเพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน
#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #พิธาลิ้มเจริญรัตน์
#Mahorasop2023 #mhrs2023 #mahorasop