วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

คปช.53 -นักต่อสู้รุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ ร่วมรำลึก 17 ปี "นวมทอง ไพรวัลย์" ธิดา ยกให้เป็นครูของนักต่อสู้ ด้านไผ่-มายด์-ตะวัน ชี้อุดมการณ์ลุง เป็นภารกิจให้คนรุ่นใหม่สานต่อ จนกว่าประเทศนี้จะประชาธิปไตย และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

 


คปช.53 -นักต่อสู้รุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ ร่วมรำลึก 17 ปี "นวมทอง ไพรวัลย์" ธิดา ยกให้เป็นครูของนักต่อสู้ ด้านไผ่-มายด์-ตะวัน ชี้อุดมการณ์ลุง เป็นภารกิจให้คนรุ่นใหม่สานต่อ จนกว่าประเทศนี้จะประชาธิปไตย และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน


วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่บริเวณสะพานลอยหน้าสำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดีรังสิต ที่ตั้งของสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง ไพรวัลย์ บรรยากาศเนื่องแน่นไปด้วยนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายรุ่นวัย นักการเมือง ศิลปินเพื่อราษฎร


โดยประกอบด้วยคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) นำโดยอ.ธิดา ถาวรเศรษฐ เลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช.) นพ.เหวง โตจิราการ พร้อมด้วยนางบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุงนวมทอง, ญาติวีรชนเมษา - พฤษภา53, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ อดีตสว.กทม., นายวรชัย เหมะ อดีตสส.เพื่อไทย, น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือทนายแจม และนายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โตโต้ สส.กทม. พรรคก้าวไกล, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เครือข่ายราษฎรยกเลิก 112, นายจตุภัทร บุญภัทรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และสมาชิกทะลุฟ้า, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลผล หรือ มายด์, น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน, กลุ่มทะลุแก๊ส, เจษฎา ศรีปลั่ง เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน, อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินราษฎร เป็นต้น


ทั้งนี้ภายในงานได้แขวนป้ายไวนิลขนาดใหญ่ บอกเล่าเรื่องราวของลุงนวมทอง ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2549 ได้ขับรถแท็กซี่ โตโยต้า โคโรลลา สีม่วง พุ่งชนรถถังของ ม.พัน 4 รอ. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐประหาร จนได้รับบาดเจ็บสาหัส


พร้อมทั้งจัดแสดง จดหมายลาตายที่มีข้อความว่า “ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก” โดยระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจรักษาการนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” 


กระทั่ง 31 ตุลาคม 2549 เลือกจบชีวิตของตัวเองกับราวสะพานลอย โดยสวมใส่เสื้อสีดำสกรีนบทกวีของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ว่า ‘อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน’


ผ่านมา 17 ปี ชื่อของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ ยังคงขับขานอยู่ในหัวใจของประชาชนที่ต้านรัฐประหารรุ่นสืบรุ่น ทำให้วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นวันที่ผู้รักประชาธิปไตยมารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมรำลึก


โดยเวลา 12.00 น. มวลชนทั้งคนรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ต่างทยอยมารับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้น 13.00 น. เริ่มพิธีสงฆ์ถวายสังฆทาน อุทิศส่วนกุศล


ต่อมา 13.30 น. พิธีวางพวงหรีด ช่อดอกไม้แสดงความคารวะ ประกอบด้วยพวงหรีดครอบครัวลุงนวมทอง ไพรวัลย์, ญาติวีรชนเมษา-พฤษภา 53, มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย, คณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53), วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ทะลุแก๊ส, ด้วยจิตคารวะวีรบุรุษนวมทอง โดยทะลุฟ้า, คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ คปอ. รวมถึงช่อดอกไม้แสดงความคารวะ ปิยรัฐ จงเทพ สส.พรรคก้าวไกล และช่อดอกไม้ ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.พรรคก้าวไกล


จากนั้น 14.00 น. อ.ธิดาเริ่มกล่าวรำลึกสดุดี เป็นคนแรก ระบุว่าขอยกให้ นวมทอง ไพรวัลย์ เป็นครูของนักต่อสู้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ลุงนวมทองเป็นเพียงสามัญชนธรรมดา ไม่ได้มาจากการจัดตั้งของพรรคการเมือง หรือคนกลุ่มคนใด แต่กลับมีความรู้ และหลักการทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ มากกว่าพวกปัญญาชนคนหัวก้าวหน้า หรือแม้แต่พวกคนเดือนตุลาในขณะนั้นที่ต่างหลงทาง ไม่รู้ความขัดแย้งหลักของประเทศคืออะไร เกลียดทุนนิยมถึงกับยินยอมให้มีการรัฐประหารได้ แต่ลุงนวมทองกลับรู้มากกว่า ว่า ความขัดแย้งในประเทศขณะนั้นอยู่ที่ผู้ปกครองที่คอยแต่จะปล้นอำนาจประชาชน 


สิ่งที่ ลุงนวมทอง ฝากไว้กับคนรุ่นหลังคือสังคมไทยไม่ควรอยู่กับการรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนอีก ทั้งยังสอนให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ในการต่อสู้ต้องไม่สู้แบบปัจเจก แต่ต้องสามัคคีกัน และจัดตั้งเพื่อสร้างพลังอันยิ่งใหญ่


ด้านนายปิยรัฐ กล่าวว่า แม้ในอดีตจะยังไม่มีคนตื่นรู้พอที่จะออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ ทำให้ ลุงนวมทอง ต้องออกมาเป็นวีรชนให้พวกเรามารำลึกกันทุกปี แต่หลังจากนี้จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้อีก หากวันใดวันหนึ่งมีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญอีก เชื่อว่าประชาชนที่ตื่นรู้ในสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยจะออกมาปกป้อง และจากนี้หวังว่าการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันของพรรคก้าวไกล หรือพรรคใด ขอให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีการเปิดช่องว่างให้มีการรัฐประหารอีก ที่สำคัญที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล คือให้นำผู้อยู่เบื้องหลังและผู้สั่งการ รวมทั้งคณะรัฐประหารมาลงโทษ เพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด


ขณะที่นพ.เหวง ระบุว่าเจตนารมณ์ ‘ลุงนวมทอง’ ยังไม่เป็นจริง พร้อมประกาศทวงสัญญารัฐบาลเศรษฐา เพราะก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ บอกว่าทันทีที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก จะมีมติให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตอนนี้กลายเป็นว่าคำมั่นสัญญาดังกล่าว ลอยหายไป อีกทั้งย้ำเตือนเพื่อไทยที่เคยรับ 8 ข้อเรียกร้องของคปช.53 เมื่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค


ด้านมายด์ ภัสราวลี กล่าวว่า ลุงนวมทอง เห็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เห็นสิ่งผิดปกติของสังคมนี้แล้วทนไม่ได้ ลุงนวมทองจึงเป็นครูที่เราได้ศึกษา และมิอาจก้าวล่วงวิธีคิดในการตัดสินใจของลุงคืนวันที่ 31 ต.ค. 49 ได้


ลุงนวมทองได้เสริมกำลังใจว่าจริง ๆ แล้ว คนที่ทำเพื่ออุดมการณ์และความถูกต้องมีอยู่จริง ๆ ถ้าเราไม่ออกมายืนหยัด เราจะได้สังคมที่ดีกว่าได้อย่างไร


ต่อมา ไผ่ จตุภัทร์ กล่าวว่า แม้จะผ่านมา 17 ปี เผด็จการยังอยู่ อยู่ตามรัฐธรรมนูญ รัฐสภาสภา องค์กรอิสระต่างๆ แต่ความคิดการต่อสู้ของลุงนวมทองก็ยังอยู่ในกระแสประชาธิปไตย


17 ปีแล้ว ลุงนวมทองไม่ได้หายไปไหน แต่ปักหลักความคิดประชาธิปไตย ทำให้เกิดนักต่อสู้อีกหลายคน หลายรุ่น


มาถึงวันนี้ก็ยังเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาชน กับเผด็จการ วันนี้การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป และมีคนร่วมต่อสู้กันมากขึ้น มีคนบอกว่าเมื่อเทียบกับ 17 ปีทีแล้วสังคมเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ สนใจเรื่องสังคมคนออกมาต่อสู้มากขึ้น


วันนี้เราได้มาอยู่กันที่นี่ เรายังเห็นที่จัดงานที่นี่ยังเป็นแบบนี้ ผมเคยไปต่างประเทศ เขาจะให้ความสำคัญกับคุณค่าการต่อสู้ของประชาชน จะสร้างอนุสาวรีย์ต่าง ๆ ขณะเดียวกันเรามางานรำลึกนี้ เราลองดูสิว่า สถานที่นี้ยังเป็นแบบทุกวันนี้ รัฐควรให้ความสำคัญ และเพื่อเคารพการต่อสู้ของคนธรรมดา ซึ่งหวังว่าหวังว่าวันหนึ่งการที่เรามาจัดรำลึกลุงนวมทอง จะถูกให้สมคุณค่าและสร้างที่เรียนรู้ จัดรำลึกให้สมเกียรติ กับสิ่งที่ลุงนวมทองฝากไว้ให้กับเราทุกคน


รัฐธรรมนูญเป็นหมุดหมาย ที่แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออกไปแล้ว แต่อำนาจยังอยู่ ขั้นต่อไป คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สิ่งที่คนธรรมดาได้ต่อสู้ถูกบันทึกไว้ สร้างคุณูประการให้คนรุ่นหลัง เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้ชีวิตต่อไป ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานรำลึกทุกปี จตุภัทร์ ทิ้งท้าย 


จากนั้นสลับเป็นดนตรีโดย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือจิ้น กรรมาชน 3 บทเพลง ประกอบด้วย เพลงวันของเรา, เพลงปณิธาน และเพลงนักสู้ธุลีดิน โดยอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินเพื่อราษฎรร่วมเล่นกีตาร์ประกอบ


ต่อมา ตะวัน ขึ้นกล่าวว่า ‘ลุงนวมทอง’ เป็นคนที่ตนก็เคารพมาก เพราะยอมพลีชีพตัวเองเพื่ออุดมการณ์ เราเดินทางกันมาค่อนข้างไกล บนถนนเส้นที่เราเดินมาอาจจะมีผู้คนมากมายที่ตกหล่นระหว่างทางบ้าง ขายอุดมการณ์กันไปบ้าง แต่ปริมาณไม่ได้สำคัญเท่าคุณภาพ


ณ วันนี้ยังมีคนที่มีอุดมการณ์จริง ๆ พร้อมสู้จริง ๆ ไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรใดทั้งสิ้น ยังอยู่ตรงนี้และคิดเสมอ ว่ายังไงเราก็ไม่แพ้หนูเชื่อในพลังของคนตัวเล็กมาเสมอแล้วหนูก็พูดอย่างนี้มาตลอดหนูเชื่อว่าคนตัวเล็กสามารถทำอะไรได้มากมายเลย ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจอะไรมันไม่จำเป็นต้องมี ยศถาบรรดาศักดิ์อะไรใดทั้งสิ้นด้วยซ้ำคุณสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมนี้


นอกจากนั้นยังมี ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, วรชัย เหมะ, ปูน ทะลุฟ้า และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นกล่าวสดุดีรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์ ก่อนที่ทั้งหมดจะถ่ายรูปร่วมกัน โดยมีฉากหลังเป็นไวนิลนิทรรศการ บอกเล่าเรื่องราวของนวมทอง ไพรวัลย์ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ทำอัตวินิบาตกรรม เมื่อ 31 ตุลาคม 2549 เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2549 


#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #17ปีนวมทองไพรวัลย์ #คปช53